xs
xsm
sm
md
lg

Solar Rooftop : มายาคติ ความจริง และแนวทางการส่งเสริม (ตอนที่ 1) / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
คำนำ

ผมได้รับเชิญจากคณะกรรมาธิการด้านพลังงาน ในสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้ไปให้ข้อมูลเรื่อง โซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) ต่อคณะอนุกรรมการชุดหนึ่งเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2557 ในจดหมายเชิญดังกล่าวได้ขอให้ผมเตรียมเอกสารประกอบการชี้แจง จำนวน 30 ชุดด้วย

ผมรู้สึกดีใจมาก และใช้เวลาเตรียมเอกสารความยาว 12 หน้าอยู่นานพอสมควร ผมใช้เวลาในการนำเสนออย่างค่อนข้างจะรีบร้อนเพราะใกล้เวลาอาหารเที่ยงแล้ว ทั้งการซักถาม และการนำเสนอนานประมาณ 50 นาที ทันทีที่ผมนำเสนอจบ ท่านรองประธานก็เสนอให้ผมเป็นที่ปรึกษาคณะอนุฯ ทันที

ที่เล่ามานี้ผมไม่ได้โม้! เพียงแค่นำความจริงมาเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบว่า “เรื่องที่ผมนำเสนอนั้นไม่ธรรมดาจริงๆ!”

ก่อนที่จะแยกย้ายจากกันเมื่อเวลาประมาณเที่ยงครึ่ง ท่านรองประธานคนเดิมได้เดินมาพูดกับผมว่า “เราอาจจะต้องไปชี้แจงใน ครม.การชี้แจงใน ครม.ต้องการคนที่นำเสนอแบบอาจารย์นี่แหละ จั๊วะๆ เห็นภาพเลย”

คิดดูสิ ถ้าผมไม่นำมาเล่าต่อแล้วจะให้ผมเก็บไว้คนเดียวเหรอ!

เนื่องจากเอกสารยาวเกินไป จึงได้แบ่งออกเป็น 2 ตอน โดยมีการดัดแปลงเพียงเล็กน้อย

ส่วนที่ 1 มายาคติกับความจริง

จริยธรรมในการให้ข้อมูลคือ การนำเสนอความจริง และการชี้ให้เห็นมายาคติที่เกี่ยวข้อง ในที่นี้ผมจะขอนำเสนอเป็นข้อๆ โดยย่อๆ ดังต่อไปนี้

มายาคติ

(1) พลังงานหมุนเวียนมีไม่มากพอกับความต้องการ เป็นได้แค่อาหารเสริม ไม่สามารถเป็นอาหารหลักได้

(2) พลังงานจากโซลาร์เซลล์มีต้นทุนสูง คนไทยยังไม่พร้อมจะจ่ายค่าไฟฟ้าแพงๆ

(3) แสงอาทิตย์ไม่มีความมั่นคง คาดหมายไม่ได้ เวลากลางคืนไม่มีดวงอาทิตย์จะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้

พร้อมกันนี้ จะนำเสนอหลักการ และมาตรการเชิงนโยบายและกฎหมายของบางประเทศที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งตัวอย่างดีๆ ที่ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย

มายาคติ:“พลังงานหมุนเวียนมีไม่มากพอ เป็นได้แค่อาหารเสริม ไม่สามารถเป็นอาหารหลักได้” 

เป็นความจริงอยู่ว่า การผลิตและการส่งกระแสไฟฟ้ามีรายละเอียดที่ซับซ้อนที่จำเป็นต้องคำนึงถึง แต่ในแง่ของปริมาณพบว่า ในปี 2556 ประเทศเยอรมนี สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ถึง 147,100 ล้านหน่วย ในขณะที่ประเทศไทยใช้ไฟฟ้าทั้งหมดรวมกัน 164,340 ล้านหน่วย ซึ่งมากกว่าที่ชาวเยอรมันผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

กล่าวเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งๆ ที่ประเทศเยอรมนีมีความเข้มของแสงแดดต่อพื้นที่หนึ่งตารางเมตรประมาณ 60% ของประเทศไทย แต่สามารถผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ในปี 2556 ได้ถึง 29,300 ล้านหน่วย ซึ่งพลังงานไฟฟ้านี้มีมากกว่าที่คนไทยใน 17 จังหวัดภาคเหนือและ 20 จังหวัดภาคอีสานใช้รวมกัน (ดูรายละเอียดพร้อมแหล่งข้อมูลจากแผ่นภาพ)
 

 
ปริมาณการผลิตดังกล่าวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยที่ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2557 การผลิตจากโซลาร์เซลล์ได้เพิ่มเป็น 31,500 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 7.1%

และเพื่อให้เห็นภาพรวมที่ชัดเจนขึ้นพบว่า การผลิตจากพลังงานฟอสซิลทุกชนิดกลับลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากก๊าซธรรมชาติได้ลดลงถึง 19.5% (ดังแผ่นภาพพร้อมแหล่งอ้างอิง)
 

 
ประเด็นที่น่าสนใจ และขอตั้งเป็นคำถามไว้ก่อนพิจารณาจากภาพแรก ในช่วงแรกๆ (ค.ศ.1990 ถึง 1999) การเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนเป็นไปอย่างเชื่องช้า มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5.3 ของไฟฟ้าทั้งหมด ในปี 1999 แต่ทำไมหรือมีปัจจัยใดที่ในปี 2013 สัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในภาคไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24.7 ของไฟฟ้าทั้งหมดในจำนวนนี้มาจากโซลาร์เซลล์ 5.3%

อนึ่ง จากกฎหมายที่ชื่อ “กฎหมายว่าด้วยการให้สิทธิต่อแหล่งพลังงานหมุเวียนก่อน” (Act on Granting Priority to Renewable Energy Sources) ซึ่งประกาศใช้ในปี 2000 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า จะต้องเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อย 30% ภายในปี ค.ศ.2020 และให้เพิ่มขึ้นมากกว่านี้อย่างต่อเนื่องในปีต่อๆ ไป

ในขณะที่พรรคการเมืองก็มีการแข่งขันกันในเชิงนโยบาย โดยกำหนดเป้าหมายให้สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ พรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน (ซึ่งเป็นพรรคที่ค่อนข้างไปทางอนุรักษนิยม) พรรคสังคมประชาธิปไตย และพรรคกรีนและพันธมิตร ได้ตั้งเป้าไว้สูงกว่าที่ 35%, 45% และ 75% ตามลำดับ

และในอีก 10 ปีถัดไป คือปี 2030 พรรคร่วมรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายต่ำที่สุดในบรรดาทุกพรรคไว้ที่ 50% ในขณะที่พรรคกรีน และพันธมิตร (ซึ่งเป็นพรรคที่ก้าวหน้าด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม) ได้ตั้งไว้ถึง 100% เลยทีเดียว

จากสถิติที่สามารถทำได้จริงแล้ว จากเป้าหมายในกฎหมาย และจากการชูนโยบายเพื่อการแข่งขันกันของแต่ละพรรคการเมือง ตลอดจนความจริงทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เราเชื่อได้ว่า มายาคติที่ว่า “พลังงานหมุนเวียนเป็นได้แค่อาหารเสริม ไม่สามารถเป็นอาหารหลักได้” ก็ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
 

 
ขอเพิ่มเติมอีกนิดว่า ศาสตราจารย์พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลถึงกับได้สารภาพว่า “…ผมเคยคิดว่า ความคิดที่จะนำพลังงานลมและแสงแดดให้มามีบทบาทสำคัญนั้นเป็นความคิดแบบสติเฟื่องของพวกฮิปปี้ (hippy-dippy wishful thinking)…แต่ผมคิดผิด”1

มายาคติ : พลังงานจากโซลาร์เซลมีต้นทุนสูง คนไทยยังไม่พร้อมจะจ่ายค่าไฟฟ้าแพง 

ความเชื่อดังกล่าวเคยเป็นความจริงเมื่อประมาณ 6-7 ปีมาแล้ว แต่ในปัจจุบันนี้ (2557) ได้เปลี่ยนไปแล้ว
ราคาแผงโซลาร์เซลล์ (ชนิด Polysilicon) ในสหรัฐอเมริกาของปี 2555ได้ลดลงมาเหลือแค่ 1% ของเมื่อ 35 ปีก่อน และถ้านับเฉพาะในช่วง 4 ปีหลังสุดคือ จากปี 2551 จนถึง 2554 ราคาแผงโซลาร์เซลล์ได้ลดลง 24%2

ถ้าต้องการจะเปรียบเทียบราคาค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์ต่อการผลิตจากเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ ก็พบว่า ราคาค่าไฟฟ้าภายในประเทศเยอรมนี (กราฟเส้นหมายเลข 6 ซึ่งเคยมีราคาถูกแต่เพิ่มขึ้นทุกปี) กับราคาค่าไฟฟ้าจากหลังคา (กราฟเส้นหมายเลข 2 ซึ่งเคยมีราคาแพงแต่ลดลงอย่างรวดเร็ว) ได้มีราคาเท่ากันแล้วตั้งแต่ในปี 2012 (ดังแสดงในกราฟ) และคาดหมายว่านับจากนี้เป็นต้นไปราคาค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์จะลดลงอีก 
 

 
สำหรับในสหรัฐอเมริกา ซึ่งความเข้มของพลังงานแสงแดดสูงกว่าเยอรมนี (แต่ต่ำกว่าประเทศไทยเล็กน้อย และมีต้นทุนการติดตั้งระบบแผงโซลาร์เซลล์มากกว่าเยอรมนีถึงประมาณ 2.5 เท่า) จากภาพข้างล่างพบว่า ในปี 2554 ราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเท่ากับ 9.75 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ในเมืองนิวยอร์กราคาไฟฟ้าจากระบบสายส่งเท่ากับ 5.53 บาท (ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย, โดย 32.5 บาท= 1 ดอลลาร์) 
 

 
อนึ่ง ระบบแผงโซลาร์เซลล์ไม่ได้ประกอบด้วยแผงที่เราเห็นบนหลังคาเพียงอย่างเดียว แต่ยังประกอบด้วยอุปกรณ์อื่นๆ เช่น ตัวแปลงกระแสไฟฟ้าจากกระแสตรงเป็นกระแสสลับ (Invertor) ตัวตรวจสอบระบบ และอื่นๆ ดังรูป 
 

 
ต้นทุนการติดตั้งในแต่ละประเทศกันแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับค่าแรง ระบบภาษีซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล และอื่นๆ

ข้อมูลในแผ่นภาพข้างล่างนี้ แสดงถึงการเปรียบเทียบราคาของระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านของ 3 ประเทศ คือ เยอรมนี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา (กราฟซ้ายมือ) สิ่งที่น่าสนใจก็คือในประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุดในโลก ราคาระบบโซลาร์เซลล์อยู่ที่ประมาณ 40% ของราคาในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
 

 
มายาคติ : แสงอาทิตย์ไม่มีความมั่นคง คาดหมายไม่ได้ เวลากลางคืนไม่มีดวงอาทิตย์จะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้

คำว่า “ความมั่นคง” ในความเห็นของผมแล้ว เป็นคำที่มีความหมายไม่ชัดเจน แต่ไม่ว่าจะใช้ความหมายใด พระอาทิตย์ต้องมีความมั่นคงมากกว่าโลกอย่างแน่นอน เพราะพลังงานทั้งหมดของโลกมีต้นกำเนิดมาจากพระอาทิตย์ หรือแสงแดดเพียงอย่างเดียว จึงไม่ขอกล่าวถึงในประเด็นนี้

ประเด็นที่ว่า “แสงอาทิตย์คาดหมายล่วงหน้าไม่ได้” ทำให้เกิดความยุ่งยากในการวางแผนการผลิตไฟฟ้า จากการศึกษาของประเทศเยอรมนีพบว่า มายาคติดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อมนุษย์สามารถพยากรณ์อากาศได้ ก็ย่อมสามารถพยากรณ์แสงแดด และลมได้นั่นเอง (ดังกราฟในแผ่นภาพ) 
 

 
จากกราฟล่างของแผนภาพ (ซึ่งเป็นการผลิตจริง) พบว่า พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชนิดอื่นที่มีขนาดมากกว่า 100 เมกะวัตต์ เกือบจะคงที่ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งหมายความนอกจากจะทำให้เกิดความง่ายในการผลิตแล้ว ยังไม่ต้องเตรียมโรงไฟฟ้าไว้ใช้ในช่วง peak ของวัน (ซึ่งในปีหนึ่งๆ ทำงานไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น) โดยใช้ไฟฟ้าจากหลังคาบ้านของตนเองหรือบ้านใกล้ๆ นั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจมากๆ ของการใช้โซลาร์เซลล์ก็คือ การลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในช่วงเวลากลางวัน

จากการศึกษาของ Australia Energy Market Operator พบว่า ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของรัฐออสเตรเลียใต้ ในช่วงปี 2008 ถึง 2013 ได้ลดลง 15% ในขณะที่ความต้องการไฟฟ้าในเวลากลางคืนของปีหลังสุดสูงกว่าของปี 2008 ซึ่งเป็นผลมาจากการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านทุก 1 ใน 5 หลัง จำนวน 267 เมกะวัตต์ พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์เซลล์มีสัดส่วนประมาณ 2.4% ในปี 2556 
 

 
สำหรับมายาคติเรื่อง “เวลากลางคืนไม่มีดวงอาทิตย์จะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้” จะไม่ขอลงรายละเอียดในที่นี้ เพราะ “นอกประเด็น” เล็กน้อย แต่ขอเรียนว่าในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า Solar Thermal Power Plant ที่ใช้กระจกรวมแสงเพื่อต้มน้ำซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ติดต่อกันหลายวัน แต่ต้นทุนอาจจะยังสูงอยู่

สัปดาห์หน้าค่อยมาต่อตอนที่สองนะครับ

---------------------------------------------------------------------
1จากบทความชื่อ “Salvation Gets Cheap” โดยPaul Krugmanใน“The New York Times” เมื่อ 17 เมษายน 2557
2จากรายงานเรื่อง “Revolution Now : The Future Arrives for Four Clean Energy Technologies” โดย Department of Energy สหรัฐอเมริกา, กันยายน 2013
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น