xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: “โอบามา” เยือนถิ่นภารตะผูกสัมพันธ์ “โมดี” หวัง “อินเดีย” ช่วยคานอิทธิพล “จีน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับเป็นเหตุการณ์ที่สื่อทั่วโลกเฝ้าจับตารอสำหรับภารกิจเยือนอินเดียครั้งที่ 2 ของประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ซึ่งได้สร้างปรากฏการณ์ฮือฮาในแวดวงการทูตหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่การที่นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดียแหวกธรรมเนียมไปรอรับผู้นำสหรัฐฯ ถึงลานจอดเครื่องบิน รวมถึงภาพการสวมกอดกันแบบ “หมี” (bear hug) ที่สะท้อนถึงมิตรภาพสุดแนบแน่น และ “เคมีที่เข้ากัน” ระหว่างสองผู้นำชาติประชาธิปไตยขนาดใหญ่ของโลก

ใครเลยจะคิดว่า นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ผู้นี้เคยติดโผ “บุคคลไม่พึงประสงค์” ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ห้ามเข้าประเทศ เมื่อไม่ถึง 1 ปีก่อน

หลังจากที่พรรคภารติยะชนตะของ โมดี ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในอินเดียเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2014 และผลักให้ขั้วอำนาจเก่าอย่างพรรคองเกรสอินเดียร่วงลงไปเป็นฝ่ายค้าน สหรัฐฯ ก็ไม่รอช้าที่จะลืมประวัติเสื่อมเสียด้านสิทธิมนุษยชนของ โมดี เมื่อครั้งยังเป็นมุขมนตรีรัฐคุชราต และเดินหน้าผูกมิตรกับผู้นำแดนภารตะคนใหม่ทันที

โอบามา เป็นประธานาธิบดีในตำแหน่งคนแรกของสหรัฐฯ ที่ได้รับเชิญเป็นแขกพิเศษในพิธีสวนสนามฉลองวันสถาปนาสาธารณรัฐอินเดีย เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นเกียรติสูงสุดที่รัฐบาลอินเดียมอบให้แก่ผู้นำต่างชาติ ในขณะที่นักวิเคราะห์ชี้ว่า การที่ โอบามา ตอบรับคำเชิญของ โมดี แสดงให้เห็นว่า แดนภารตะกำลังจะก้าวขึ้นมามีบทบาทในเวทีโลกอย่างน่าจับตามอง และยังเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า โมดี พร้อมที่จะฉีกกรอบปฏิบัติเดิมๆ ของอินเดีย ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยยอมผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมหาอำนาจรายใดเป็นพิเศษ

ทั้ง 2 ฝ่ายต่างคาดหวังว่า การพบกันครั้งนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนไปสู่ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง และทำให้อินเดียได้ก้าวขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างแท้จริง

แม้ผู้นำทั้งสองจะพูดคุยกันอย่างสนิทชิดเชื้อ และทำกิจกรรมร่วมกันหลายอย่าง เช่น การบันทึกเทปรายการวิทยุและขึ้นเวทีเสวนา แต่ถึงกระนั้น โอบามา และ โมดี ก็ยอมรับต่อบรรดาผู้นำธุรกิจในอินเดียว่า การค้าและการลงทุนระหว่างสหรัฐฯ และอินเดียยังเป็นเรื่องที่เปราะบาง

สินค้าจากอินเดียคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% ของมูลค่าสินค้าจากต่างประเทศที่นำเข้าสหรัฐฯ ขณะที่วอชิงตันก็ส่งออกสินค้าไปยังอินเดียได้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ และแม้ว่ามูลค่าการค้าระหว่างกันจะสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี แต่นั่นก็ยังไม่ถึง 1 ใน 5 ของการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนด้วยซ้ำ

โมดี ระบุว่า มูลค่าการลงทุนของสหรัฐฯในอินเดียเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา และรับปากว่าเดลีจะลดทอนมาตรการกีดกันต่างๆ เพื่อปฏิรูปอินเดียให้เป็นหนึ่งในประเทศที่เอื้อต่อการลงทุนมากที่สุดในโลก

ฝ่ายผู้นำสหรัฐฯ ก็รับปากจะให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งสหรัฐฯ จัดสรรงบประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สนับสนุนการส่งออกสินค้า “เมด อิน อเมริกา” และให้บรรษัทการลงทุนภาคเอกชนในต่างประเทศ (Overseas Private Investment Corporation - OPIC) ปล่อยเงินกู้จำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์แก่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในพื้นที่ชนบทของอินเดีย

ในด้านพลังงาน สำนักงานเพื่อการพัฒนาและการค้าแห่งสหรัฐฯ (U.S. Trade and Development Agency) จะจัดสรรงบประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อส่งเสริมอินเดียให้ปรับตัวสู่การพึ่งพาพลังงานหมุนเวียน (renewable energy)

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดในภารกิจของ โอบามา ครั้งนี้เห็นจะเป็นการบรรลุข้อตกลง ซึ่งจะเปิดทางให้นิวเดลีสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อพลเรือนได้ หลังจากที่ 2 ประเทศเคยทำความตกลงทวิภาคีเบื้องต้นกันมาแล้วเมื่อปี 2006 แต่ต้องเผชิญอุปสรรคต่างๆ นานา จนบริษัทอเมริกันยังไม่สามารถสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในแดนภารตะได้เสียที

การเยือนอินเดียครั้งที่ 2 ของ โอบามา ยังช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตัน กับ เดลี ให้กลับมาอบอุ่นเกินคาด หลังจากช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ และ อินเดีย บาดหมางกันอย่างรุนแรงทั้งในเรื่องนโยบายกีดกันการค้า และกรณีนักการทูตหญิง เทพยานี โคบรากาด ที่ถูกตำรวจนิวยอร์กจับกุมและเปลื้องผ้าค้นตัว จนเกิดเป็นกระแสต่อต้านอเมริกาในอินเดียอยู่พักใหญ่

นอกจากจะเป็นตลาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูง สหรัฐฯ ยังมองว่าอินเดียเป็นหุ้นส่วนสำคัญที่จะช่วยคานอำนาจของจีนในเอเชีย-แปซิฟิกได้ และอาจก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในตะวันออกกลาง

“ผู้นำทั้งสองตกลงที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่เดินทางกลับจากพื้นที่ขัดแย้ง และจะร่วมกันปกป้องและส่งความช่วยเหลือที่จำเป็นไปยังพลเมืองที่ยังติดอยู่ท่ามกลางความไม่สงบ” ถ้อยแถลงร่วมระหว่าง โอมาบา และ โมดี ระบุ

สหรัฐฯ และอินเดียยังบรรลุกรอบความร่วมมือกลาโหมที่ครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี รวมถึง โครงการพัฒนาและผลิตอาวุธ เช่น อากาศยานไร้คนขับ และชิ้นส่วนสำหรับเครื่องบินลำเลียง ซี-130 ของค่ายล็อกฮีดมาร์ติน เป็นต้น





กำลังโหลดความคิดเห็น