รถไฟสายคนรุ่นใหม่ออกเดินทางจากสถานีบางกอกน้อยสู่ห้องเรียนธรรมชาติโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก จ.กาญจนบุรี นำเด็กและเยาวชนไปเรียนรู้ตนเอง รู้จักผู้อื่น เคารพความหลากหลาย เพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยสถานการณ์ทางสังคมของประเทศไทยอยู่ในช่วงสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่นและระดับชาติที่เกิดจากความกดดันของปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจและร่างกายของประชาชน ทั้งในระดับปัจเจกครอบครัวกลุ่ม และองค์กรที่ยังไม่สามารถหาทางแก้ไขได้ด้วยระยะเวลาอันสั้นซึ่งต้องใช้เวลาและการทำงานอย่างบูรณาการของหลายภาคส่วนอย่างต่อเนื่องและมีพลัง
พลังสำคัญจึงอยู่ที่การพัฒนาคุณภาพของ“เด็กและเยาวชน” ซึ่งเป็นทรัพยากรอันมีค่าในการพัฒนาประเทศโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมรุ่น 2 โดยมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ซึ่งมีความเชื่อมั่นในพลังของคนรุ่นใหม่ที่ตื่นรู้ให้ความสำคัญต่อการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับกลุ่มต่างๆ ทางสังคม ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายในบทบาทของเพศ วัย ความคิด ความเชื่อและประสบการณ์การสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จึงคัดสรรและรวบรวมผู้นำเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีพลัง มีความกระตือรือร้น สนใจ และต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างสรรค์สังคมเพื่อพัฒนาศักยภาพให้กลายเป็นผู้นำเยาวชนที่มีความเข้าใจในประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะที่ดีของเด็กและเยาวชนและสังคม โดยรวมให้เป็นผู้นำเยาวชนที่พร้อมนำการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ด้วยความคิดและความเชื่อมั่นในพลังคนหนุ่มสาว มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มอส. ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. เปิดพื้นที่ให้มีเวทีการรวมตัวเพื่อสร้างปฏิบัติการเคลื่อนไหวและทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนประเด็นสังคมสุขภาวะสู่สังคมวงกว้างให้เข้าใจและร่วมสร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขเป็นธรรมและสันติ
น.ส.สุภาวดี เพชรรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กล่าวว่า 34 ปี ที่ มอส. ได้ทำงานเปิดพื้นที่เสริมสร้างคนหนุ่มสาว เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมที่เป็นธรรม เท่าเทียม สันติ จึงเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า พลังคนรุ่นใหม่จะนำสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ใน 3 ประเด็น คือ 1. หัวใจ เมื่อไรก็ตามที่มีสำนึกและมีหัวใจการทำงานเพื่อสังคม ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถที่จะงอกงามได้ 2. ความรู้ ในเชิงวิเคราะห์ สังเคราะห์ เข้าใจประเด็นปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม เช่น คนยากจน และ 3.การปฏิบัติ แค่หัวใจและความรู้ยังไม่พอต้องเป็นนักปฏิบัติการทางสังคมด้วย เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะฉะนั้นกระบวนการเรียนรู้จึงเป็นการเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ด้วยการเปิดพื้นที่เสริมสร้างคนหนุ่มสาวใน 2 ระดับ คือ 1. ระดับประเทศ จัดทำโครงการอาสาสมัครแบบเต็มเวลาและไม่เต็มเวลา เช่น โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม รุ่น 2 โดยรุ่นที่ 1 ได้แกนนำ 38 คน ซึ่งลงไปขยายการทำงานกับกลุ่มเยาวชน จำนวน 1,270 คน จากทุกภาคของประเทศในประเด็นต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อมสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธ์ยาเสพติดเรื่องสุขภาพทางเพศเป็นต้นและเพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปอย่างมีพลังและมีประสิทธิภาพจึงต้องมีการทำงานกับคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องในรุ่นที่ 2 ซึ่งมีเด็กและเยาวชนสมัครเข้าร่วม จำนวน 42 คน 2. พื้นที่ปฏิบัติการในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คือโครงการประสานความร่วมมือเพื่อคนรุ่นใหม่ลุ่มน้ำโขงเปิดพื้นที่พาคนรุ่นใหม่เรียนรู้ข้ามพรหมแดนไปรู้จักประเทศเพื่อนบ้าน เพราะพลังของคนหนุ่มสาวในวันนี้ทำในประเทศอย่างเดียวไม่พอ จะต้องข้ามพรหมแดนเป็นขบวนการเรียนรู้ที่นำการแก้ไขอย่างรอบด้าน เกิดดอกออกผลไปยังประเทศต่างๆ ในลุ่มน้ำโขงและอาเซียน เด็กและเยาวชนเป็นพลังที่สำคัญ ซึ่งต้องขับเคลื่อนร่วมกันคนหลายรุ่นในสังคมที่ท้าทาย
ผู้ใหญ่ใจดีขอร่วมขบวน นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. เผยว่าด้วยบทบาทและพันธกิจในการจุดประกายกระตุ้นสานและเสริมพลังบุคคลและองค์กรทุกภาคส่วนให้มีขีดความสามารถและสร้างสรรค์ระบบสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ ซึ่งกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ เพราะเด็กทุกคนมีความเก่ง ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะทำให้เด็กและเยาวชนมาเจอกัน นำความเก่ง ประสบการณ์ ความรู้ ความหลากหลายของการทำงานที่เป็นของดีของตนเองมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้บ่มเพาะประสบการณ์กับเพื่อนๆ เพื่อนำความรู้กลับไปช่วยพื้นที่ของตนเองได้ โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมจึงตอบโจทย์ได้ตรงที่สุดในการเสริมสร้างศักยภาพคนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพในหลากหลายมิติเพื่อเป็นพลังสำคัญในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรมร่วมกับคนรุ่นต่างๆ ในสังคม
“พี่แฟ้บ” น.ส.บุปผาทิพย์ แช่มนิล ผู้ก่อตั้งกลุ่มรักษ์เขาชะเมา ตัวอย่างของเด็กที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้มีตัวตน เล่าว่า ย้อนเวลากลับไปประมาณ 20 ปี สมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่สนใจปริญญาไม่เรียนหนังสือ ใช้ชีวิตกับค่ายอาสามาตลอด เพราะรู้สึกว่ากิจกรรมค่ายในมหาวิทยาลัยคือคำตอบ เป็นห้องเรียนใหญ่ๆ ของชีวิตที่ทำให้มองเห็นสังคม ปัญหา ทางออกและคิดว่าถ้าหากเริ่มจากตนเองจะเริ่มจากอะไร ดังนั้น ปี 2537 กลุ่มรักษ์เขาชะเมาจึงเกิดขึ้นจากความฝันของหญิงสาว 2 คน ไม่ต่างจากน้องๆ ที่มีความฝันเหมือนพวกเราว่าจะกลับไปอยู่บ้านของตนเอง กลับไปทำอะไรเล็กๆ ไปสร้างพื้นที่ให้มีตัวตนในชุมชนบ่มเพาะเด็กและเยาวชนที่บ้านเกิด จนมีผลผลิตเด็กและเยาวชนหลายคนที่เติบโตขึ้นมาสร้างคุณค่าในพื้นที่ ในฐานะคนที่เดินมาก่อนก็ยังเชื่อว่าคนรุ่นใหม่คือพลัง คืออาวุธสามารถไปสร้างโลกที่เราต้องการได้จริง เมื่อมองมาข้างหน้าเห็นคนหนุ่มสาว 40 - 50 คน กลับไปทำพื้นที่ของตนเองให้งอกงาม โลกของเราก็ย่อมจะดีขึ้นอย่างแน่นอน
ขณะที่ “น้องรุท” นายอนิรุทร์ มูลวันดี นักศึกษาปี 4 สาขาการพัฒนาชุมชน ม.มหาสารคาม เล่าว่า ผู้ใหญ่มักตั้งความหวังไว้ว่าเด็กและเยาวชนคืออนาคตของชาติ เพราะเห็นว่าคนรุ่นใหม่มีความสามารถหลายด้านและมีกำลังที่จะช่วยกันขับเคลื่อนทั้งงานพัฒนาและงานวิชาการได้ แต่สิ่งที่ตั้งความหวังกับโครงสร้างสังคมไม่สอดรับกัน เพราะผู้ใหญ่ แม้กระทั่งครู อาจารย์ ก็ไม่เปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นของเด็กนี่คือปัญหาสำคัญ เมื่อบอกว่าเด็กคืออนาคตของชาติแล้วทำไมปิดกั้นให้อยู่ในกรอบขีดเส้นให้เดินไม่ให้เด็กแวะข้างทาง ซึ่งการเปิดโอกาสให้เด็กแวะข้างทางบ้าง ถือเป็นประสบการณ์ได้เรียนรู้ได้เห็นจริง หัดตั้งคำถามและข้อสงสัย การหลงทางไปบ้างก็มีข้อดีในตัว ซึ่งอาจจะพบทางออกเหมือนกับตนเองที่เดิมตั้งธงไว้ว่าจะเรียนสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อเรียนแล้วกับพบทางตัน จึงได้เลือกทางเดินใหม่ โดยเริ่มจากตนเองแล้วไปปรึกษาพ่อแม่ จนในที่สุดก็ได้เรียนสาขาพัฒนาชุมชนที่ตนเองชอบ เพราะเป็นคนที่ชอบช่วยเหลือสังคมเห็นคนทุกข์ จะให้ยืนดูเฉยๆ ก็คงไม่ใช่ เพราะเราก็เป็นคนหนึ่งในสังคม อยากจะช่วยในฐานะที่เรียนรู้มา ไม่ใช่จบก็มุ่งไปในทางของตนเอง โดยไม่หันกลับไปมองพื้นเพของตนเองที่เดินขึ้นมา ดังนั้น เมื่อเรียนแล้วจะต้องกลับไปรับใช้ชุมชน สังคม เป้าหมายของชีวิตตั้งใจจะทำงานด้านสังคม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะนานวันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมยิ่งมากขึ้นทุกวันนี้สิ่งแดล้อม พลังงานที่อยู่ใต้พื้นดิน การขุดแต่ละครั้งนอกจากคำนวณมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้วควรจะมีการคำนวณมูลค่าของชีวิตผู้คนและสิ่งแวดล้อมด้วยเพราะเป็นผลกระทบในวงกว้าง ดังนั้น การเข้าร่วมโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมรุ่น 2 น่าจะช่วยได้มากในการเติมต่อกระบวนการทำงานกับพื้นที่ได้จริง
“ชีวิตเกิดมาโชคดี เป็นเด็กเรียนเก่ง ชอบวิทยาศาสตร์ถึงขั้นหมกมุ่น ชีวิตมีแต่การเรียนอย่างเดียว ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่เมื่อโตขึ้นก็พบคำตอบว่า การเรียนเก่งไม่ใช่จุดมุ่งหมายที่จะทำให้เรามีความสุข รู้สึกผิดเล็กๆเมื่อเห็นคนอื่นทุกข์จึงอยากลองทำอะไรให้สังคมบ้าง จุดเริ่มในการเปลี่ยนความคิดที่จะทำเพื่อสังคม เกิดจาก 2 คน ที่เป็นแรงบันดาลใจ คนแรกเป็นรุ่นพี่เห็นในมือของรุ่นพี่ถือหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ a day ก็เกิดความสงสัยว่าคือหนังสืออะไรจึงไปซื้อมาอ่าน เมื่ออ่านแล้วรู้สึกชอบเพราะเป็นหนังสือแนวการปลูกฝังจิตสำนึกทางสังคม ได้เห็นมุมมองสังคมด้านอื่นบ้างก็อ่านมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ ม.5 คนที่สองเป็นรุ่นน้องที่มีความมุ่งมั่นมากทำโครงการเกี่ยวกับการสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้คนอื่นเข้าใจได้ง่าย เป็นตัวตั้งตัวตีในการทำ ไปชวนใครก็ไม่มีใครมาช่วยแต่ก็ยังทำอยู่ จนไปถามว่าเพราะอะไรทำคนเดียวไม่เหนื่อยหรือ น้องจึงเล่านิทานเรื่อง “ลุงเก็บปลาดาว” ให้ฟังว่า มีนักท่องเที่ยวเดินไปริมชายหาด ซึ่งมีปลาดาวลอยขึ้นมาเต็มหาดกำลังถูกแดดเผา และเห็นลุงคนหนึ่งกำลังจับปลาโยนกลับคืนไปในทะเลเพื่อให้มีชีวิตรอด นักท่องเที่ยวก็ถามลุงว่าจะโยนปลาดาวลงไปทำไมทีละตัว สองตัว ไม่มีประโยชน์หรอก เพราะมีปลาดาวอีกเป็นล้านๆ ตัว ลุงจึงตอบนักท่องเที่ยวกลับไปว่าอย่างน้อยลุงก็ได้ช่วยชีวิตปลาตัวนี้ เมื่อฟังจบก็ได้คำตอบ ที่เป็นความจริงเรามัวแต่คิดช่วยเรื่องใหญ่ๆ แต่ความจริงการช่วยเหลือสังคมไม่จำเป็นต้องมองอะไรที่ใหญ่ อาจจะทำแค่เรื่องเล็กๆ แต่เราก็มีส่วนได้ช่วยสังคมแล้ว ซึ่งบางครั้งสิ่งเล็กๆ ที่ทำอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ได้เห็นแล้วทำตาม ก็จะมีคนมาช่วยเก็บปลาดาวทั้งหมดก็ได้ และชอบคำพูดหนึ่งมากว่า อย่ามัวแต่ไปคิดว่าไม่เห็นมีใครมาช่วยเราเลย แต่หากเราสามารถทำตัวเองให้ชัดเจนพอ สร้างพื้นที่ของเราให้ชัดก็จะมีคนมาช่วยเราเองจึงเป็นคำตอบที่มาทำงานเพื่อสังคม”
“น้องบิ๊ว” น.ส.กชกร ความเจริญ นักศึกษา ชั้นปี 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ น้องบิ๊ว เล่าต่อว่า ไม่เคยเข้าร่วมโครงการ หรือกิจกรรมที่มีหลักสูตรที่ค่อนข้างหนักเหมือนโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่ เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมเลย ที่สมัครเข้ามาร่วม เพราะชอบรูปแบบแนวความคิดของโครงการทุกหลักสูตรทำให้ได้กระบวนการเรียนรู้เห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกัน และสร้างเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงร่วมกันได้จริง จึงมองสังคมที่เป็นอยู่ขณะนี้ แนวทางหนึ่งที่น่าจะนำไปเติมให้กับสังคมคือ การรับฟัง ถ้าเริ่มจากการฟัง หัดฟังคนอื่นอย่างตั้งใจ อย่ามีอคติ อีกฝ่ายจะเปิดใจพูดออกมาจากใจจริง เป็นการปะทะความคิดกันอย่างจริงใจหากทุกคนทำได้เชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้น
ร่วมสร้างและหนุนเสริมเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพ สร้างปฏิบัติการการเปลี่ยนแปลงสังคมในพื้นที่เพื่อเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติ
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่