xs
xsm
sm
md
lg

ตามคาด! ศาลสหรัฐฯ สั่งไม่ฟ้อง “นายกฯ อินเดีย” ข้อหาเพิกเฉยเหตุจลาจลทำคนตายนับพันศพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย
รอยเตอร์ - ผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ สั่งไม่ฟ้องนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ในข้อหาเพิกเฉยต่อเหตุจลาจลที่รัฐคุชราตเมื่อปี 2002 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับพันคน เหตุเพราะเป็น “หัวหน้ารัฐบาล” จึงได้รับความคุ้มกันตามกฎหมาย

อนาลิซา ตอร์เรส ผู้พิพากษาศาลแขวงนิวยอร์ก พิพากษาวานนี้ (14) ให้ยืนตามคำสั่งกระทรวงการต่างประเทศที่ระบุว่า โมดี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้รับความคุ้มกัน (immunity) ไม่สามารถถูกดำเนินคดีจากการฟ้องร้องในสหรัฐฯ

เอกสารคำร้องซึ่งองค์กรสิทธิมนุษยชนกลุ่มหนึ่งยื่นต่อศาลเมื่อเดือนกันยายน ก่อนที่นายกรัฐมนตรีอินเดียจะเดินทางเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ กลายเป็นประเด็นพาดหัวข่าวทั่วโลก แม้เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ชาติจะยืนยันว่าเป็นแค่ความพยายามก่อกวนก็ตาม

โจเซฟ วิททิงตัน ประธานศูนย์กระบวนการยุติธรรมแห่งอเมริกา (American Justice Center) และสมาชิกสภาเมืองฮาร์วีย์ รัฐอิลลินอยส์ ยอมรับว่า แม้มีโอกาสน้อยมากที่จะเอาผิด โมดี แต่ก็ถือเป็นชัยชนะ “เชิงสัญลักษณ์”

บาบัก ปูร์ทาวูซี ทนายความซึ่งเป็นตัวแทนศูนย์กระบวนการยุติธรรมแห่งอเมริกา รวมถึง วิททิงตัน ยังไม่ออกมาให้สัมภาษณ์ หลังจากที่ศาลนิวยอร์กประกาศคำพิพากษาเมื่อวานนี้(14)

จี.วี.แอล นรสิงห์ เรา โฆษกพรรคภารติยะชนตะ (บีเจพี) ของนายกฯโมดี กล่าวว่า การฟ้องร้องเป็นแค่ความพยายามที่ “ไร้สาระ” ของผู้ที่ต้องการทำลายชื่อเสียงผู้นำอินเดีย และ “พฤติกรรมเช่นนี้สมควรถูกประณามเหยียดหยาม”

คำวินิจฉัยของผู้พิพากษาศาลแขวงถูกประกาศ ก่อนที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนแดนภารตะเพื่อร่วมพิธีเฉลิมฉลองวันครบรอบการสถาปนาสาธารณรัฐอินเดีย (Republic Day) 26 มกราคม ตามคำเชิญของโมดี

การวางเพลิงเผาขบวนรถไฟขนผู้แสวงบุญฮินดูเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2002 เป็นชนวนนำมาสู่เหตุการณ์จลาจลทั่วทั้งรัฐคุชราต ส่งผลให้มีผู้คนถูกสังหารไปอย่างน้อย 1,000 คน และส่วนใหญ่เป็นพลเมืองมุสลิม
นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย จับมือกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จอห์น เคร์รี ซึ่งเดินทางไปร่วมการประชุม Vibrant Gujarat Summit ที่เมืองคานธีนคร รัฐคุชราต เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา
โมดี ซึ่งเป็นมุขมนตรีรัฐคุชราตตั้งแต่ปี 2001 มาจนกระทั่งถึงปีที่แล้ว ถูกวิจารณ์ว่าเพิกเฉยต่อเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น และไม่พยายามใช้อำนาจยับยั้งการโจมตีแก้แค้นชาวมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อย ในขณะที่ โมดี ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาโดยตลอด และศาลสูงสุดอินเดียก็ประกาศให้เขาพ้นข้อหาทั้งปวงเมื่อปี 2012

โมดี เคยถูกสหรัฐฯ ปฏิเสธการออกวีซ่าให้ตั้งแต่ปี 2005 ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายอเมริกันปี 1998 ซึ่งห้ามมิให้ชาวต่างชาติที่พัวพันการละเมิดเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างร้ายแรงเข้าประเทศ แต่หลังจากที่เขาชนะการเลือกตั้งทั่วไปในอินเดียเมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีโอบามาก็ไม่รอช้าที่ลืมเรื่องเก่า และเชิญ โมดี มาเป็นแขกของทำเนียบขาว

การไปเยือนสหรัฐฯ ของโมดี เมื่อปีที่แล้วมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันและเดลีซึ่งเสื่อมถอยลงอย่างหนัก จากกรณีตำรวจนิวยอร์กจับกุมนักการทูตหญิง เทพยานี โคบรากาด และ “เปลื้องผ้าค้นตัว” เธอด้วยข้อหาแจ้งข้อมูลวีซาอันเป็นเท็จ และจ่ายเงินเดือนแม่บ้านต่ำกว่าค่าแรงที่กฎหมายสหรัฐฯกำหนด

วิททิงตันเคยให้สัมภาษณ์ในฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้วว่า พลเมืองส่วนหนึ่งในรัฐของเขาเป็นผู้อพยพที่หนีเหตุรุนแรงมาจากรัฐคุชราตเมื่อปี 2002 ทำให้เขาตัดสินใจฟ้องร้องเพื่อเอาผิด โมดี

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังไม่แสดงความคิดเห็นต่อคำพิพากษาของศาล ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศอินเดียก็ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเช่นกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น