ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ผู้ว่าฯ สงขลา เป็นประธานการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 ของ “บริษัท เชฟร่อน จำกัด” ในโครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย เพื่อรับฟังความคิดเห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดต่อสิ่งแวดล้อม และกำหนดแนวทางการแก้ไข
วันนี้ (25 พ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม CEO ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา นายธำรงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมของบริษัท เชฟรอน ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G7/50 (ระยะที่ 2) พร้อมร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับย่อ) โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา กองบังคับการตำรวจน้ำ ฐานทัพเรือสงขลา สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 สงขลา สำนักงานพลังงานจังหวัดสงขลา ฯลฯ เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการฯ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 ตามแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชน และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2549 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการฯ พร้อมรับฟังความคิดเห็นต่อการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และนำเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบ รวมทั้งมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพของโครงการฯ
ทั้งนี้ ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษาศึกษาดังกล่าว จะนำไปพิจารณาปรับปรุง และเพิ่มเติมในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ก่อนจัดส่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิเศษ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านพัฒนาปิโตรเลียม และระบบขนส่งทางท่อ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป สำหรับตำแหน่งหลุมเจาะสำรวจที่อยู่ใกล้ฝั่งมากที่สุด อยู่ห่างจากชายฝั่ง อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 152 กิโลเมตร และตำแหน่งหลุมเจาะสำรวจที่อยู่ใกล้เกาะมากที่สุด อยู่ห่างชายฝั่งเกาะกระไปทางทิศตะวันออกประมาณ 101 กิโลเมตร ที่ระดับความลึกประมาณ 70 เมตร ห่างจากจังหวัดสงขลา 174 กิโลเมตร
ทั้งนี้ ได้มีการเตรียมมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้แล้ว เช่น การกำหนดเขตปลอดภัยรัศมี 500 เมตรแก่เรือประมง การติดตั้งสัญญาณไฟบนแท่นเจาะ การใช้การเจาะแบบหลุมแคบ การใช้โคนเจาะที่มีความเป็นพิษต่ำ การปล่อยเศษหินที่ความลึกประมาณ 1-3 เมตร จากผิวน้ำ เพื่อให้เศษหินกระจายตัว และลดการสะสมของเศษหินที่พื้นทะเล ฯลฯ นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมหลังการขุดเจาะ ทั้งการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ลักษณะและคุณภาพตะกอนพื้นท้องทะเลอีกด้วย