xs
xsm
sm
md
lg

ความเปลี่ยนแปลงและกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในชนบท ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย (6) จรูญ หยูทอง และคณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง / ณฐพงศ์  จิตรนิรัตน์ / บุญเลิศ  จันทระ
 
(3) ชุมชนหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
 
เมืองสงขลา ฝั่งหัวเขาแดงมีปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับรัฐไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ แห่งราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ต่อเนื่องกันมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กลุ่มพ่อค้าสำเภาเดินทางเข้ามาค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับคนพื้นเมือง จนกลายเป็นเมืองท่าสำคัญเมืองหนึ่งในคาบสมุทรมลายู ในบางยุคบางสมัยนอกจากเป็นศูนย์กลางทางการค้าแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางทางด้านการเมืองการปกครองในหัวเมืองปักษ์ใต้ โดยเฉพาะในยุคการปกครองของกษัตริย์สุลต่านสุลัยมาน ผู้สถาปนาตนขึ้นเป็นพระเจ้าเมืองสงขลาที่ 1 ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททอง ถือได้ว่าเป็นยุคที่รุ่งเรือง และเฟื่องฟูที่สุดของเมือง “ซิงกอรา” หรือสงขลา
 
เมืองสงขลา มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากการเป็นเมืองขึ้นผู้ปกครองดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าแผ่นดิน สู่การประกาศเป็นรัฐอิสระ มีพระเจ้าแผ่นดินเป็นของตนเอง แล้วกลับไปสู่การเป็นเมืองขึ้น และสู่ยุคแห่งการปกครองที่เรียกว่า มณฑล ซึ่งมีศูนย์กลางปกครองอยู่ที่เมืองสงขลา ถึงแม้จะชื่อ “มณฑลนครศรีธรรมราช” ก็ตาม มีการย้ายเมืองจากเมืองสงขลาหัวเขาแดง เมืองสงขลาแหลมสน และเมืองสงขลาบ่อยางในปัจจุบัน แต่ละที่ตั้งของเมืองจะเกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองอย่างสำคัญ ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มผู้ปกครองออกเป็นสามกลุ่ม คือ ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากศูนย์กลางทางการปกครองในยุคนั้นเป็นกลุ่มคนแรก กลุ่มที่สอง จะเป็นกลุ่มคนที่มีความขัดแย้งกับศูนย์กลางทางการปกครอง และกลุ่มที่สาม คือ กลุ่มผู้เสนอผลตอบแทนในรูปของอากรภาษีแก่รัฐศูนย์กลาง
 
กล่าวสำหรับกลุ่มมุสลิม มีประวัติศาสตร์บอกเล่าของคนในพื้นถิ่นว่า ผู้เข้ามาอยู่อาศัยในเมืองสงขลาหัวเขาแดง ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากเหล่าลูกหลานของเจ้าเมืองมุสลิมที่เข้ามาสร้างบ้านแปงเมืองตั้งแต่สมัยดาโต๊ะโมกุล ถึงปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยประมาณ 1,715 ครัวเรือน ประกอบด้วย หมู่บ้าน 11 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ 8 หมู่บ้าน มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามประมาณ ร้อยละ 80 โดยทิศใต้ติดต่อกับเขตตำบลสทิงหม้อ ด้านทิศเหนือติดต่อกับตำบลชิงโค ทิศเหนือติดทะเลสาบสงขลา ทิศตะวันออกติดต่อกับอ่าวไทย และทะเลสาบสงขลา กล่าวได้ว่า ชุมชนมุสลิม ณ บ้านหัวเขาเป็นชุมชนที่มีลักษณะพิเศษ มีสังคม และวัฒนธรรมแตกต่างจากกลุ่มคนโดยทั่วไปในถิ่นฐานแห่งนี้  มีพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ศาสนาและวัฒนธรรมอย่างยาวนาน จากสังคมเมืองท่าค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าของนักเดินเรือนานาชาติ  เมื่อถูกยึด และทำลายโดยกองทัพของกรุงศรีอยุธยา ผู้คนก็แตกกระจายกลุ่มชนชั้นปกครองถูกแบ่งแยก กวาดต้อนไม่ให้สามารถรวมตัวกันได้ ทำให้กลุ่มชนชั้นผู้ถูกปกครองที่เหลืออยู่แตกกระจายออกไปตั้งถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพตามภูมิรู้ที่ตนเองมี โดยเฉพาะอาชีพประมง ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสาบทำให้เกิดชุมชนบ้านหัวเขาขึ้น โดยเฉพาะการจับสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา
 
ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสาบสงขลาส่งผลให้ผู้ประกอบอาชีพประมงมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจนำหน้ากลุ่มคนอื่นๆ ในถิ่นฐานแห่งนี้  กลุ่มชนชั้นนำโดยเฉพาะผู้นำทางศาสนานิยมส่งลูกหลานให้เดินทางไปเรียนศาสนายังเมืองจะนะ ปัตตานี และต่างประเทศอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 50 ปีที่ผ่านมา เคยเกิดโรงเรียนสอนศาสนาแบบดั้งเดิมที่เรียกกันว่า ปอเนาะ ณ บ้านหัวเขาเมื่อเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กลุ่มชนชั้นนำมีบทบาทสำคัญทั้งในทางศาสนา เช่น การเป็นประธานกรรมการมุสลิมประจำจังหวัด กรรมการมุสลิมจังหวัด หรือแม้แต่การดำรงตำแหน่งสูงสุดของผู้นำทางศาสนาอิสลามในประเทศไทย มีบทบาททางการเมืองระดับชาติ เช่น สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีนัยแสดงให้เห็นความสำคัญของชุมชนบ้านหัวเขา แม้เป็นเพียงชุมชนเล็กๆ  แต่หากบทบาททางศาสนา และทางการเมืองถึงในระดับชาติ
 
แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดทางด้านสภาพแวดล้อมและทรัพยากร โดยเฉพาะหลังปี พ.ศ.2500 การเร่งรัดเพื่อพัฒนาประเทศ ผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ชุมชนหัวเขาก็ได้รับผลจากการพัฒนาอย่างสำคัญ การปรับปรุงเครื่องมือสำหรับจับสัตว์น้ำในทะเลสาบ การเข้ามาของเครื่องยนต์ติดเรือแทนที่การพายด้วยแรงคน การพัฒนาอวนที่ใช้สำหรับจับสัตว์น้ำให้มีศักยภาพสูงในการจับสัตว์น้ำ จนสุดท้ายซื้อหามาจากระบบตลาดอุตสาหกรรมสมัยใหม่แทนที่เครื่องมือประมงที่ผลิตขึ้นด้วยมือ สามารถจับสัตว์น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ในยุคดังกล่าวนี้คนหัวเขามีสถานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นส่งผลให้คนรุ่นดังกล่าวสามารถสะสมทุนในรูปของที่ดิน ทั้งที่นา และที่สวน มีหลายครอบครัวในปัจจุบันสามารถซื้อที่ดินเพื่อการทำการเกษตรแบบใหม่ เช่น ส่วนยาง หรือสวนปาล์มจากน้ำพักน้ำแรงที่ได้จากการประกอบอาชีพประมง กอปรกับ “รายได้จากการจับสัตว์น้ำของคนหัวเขาในยุคนั้นเพียงคืนเดียวยังมากกว่าเงินเดือนขอนายอำเภอด้วยซ้ำไป” (สาคร 2555 ) ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้คนหัวเขาในยุคนั้นเมินเฉยต่อการศึกษาในระบบโรงเรียน เพราะถึงแม้เรียนสูงก็มีรายได้สู้ประกอบอาชีพประมงไม่ได้  ผู้ที่ส่งให้ลูกหลานเรียนในยุคนั้นจึงเป็นลูกหลานของชุมชนชาวนาเป็นหลัก เพราะการเป็นชาวนายากแสนลำบาก จึงเป็นอาชีพที่ต้องสลัดหนีให้พ้น และหนทางเดียวที่จะพ้นไปได้คือ การเรียนหนังสือเพื่อสร้างอาชีพใหม่
 
ช่วงระยะเวลาเพียง 50 ปี ทะเลสาบเสื่อมโทรมลงอย่างมาก ส่งผลให้ทรัพยากรประมงที่ทำให้คนหัวเขามั่งคั่ง ปัจจุบันกลับไม่สามารถแม้เลี้ยงคนหัวเขาให้เพียงพอได้อีกต่อไป ประกอบกับจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นเป็นหลายทวีคูณ แต่มีขีดจำกัดด้านพื้นที่เพราะที่ดินด้านหลังชุมชนถูกขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งโบราณคดี ส่วนด้านหน้าเป็นทะเลและถูกควบคุมโดยกรมเจ้าท่า  ทำให้โต๊ะอิหม่ามท่านหนึ่งถึงกับสะท้อนว่า “คนหัวเขารุ่นใหม่ในปัจจุบันตกอยู่ในสภาพถูกบีบจนรู้สึกอึดอัดเป็นอย่างมาก...เป็นดินแดนที่ถูกลืมจากการพัฒนา” ในภาพรวมของการดำรงอยู่จึงพบภาพของความย้อนแย้งอย่างสำคัญ ในขณะที่วิถีชีวิตวัฒนธรรมเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับการประกอบอาชีพประมง โดยเฉพาะการทำประมงปากน้ำ และประมงในทะเลสาบ ในยามปกติทั่วไปก็มีการแข่งขัน แย่งชิงทรัพยากรกันเองสูง แต่เมื่อนโยบายของรัฐ หรือภาคราชการเข้ามาต้องการจะจัดระเบียบเครื่องมือประมงต่างๆ ศาสนา และความเป็นกลุ่มชาติพันธ์จะถูกหยิบยกและเข้ามามีบทบาทในการปะทะกับอำนาจรัฐอยู่เสมอๆ ในด้านยุทธศาสตร์การเมืองระดับท้องถิ่นอาจกล่าวได้ว่า “หากยึดกุมเสียงจากมุสลิมได้ก็เป็นอันได้อำนาจการปกครองในท้องถิ่นอย่างแน่นอน แต่ด้วยการแข่งขันที่รุนแรง และการแปรเปลี่ยนระบบคุณค่าบางอย่างในชุมชน ผู้นำศาสนาท่านหนึ่งจึงสะท้อนในเชิงท้าทายว่า ระหว่างเงิน  กับองค์อัลเลาะฮ์ฯ  ใครจะชนะ”
 
จากข้างต้นจึงน่าสนใจว่า ชุมชน/สังคมที่ตั้งอยู่บนฐานของศาสนาและชาติพันธุ์ที่มีลักษณะเฉพาะ ได้เปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างไร กับสิ่งที่เรียกว่า ประชาธิปไตย ที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุมชนที่มีฐานทรัพยากรซึ่งเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมโทรม ประชาธิปไตย ในความหมายความเข้าใจของผู้คน ดำรงอยู่และรับใช้ชุมชนอย่างไร คนกลุ่มต่างๆ มีการปรับตัวอย่างไร จึงสามารถดำรงบทบาทสำคัญทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น