ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้บัญชาการ มทบ.ที่ 41 เปิดโต๊ะแจงกรณีข่าวตำรวจจับกุมทหารร่วมขบวนการอุ้มชาวยูเครนเคลียร์หนี 15 ล้าน เป็นการเข้าใจผิด ทหารเพียงแค่ปฏิบัติหน้าที่หลังได้รับเรื่องร้องเรียนขอความตรวจสอบชาวต่างชาติทำผิดหลบหนีมาซุกตัวที่ภูเก็ต ยันเป็นเพียงคนกลางระหว่าง 2 ฝ่าย ที่สามารถตกลงกันได้ ขณะที่ในส่วนของพลเรือนที่ถูกจับกุม เผยไม่ได้เป็นแก๊งอุ้ม แต่ได้รับการประสานจากทหารให้เป็นล่ามให้ฝ่ายทหารเท่านั้น
เมื่อเวลา 14.30 น. วันนี้ (20 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมศาลากกลางจังหวัดภูเก็ต พล.ต.ธีร์ณฉัฏฐ์ จินดาเงิน ผู้บัญชาการมนฑลทหารบกที่ 41 เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีมีข่าวเจ้าหน้าที่ทหารจากมนฑลทหารบกที่ 41 ถูกจับกุมเมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.) พร้อมกับพลเรือนอีก 5 คน ที่บริเวณธนาคารกสิกรไทย สาขา 5 แยกฉลอง ขณะกำลังนำผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความต่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเบิกเงินจากธนาคาร โดยมี นายนิสิทธิ์ จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายประเจียด อักษรธรรมกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต และ พ.ต.อ.จีรศักดิ์ เสียมศักดิ์ ผกก.อำนวยการ ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ร่วมรับฟัง
พล.ต.ธีร์ณฉัฏฐ์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเข้าใจผิด ขณะที่เกิดเหตุทหารอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางทหารได้รับการแจ้งว่า มีบุคคลที่ชาวต่างชาติลักษณะอาชญากรข้ามชาติเข้ามาหลบซ่อนอยู่ในภูเก็ต จึงขอให้ทางทหารเข้าไปตรวจสอบ ในขั้นต้นก็พยายามให้เข้าตามระบบ แต่ในส่วนของผู้แจ้งข่าวซึ่งเป็นชาวยูเครน กลัวว่าการดำเนินการจะล่าช้า และกลัวว่าบุคคลดังกล่าวจะหลบหนีก็เลยขอความอนุเคราะห์จากทหารเป็นกรณีพิเศษให้ทหารเข้ามาดูแล เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกน่าจะมีการดำเนินการรวดเร็วกว่า ทางทหารจึงได้เข้าไปตรวจสอบเอกสารของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหาย และมีการสอบถามข้อมูลต่างๆ ซึ่งพบว่า เป็นตัวแทนของผู้เสียหายจริง หลังจากนั้นทางตัวแทนผู้เสียหายก็นำทหารไปพบกับทางผู้ที่เขากล่าวหาซึ่งเป็นชาวยูเครนด้วยกัน ทางทหารจึงเชิญทั้งผู้ 2 ฝ่ายมาตกลงกัน แต่ทั้ง 2 ฝ่ายขอให้ใช้สถานที่ที่ตั้งของทหารเป็นที่ในการไกล่เกลี่ยเจรจา โดยขอให้ทหารเป็นคนกลางเป็นพยาน โดยทั้ง 2 ฝ่ายเป็นผู้เจรจากันเอง ลูกน้องของตนก็คงฟังไม่รู้เรื่องเพราะทั้ง 2 ฝ่ายเป็นชาวยูเครนด้วยกัน แต่ก็มีล่ามมาช่วยแปลให้ฟัง
จากการเจรจาพอทราบได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดที่ยูเครนโดยโกงเงินของฝ่ายผู้ร้องไปถ้าเป็นเงินบาทก็ประมาณ 15 ล้านบาท ก็เลยบอกให้มีการเจรจากัน ซึ่งจากการเจรจาทางผู้ถูกกล่าวหาก็ยอมรับว่า เอาเงินมาจริง และยินดีจะชดใช้ ซึ่งมีการพุดคุยตกลงกันและให้ไปจัดการปัญหากันเอง ทราบว่า เมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.) จะมีการจ่ายเงินชดใช้กัน สำหรับในส่วนของขั้นตอนนี้ในส่วนของทหารก็ถือว่าจบแล้ว แต่จริงๆ แล้วในส่วนของทหารก็ยังมีภารกิจบางอย่างที่จะต้องติดตามในส่วนของผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดที่หลบหนีเข้ามาจึงจำเป็นที่จะต้องมีการติดตาม เราไม่อยากให้คนที่ทำความผิดเข้ามาอยู่ในบ้านเรา จึงจำเป็นที่จะต้องติดตามดูพฤติกรรมเพื่อเป็นข้อมูลในการดำเนินการในพื้นที่ต่อไป
พล.ต.ธีร์ณฉัฏฐ์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่มีการตกลงเรื่องของการจ่ายเงินกันแล้ว ก็ได้มีการประสานมากับทางทหารว่าให้ไปเป็นคนกลางในการจ่ายเงินกันซึ่งมีการนัดจ่ายกันที่ธนาคาร ซึ่งหลังได้รับการติดต่อก็ตกลง ซึ่งเราก็พร้อมเพราะเราต้องการติดตามดูพฤติกรรมด้วย ก็เลยให้ทหารเข้ามา และมาคุมเชิงข้างนอก แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการตกลงกันนั้นทางทหารก็ไม่ทราบว่า ภรรยาของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งกลับบ้านไปก่อนหน้านี้ ไปแจ้งความต่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งคิดว่าเขาอาจจะกลัว หรือไม่มั่นใจ ด้วยความเป็นคนชาวต่างชาติเขาอาจจะคิดว่าการไปอยู่ในจุดนั้น การไปนั่งคุยในจุดนั้นอาจจะมองว่าเป็นการควบคุมตัว ข่มขู่ หรือจะทำร้ายร่างกาย หลังการแจ้งความเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้าไปดำเนินการตามหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งเป็นช่วงที่ทั้งผู้ร้อง และผู้ถูกร้องเข้าไปที่ธนาคาร โดยมีทหารคุมเชิงอยู่ด้านนอก เมื่อตำรวจเข้าดำเนินการก็มีการจับกุมและมีการเข้าใจผิดคิดว่าทางทหารเข้าไปเกี่ยวข้องต่อการข่มขู่ แต่ความเป็นจริงแล้วการดำเนินการในส่วนนี้ทางทหารดำเนินการเป็นการจัดการในทางทหารในการดำเนินเรื่องนี้เป็นไปตามกฎอัยการศึกที่เป็นการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องของความมั่นคง และภัยความมั่นคง เพียงแต่ในช่วงที่มีการดำเนินการนั้นทางผู้ร้องขอให้ปิดเป็นความลับเ พราะกลัวว่าผู้ถูกร้องจะหลบหนี หรือดำเนินการอย่างอื่นเพื่อให้พ้นผิด ซึ่งในการดำเนินการทั้ง 2 ฝ่ายก็พูดคุยตกลงกันด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการนั้นในส่วนของตำรวจก็ทำไปตามหน้าที่ที่ทางภรรยาผู้ถูกกล่าวหาไปแจ้งความ ขณะที่ในส่วนของทหารก็ดำเนินการตามภารกิจหน้าที่ของทางทหาร จึงเกิดความไม่เข้าใจกัน ซึ่งอาจจะเกิดจากความไม่เข้าใจกันในเรื่องของการใช้กฎหมายของแต่ละหน่วยที่ต่างกัน และความเข้าใจผิดในครั้งนี้ก็เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ว่ากัน ในส่วนของตำรวจก็ว่ากันไปตามกฎหมาย
พล.ต.ธีร์ณฉัฏฐ์ กล่าวต่อไปถึงกรณีมีการนำเสนอข่าวว่ามีการข่มขู่ผู้ที่ไปแจ้งความ และสามีนั้น ในส่วนของทหารขอยืนยันว่าไมมีการข่มขู่ ซึ่งการทำงานลูกน้องจะรายงานตนให้ทราบอยู่ตลอดเวลา และตนมั่นใจว่าไม่มีการดำเนินการแบบนั้นแน่ ยืนยันว่าไม่มีผลประโยชน์ ไม่มีการข่มขู่จะเอาทรัพย์ หรือได้รับการว่าจ้างจากผู้เสียหายแน่นอน ซึ่งในส่วนของผู้เสียหายเองเชื่อว่าทางทหารจะไม่ไปเรียกร้องจากเขาแน่นอน เขาถึงมาแจ้งให้ทหารเข้าไปดำเนินการ ขอยืนยันว่าการปฏิบัติไม่เป็นไปตามที่เป็นข่าวแน่นอน ไม่เคยข่มขู่เรียกร้องรับผลประโยชน์จากใครทั้งสิ้น การเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ที่ภูเก็ตเพราะได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลในพื้นที่ทุกเรื่อง และได้มีการเน้นย้ำให้ดำเนินการอยู่ในกรอบ ซึ่งการทำงานทุกครั้งได้รายงานให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดรับทราบมาโดยตลอด และที่ผ่านมา ยังเคยใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ใช้เพียงการอำนวยความสะดวกการปฏิบัติทางทหาร
ส่วนเรื่องของการเชิญตัวผู้ถูกกล่าวหาและภรรยานั้น ไม่ได้เป็นการเชิญตัวตามกฎอัยการศึก เป็นเพียงการเชิญตัวมาพูดคุย ซึ่งในส่วนของผู้ถูกกล่าวหาเต็มใจที่จะมาเพื่อร่วมเจรจากัน และคนที่ถูกกล่าวหาก็เต็มใจอยู่ด้วยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ หรือใช้ปืนจี้แต่อย่างใด ซึ่งถ้าใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกทหารมีอำนาจที่จะเชิญใครก็ได้ที่มองว่าเป็นบุคคลที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคง หรือเป็นบุคคลที่ทำให้เกิดความไม่ปกติ หรือเกิดความไม่สงบศึกขึ้น สามารถที่จะเรียกมาคุย และให้อยู่ได้ถึง 7 วัน แต่ครั้งนี้ไม่ได้มีการบังคับ ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะคุยกันเอง และถ้าเป็นเหมือนที่มีข่าวทางทหารก็คงไม่ปล่อยภรรยาของผู้ถูกกล่าวหากลับไป ไม่มีการข่มขู่หน่วงเหนี่ยว ซึ่งทั้งหมดเป็นการพูดคุยกันเองระหว่างผู้ถูกกล่าวหา และผู้เสียหาย เมื่อภรรยาเขาจะกลับก็ให้กลับ และในวันที่เกิดเหตุนั้นมีทหารร่วมไปด้วย ซึ่งทั้งหมดเป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น และขอยืนยันว่าไม่มีการควบคุมตัวแต่อย่างใด
พล.ต.ธีร์ณฉัฏฐ์ ได้ตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวถึงกรณีการนำกำลังทหารเข้าไปดำเนินการเรื่องนี้เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นกรณีการฉ้อโกงของชาวต่างชาติด้วยกัน และเหตุเกิดขึ้นในต่างประเทศ ว่า ตอนแรกที่ได้รับเรื่องร้องเรียนก็เนื่องจากมีความคลาดเคลื่อนในการแปลข้อความซึ่งเรามองว่าเป็นคดีอาชญากรรม จึงใช้กำลังเข้าไปดำเนินการ แต่พอทราบว่า เป็นเรื่องของการฉ้อโกงก็เลยให้ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันเอง ทางทหารก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในการดำเนินการ ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้เป็นเพียงการดำเนินการในขั้นตกลงเพื่อรวบรวมหลักฐาน ยังไม่มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบประวัติของผู้ถูกร้องแต่อย่างใด ซึ่งหลังจากรวบรวมหลักฐานได้แน่ชัดก็จะส่งข้อมูลให้ทุกหน่วยติดตามพฤติกรรมต่อไป ส่วนกรณีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อทางเจ้าหน้าที่ทหารนั้น เท่าที่ทราบยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด ส่วนกรณีพลเรือนนั้นก็เป็นหน้าที่ของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินการ
ในขณะเดียวกัน นายประวัตร์ เอียดยาว อายุ 36 ปี ชาว จ.ตรัง น.ส.อรนุช ติยพงศ์พัฒนา อายุ 40 ปี ชาว จ.ภูเก็ต นายเขมติชัย ปันเสาร์ อายุ อายุ 32 ปี ชาว จ.น่าน นายบันดาล อินมัง อายุ 35 ปี ชาว จ.สุราษฎร์ธานี นายสมพร ชัยสิทธิ์ อายุ 58 ปี ชาว จ.สุราษฎร์ธานี ผู้ต้องหาที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ฉลอง แจ้งความดำเนินคดีในข้อหา “ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดๆ หรือไม่กระทำการใดๆ หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องการทำการนั้นไม่กระทำการหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยมีอาวุธหรือร่วมกันทำความผิดนั้นตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้อื่น หรือกระทำการด้วยประการใดให้ผู้อื่น ปราศจากเสรีภาพในร่างกายและข่มขืนใจให้ยอมหรือให้ยอมจะให้ตนหรือผิดอื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือบุคคลที่ 3 จนผู้อื่นถูกข่มขืนใจ โดยมีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญต่อไป” ซึ่งขณะนี้ได้รับการประกันออกมาคนละ 100,000 บาท เดินทางมาชี้แจงขอความเป็นธรรมเกี่ยวต่อคดีดังกล่าวด้วย
นายบันดาล อินมัง อายุ 35 ปี ชาว จ.สุราษฎร์ธานี หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมกล่าวว่า ตนทำหน้าที่เป็นล่ามให้เจ้าหน้าที่ทหาร ส่วนเพื่อนอีก 3 คน ตนได้ชวนมาเป็นเพื่อน โดยมี 1 คนที่ทำหน้าที่ขับรถ สำหรับการเป็นล่ามในครั้งนี้ได้รับการติดต่อจากทางทหารให้มาช่วยเป็นล่ามแปล ซึ่งเห็นว่าเป็นหน่วยงานราชการจึงเต็มใจแปลภาษาให้ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่คิดว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะกระทำต่อตนเช่นนี้ มีการจับกุมใส่กุญแจมือ มีสื่อมวลชนมาทำข่าว จนสร้างความเสียหายแก่ตนอย่างมาก จึงวอนให้สื่อมวลชนเป็นกลางในการรายงานข่าว ซึ่งในขณะที่นางมารีนา และนายอิกอร์ สองผัวเมียที่ถูกเจ้าหน้าที่เชิญตัวไปอยู่ที่หน่วยของทหาร ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ตนในฐานะล่ามแปลก็ดูแลนางมารีน่า และนายอิกอร์ เป็นอย่างดี และเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2557 ตนก็เป็นเดินทางมาส่งนางมารีน่า ที่บ้านพัก ซึ่งในขณะนั้นผู้เสียหายพอใจอย่างมาก และตนไม่ทราบว่าผู้เสียหายจะเดินทางไปแจ้งความ จนมีเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมตน และเพื่อนๆ รวม 5 คน ดำเนินคดีดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และตนไม่ได้เป็นแก๊งอุ้มชาวต่างชาติ การไปทำงานเป็นล่ามในครั้งนี้ไม่ได้รับค่าจ้างแต่อย่างใด แต่เป็นการไปช่วยงาน และได้รับการติดต่อให้ไปช่วยงานก็เพราะรู้จักกับทหารคนหนึ่งซึ่งเป็นคนจังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วยกัน ซึ่งหลังจากที่เป็นล่ามเสร็จ วันที่ 18 ตนก็เดินทางกลับบ้าน และได้รับแจ้งจากทางทหารเมื่อช่วงเช้าวันที่ 19 ว่า นายอิกอร์ ไม่ยอมกินข้าว ให้กลับมาช่วยอีกครั้ง ตนก็เดินทางกลับไป เมื่อไปถึงก็ได้ทำอาหารให้นายอิกอร์ กิน เมื่อถึงเวลานัดที่จะนำเงินมาจ่ายซึ่งตอนแรกนัดที่ ธนาคารกสิกรไทย สาขาโลตัส ราไวย์ แต่ตนคิดว่าไกลจากสถานีตำรวจ เพราะหลังจากรับเงิน และเช็คก็จะต้องไปลงบันทึกประจำวัน จึงบอกให้มีการเปลี่ยนมาดำเนินการที่ธนาคารกริกรไทย สาขาห้าแยก ซึ่งใกล้สถานีตำรวจ และในช่วงที่ผู้เสียหาย และผู้ถูกกล่าวหาเข้าไปในธนาคาร พวกตนไม่ได้เข้าไป แต่ก็ถูกตำรวจจับกุมดำเนินคดี
ด้าน MR.Vladimir Evladov สัญชาติยูเครน ผู้ประสานงานของบริษัทฟอร์นัส ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศยูเครน กล่าวว่า นายอิกอร์ ได้ฉ้อโกงบริษัทไป จำนวน 15 ล้านบาท โดยมีการโกงตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค.2556-เดือนเมษายน 2557 และจากการตรวจสอบพบว่า นายอิกอร์ หนีมาอยู่ที่ภูเก็ต จึงได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ทหารในการดำเนินการเนินการส่งตัวกลับประเทศ สาเหตุที่ติดต่อทางทหารเพราะคิดว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการใช้กฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ทหารน่าจะกระทำการได้ รวดเร็ว