xs
xsm
sm
md
lg

Solar Rooftop : มายาคติ ความจริง และแนวทางการส่งเสริม (ตอนที่ 2) / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
ในตอนที่หนึ่ง ผมได้คลี่เรื่องมายาคติ 3 ประการ พร้อมกับเสนอข้อเท็จจริง มายาคติดังกล่าวคือ

(1) พลังงานหมุนเวียนมีไม่มากพอต่อความต้องการ เป็นได้แค่อาหารเสริม ไม่สามารถเป็นอาหารหลักได้

(2) พลังงานจากโซลาร์เซลล์ มีต้นทุนสูง คนไทยยังไม่พร้อมจะจ่ายค่าไฟฟ้าแพงๆ

(3) แสงอาทิตย์ไม่มีความมั่นคง คาดหมายไม่ได้ เวลากลางคืนไม่มีดวงอาทิตย์จะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้

ซึ่งพบว่า มายาคติทั้ง 3 ไม่เป็นความจริง ในตอนที่ 2 นี้ ผมจะนำเสนอแนวทางที่รัฐควรจะส่งเสริม เรามาต่อกันเลยนะครับ

ส่วนที่ 2 แนวทางการส่งเสริม

หลักการในการจัดการพลังงาน

จากคำปราศรัยของ Dr.Hermann Scheer1 ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้ประเทศเยอรมนีประสบผลสำเร็จในด้านพลังงานหมุนเวียน ทำให้เราทราบว่า หลักการพิจารณาจึงต้องคำนึงหลักคุณค่าของมนุษย์ที่สำคัญ 2 ประการ (The two main values of the people) คือ หนึ่ง หลักเสรีภาพส่วนบุคคลโดยการได้ใช้พลังงานที่มีความเป็นอิสระสำหรับทุกคนไม่ใช่เพียงบางคน สอง หลักความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งหมายความว่า การเข้าถึงแหล่งพลังงานโดยปราศจากการทำให้คุณภาพชีวิตของผู้อื่นลดต่ำลง การจะบรรลุหลักการดังกล่าวได้ก็โดยการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable2 Energy)

เหตุผลที่เยอรมนีประสบความสำเร็จในเรื่องนี้มี 4 ประการ คือ

1. ความคิดที่ถูกต้อง

กฎหมาย feed-in-tariff ของเยอรมนีได้ให้พื้นที่แก่ผู้ผลิตพลังงานอิสระ ปกป้องพวกเขาจากผู้ผลิตพลังงานแบบเดิม โดยการสร้างกฎเกณฑ์ของตลาดพิเศษขึ้นสำหรับพลังงานหมุนเวียนแยกออกกฎเกณฑ์ของตลาดพลังงานแบบเดิม โดยวางอยู่บนการให้หลักประกันในการเข้าถึงระบบจ่ายไฟฟ้า และหลักประกันในด้านราคารับซื้อพิเศษ มันได้ให้ความมั่นคงในการลงทุนแก่พลังงานหมุนเวียน

2.ความกล้าหาญที่จะยกเลิกผลประโยชน์ของพลังงานแบบเดิม

ผลประโยชน์ของพลังงานแบบเดิมมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง และมีการผนวกรวมอย่างแนบแน่นกับรัฐบาล การริเริ่มในประเทศเยอรมนีเกิดขึ้นในรัฐสภาบนฐานของหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และความชอบธรรมของการกระทำเพื่อประโยชน์ของคนทั้งหมด ไม่ใช่เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ

3.การขับเคลื่อนของประชาชนทั่วไป

ประชาชนทั่วไปเป็นพันธมิตรที่ดีที่สุดสำหรับพลังงานหมุนเวียนทันทีที่ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักว่า พลังงานหมุนเวียนได้ผล ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ และประโยชน์ของพลังงานหมุนเวียน และเพื่อท้าทายเจตจำนงของประชาชนที่จะรับผิดชอบต่ออนาคตร่วมกันของพวกเรา โดยการเสนอแรงจูงใจในทางเศรษฐกิจเพื่อเอาชนะอุปสรรคในทางสังคม

เราจำเป็นต้องส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน โดยทำให้สาธารณชนมีความมั่นใจในพลังงานหมุนเวียน โดยการโยงถึงคุณค่าสำคัญสองประการของประชาชนคือ

4.การสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจ และสังคมใหม่

มีการรณรงค์ที่แข็งขันสองอย่างเพื่อต่อต้านกฎหมาย feed-in-tariff เกิดขึ้นในเยอรมนี เราตอบโต้การรณรงค์เหล่านี้ด้วยการกระทำสองประการต่อหน้ารัฐสภา กล่าวคือ ไม่ใช่เพียงแค่นำสมาคมพลังงานหมุนเวียน และผู้สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนในรัฐสภามากับเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มผลประโยชน์ซึ่งมองเห็นอนาคตของตนเองที่จะรวมเข้ากับพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ สมาคมชาวนา สมาคมนักธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก สมาคมของผู้ผลิตเครื่องจักร และสภาพแรงงานเครื่องจักรอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งไม่เคยมีพันธมิตรของกลุ่มที่แตกต่างกันเช่นนี้

สาระสำคัญของ “กฎหมายว่าด้วยการให้สิทธิต่อแหล่งพลังงานหมุนเวียนก่อน” (Act on granting priority to renewable energy sources) 

สาระสำคัญกฎหมายดังกล่าวได้ถูกนำมาปรับใช้กว่า 50 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยมีชื่อเรียกกันย่อๆ ว่า “Feed-in-Tariff” หรือ “Feed-in-Law” และด้วยการเรียกอย่างย่อๆ นี้แหละจึงได้ทำให้ถูกนำไปปรับใช้อย่างเพี้ยนๆ

วิธีการในกฎหมายนี้สาระสำคัญง่ายๆ 3 ข้อเท่านั้น หากขาดข้อใดข้อหนึ่ง หรือเพี้ยนไปจากนี้แม้เพียงเล็กน้อยก็จะไม่บรรลุตามความมุ่งหมายของแนวคิด

ข้อที่ 1 ใครก็ตามที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ ให้สามารถป้อน (Feed In) กระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งได้ก่อน และไม่จำกัดจำนวน

ข้อที่ 2 เป็นสัญญาระยะยาวประมาณ 20-25 ปี

ข้อที่ 3 ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น (บ้าง) ให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ

ส่วนที่ 3 ตัวอย่างที่ดีอื่นๆ

3.1 จากออสเตรเลีย

จากข้อมูลของประเทศออสเตรเลีย พบว่า องค์ประกอบของราคาค่าไฟฟ้าที่สูงที่สุดคือ ค่าระบบสายส่งเท่ากับ 41% ในขณะที่ค่าอุดหนุนให้ระบบโซลาร์เซลล์จากรัฐบาลมีแค่ 6% และอีก 2% เป็นค่าอุดหนุนจากรัฐบาลให้แก่พลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นภาระของผู้เสียภาษีของชาวออสเตรเลียทั้งประเทศ
 

 
ในออสเตรเลียมีการส่งเสริมโซลาร์เซลล์ในโรงเรียน จำนวน 1,500 โรง ซึ่งตลอดโครงการสามารถผลิตไฟฟ้าได้แล้ว 28 ล้านหน่วย โดยวันที่ 2 ธันวาคม 2557 เมื่อเวลา 12.30 น. (เวลาในออสเตรเลีย) สามารถผลิตไฟฟ้าได้รวมกัน 7,106 หน่วย ดูรายละเอียดจาก www.solarschool.net

ระบบคุณค่าของโซลาร์ (Value of Solar) ในสหรัฐอเมริกา

จากสถิติพบว่าปัจจุบันทุกๆ 4 นาที จะมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นหนึ่งหลัง โดยแนวโน้มจะเร็วขึ้นกว่านี้อีก คืออีก 2 ปี จะเพิ่มขึ้นทุกๆ 80 วินาที

ระบบที่ส่งเสริมเรียกว่าระบบ net metering โดยไม่มีการชดเชย เขาเพิ่งมีระบบใหม่ที่เข้ามาแทนที่ระบบเดิมเมื่อต้นปีนี้ คือ “ระบบคุณค่าของโซลาร์ (Value of Solar)” และเพิ่งใช้เป็นครั้งแรกเมื่อต้นปีนี้ในรัฐมินเนโซตา (Minnesota) ซึ่งอยู่ทางส่วนกลางตอนเหนือสุดของสหรัฐอเมริกา และมีความเข้มของแสงแดดน้อยกว่าประเทศไทยเล็กน้อย

แนวคิดของระบบคุณค่าขึ้นอยู่กับ 4 หลักการสำคัญคือ

(1) เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เชื้อเพลิงสกปรก

(2) เพื่อหลีกเลี่ยงความจำเป็นที่จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ โดยเฉพาะในช่วงพีก หรือช่วงความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (ซึ่งประเทศไทยเกิดขึ้นตอนบ่ายสองโมง)

(3) ทำให้ราคาไฟฟ้าคงที่นับ 25 ปี และ

(4) ลดการสูญเสียไฟฟ้าในสายส่ง (เพราะผลิตที่ไหนก็ใช้ในบริเวณนั้น) รวมถึงในกระบวนการผลิตในโรงไฟฟ้าซึ่งรวมกันประมาณ 25% ของไฟฟ้าที่ได้ใช้จริง

ซึ่งต้นทุนทั้ง 4 ประการเหล่านี้รวมกันประมาณ 14.5 เซ็นต์

ในการคิดค่าไฟฟ้าในระบบ net metering เขาจะหักลบกันระหว่างจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้กับจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ในบ้าน แล้วคิดราคากันตามอัตราคือ 0.115 ดอลลาร์ต่อหน่วย แต่ในระบบ Value of Solar เขาจะคิดราคาอัตราไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านผลิตได้ในราคาที่สูงกว่า เช่น 0.145 ดอลาร์ต่อหน่วย แล้วไปคิดมูลค่าของแต่ละส่วนแล้วนำมาหักลบกัน ดังตัวอย่างในรูป (10 เซ็นต์เท่ากับ 3.20 บาท)
 

 
ตัวอย่างการคิดค่าไฟฟ้าจากบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งติดแผงโซลาร์ขนาด 5 กิโลวัตต์ โดยใช้ไฟฟ้า 2,000 หน่วย ถ้าเป็นระบบ net metering จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้า $168 แต่ถ้าใช้ระบบ Value of Solar จะต้องจ่าย $151 ดังภาพ 
 

 
ตัวอย่างจากโรงเรียนศรีแสงธรรม

จากข้อมูลที่ได้จากโรงเรียนศรีแสงธรรม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งติดตั้งขนาด 6 กิโลวัตต์ โดยใช้แผงโซลาร์เซลล์มือสอง (แผงขนาด 285 วัตต์ ราคา 4,500 บาท) โดยไม่คิดค่าแรงติดตั้ง มีการลงทุนทั้งหมดประมาณ 1.8 แสนบาท ในเดือนพฤศจิกายน สามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยวันละ 29-30 หน่วย ถ้าคิดวันละ 29 หน่วยตลอดทั้งปี จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 10,580 หน่วย หากสามารถขายไฟฟ้าได้หน่วยละ

4.50 บาท จะได้ผลตอบแทนปีละ 47,610 บาท จะได้ทุนคืนภายใน 4 ปี

5.50 บาท จะได้ผลตอบแทนปีละ 58,190 บาท จะได้ทุนคืนภายใน 3 ปี

แต่ทางการไฟฟ้าไม่รับซื้อ
 

 
ตัวอย่างโรงเรียนในสหรัฐอเมริกา

โรงเรียนมัธยมในสหรัฐอเมริกา จำนวนกว่า 3,700 โรง สามารถนำค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้มาเป็นเงินเดือนครู เดือนละกว่าหนึ่งแสนบาทได้ถึง 2,200 คนตลอดทั้งปี และตลอดไป
 

 
และนี่คือข้อมูลการผลิต และราคาค่าไฟฟ้าในแต่ละรัฐในสหรัฐอเมริกาครับ
 

 
แสงแดดช่วยลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ
 
ถ้าประเทศไทยสามารถผลิตไฟฟ้าจากหลังคาให้ได้เท่ากับประเทศเยอรมนี (ซึ่งมีพลังงานแสงแดดต่อตารางเมตรประมาณ 60% ของประเทศไทย) ก็สามารถลดการใช้ก๊าซธรรมชาติได้ประมาณปีละ 3 แสนล้านลูกบาศก์ฟุต หรือประมาณ 1 ใน 3 ของการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย (ปี 2554 ประเทศไทยขายก๊าซธรรมชาติได้ 9.2 แสนล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็นมูลค่า 1.71 แสนล้านบาท ที่มา : รายงานประจำปี กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ 2554 หน้า 97)

สรุป

โลกมีพลังงานมากมาย แต่ใครทำให้เราหลงทาง มัวแต่หาแหล่งพลังงานจากใต้ดินที่เกิดขึ้นเมื่อ 200 ล้านปีมาแล้ว ซึ่งมีมลพิษ และปัญหามากมาย แต่พลังงานแสงอาทิตย์ที่ไม่มีวันหมด ที่สดทุกวันมีการกระจายตัวอย่างเป็นประชาธิปไตย ไม่มีมลพิษ กลับถูกมองข้าม
 

 
ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลับกีดกันประชาชนไม่ให้ได้ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ โดยการสร้างนโยบายมาเป็นคอก
 


 
สุดท้าย ผมขอสรุปในบทความทั้งสองตอนนี้ว่า อย่าว่าแต่คนธรรมดาทั่วไปเลยที่ติดอยู่กับมายาคติ แม้แต่ศาสตราจารย์พอล ครุกแมน ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ยังได้ออกมายอมรับเมื่อต้นปี 2557 ว่า “ผมเองก็คิดผิดมาแล้ว” ดังแผ่นภาพครับ
 

 
-------------------------------------------------------------------------
 
1อดีต President of EUROSOLAR และอดีตสมาชิกรัฐสภา, General Chairman of the World Council for Renewable Energy (WCRE) at the Panel “Rethinking the Energy Paradigm” of the WTO Symposium of the United Nations Foundation, April 21st, 2005, Geneva, Switzerland

2คำว่า Renewable หมายถึง “Replace itself after it has been used.” และศาลแห่งรับแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ได้ตัดสินว่า การเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าไม่สามารถได้รับการอุดหนุนจากกองทุนพลังงานหมุนเวียนได้ เพราะ “Trash is not renewable”
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น