ตรัง - เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ประมาณ 100 คน จัดกิจกรรมเดินก้าวแลกเพื่อแก้ปัญหาการตัดฟันต้นยางพารา และการดำเนินคดี พร้อมยื่นหนังสือ 2 ฉบับ ต่อประธานศูนย์ดำรงธรรม และนายกรัฐมนตรี
วานนี้ (17 พ.ย.) ณ อนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ จังหวัดตรัง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ซึ่งได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอนุรักษ์ และที่ดินสาธารณประโยชน์ทับซ้อนชุมชน ประมาณ 100 คน ได้รวมตัวกันเพื่อเดินรณรงค์ในกิจกรรม “หยุด 1+ 4 ยุติแผนแม่บทป่าไม้ สนับสนุนกฎหมายที่ดิน 4 ฉบับ”
โดยมีการเดินรณรงค์จากอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ไปยังศาลากลางจังหวัดตรัง ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ก่อนออกเดินได้มีการทำพิธีสักการะพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ซึ่งนำยางพารามาปลูกในจังหวัดตรัง ก่อนปี พ.ศ.2444
ทั้งนี้ ได้มีตัวแทนจังหวัดตรัง และ กอ.รมน. จ.ตรัง มาเจรจาไม่ให้เดินรณรงค์ แต่ทางเครือข่ายฯ ยืนยันว่า การเดินรณรงค์ในครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เป็นการเดินรณรงค์เพื่อแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน จะปฏิบัติตามกฎอัยการศึก และจะไม่ทำให้เกิดปัญหาต่อผู้สัญจร โดยจะเดินรณรงค์กระจายเป็นกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 4 คน ดังนั้น จึงได้รับอนุญาตให้เดินรณรงค์ต่อไปได้
ในเวลาประมาณ 13.00 น. เครือข่ายฯ ได้ออกเดินรณรงค์กลุ่มละไม่เกิน 4 คน โดยถือป้ายประมาณ 10 แผ่น มีข้อความ เช่น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด, ก้าวแลกเพื่อปฏิรูปที่ดินไทย, หยุด 1+4 หยุดแผนแม่บทฯ ป่าไม้ หนุนกฎหมาย 4 ฉบับ, ปัญหาและทางออกที่ดิน เป็นต้น ต่อมา เวลาประมาณ 13.30 น. เครือข่ายฯ ได้เดินรณรงค์มาถึงหน้าศาลากลางจังหวัดตรัง และได้ประสานงานให้ประธานศูนย์ดำรงธรรมมารับหนังสือ โดยนายนิพนธ์ ศิริธร ปลัดจังหวัดตรัง ในฐานะรักษาการประธานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรัง ได้มารับหนังสือจากตัวแทนเครือข่าย พร้อมกันนี้ ได้ยื่นหนังสืออีกฉบับต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านประธานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรัง
นายเลียบ เพชรสุด ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวต่อรักษาการประธานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรัง กล่าวว่า เมื่อต้นยางพารา ที่เป็นไม้ยืนต้น มีอายุ 25-30 ปี ก็จะให้น้ำยางน้อยลงมาก จำเป็นต้องตัดโค่นเพื่อปลูกใหม่ทดแทน พอโค่นแล้ว ป่ายาง หรือสวนสมรมที่มีไม้ยืนต้น (ยางพารา ไม้ผล ไม้ใช้สอย) พืชล้มลุก ผสมกับพืชคลุมดิน ก็จะถูกมองว่าเป็นการบุกรุกป่าใหม่ทันที แล้วเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็จะมาจับกุมดำเนินคดีอาญา บางรายก็ถูกเรียกค่าเสียหายทางแพ่งด้วย หากมีการปลูกต้นยางพาราใหม่ทดแทนแล้วก็จะมาตัดฟันให้ โดยคิดค่าบริการแบบบังคับ
ในขณะที่ คสช. มีคำสั่ง ฉบับที่ 66/2557 ระบุว่า “ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่” แต่ในทางปฏิบัติสมาชิกเครือข่ายฯ ในพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู ซึ่งเป็นผู้ยากไร้ กลับได้รับคำสั่งทางปกครองจากหัวหน้าอุทยานเขาปู่-เขาย่า ให้รื้อถอนสวนยางพารา และบ้าน จำนวน 3 ราย และดำเนินคดีอาญา ในชั้นอัยการ จำนวน 2 ราย ซึ่งเป็นสามีภรรยากัน
ดังนั้น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จึงมีข้อเรียกร้องต่อศูนย์ดำรงธรรม 4 ข้อ ดังนี้ 1. ประสานงานหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ให้ยุติการรื้อถอนพืชผลเกษตร และบ้าน สมาชิกบ้านทับเขือ-ปลักหมู จำนวน 3 ครอบครัว ได้แก่ นายสมคิด กันตังกุล, นายสนอง มะยุรี และ นางประภา สุขสำราญ พร้อมทั้งยุติการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา และแพ่ง
2.ประสานหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า และหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ให้ชะลอการรื้อถอนพืชผลเกษตร และบ้าน รวมทั้งชะลอการจับกุมดำเนินคดีสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ในระหว่างที่มีการเจรจากับรัฐบาล 3.ประสานงานอัยการจังหวัดตรัง ให้สั่งไม่ฟ้อง นายสมคิด กันตังกุล และนางสุทิศา นิคะ 4.สนับสนุนการรณรงค์ขับเคลื่อนร่างกฎหมาย (ที่ดินภาคประชาชน) 4 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า และ พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม
ด้านนายสมนึก พุฒนวล ตัวแทนเครือข่ายฯ ให้สัมภาษณ์ว่า กิจกรรมในวันนี้จัดขึ้นเพื่อผลักดันให้ทางจังหวัดเร่งแก้ปัญหาของเครือข่ายฯ ก่อนหน้านี้ ได้มาร้องเรียนจังหวัดตรัง และ รอง ผอ.รมน. จ.ตรัง หลายครั้ง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน จนถึงปัจจุบัน นับเป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งทางจังหวัดตรัง และ รอง ผอ.รมน. จ.ตรัง ได้รับฟัง และให้การช่วยเหลือ
แต่ยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติเท่าที่ควร นอกจากนี้ ต้องการสื่อสารต่อคนในเมืองตรังว่า แผนแม่บทป่าไม้ได้ทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนเดือดร้อน และปัญหาที่ดินสามารถแก้ได้หากมีการออกกฎหมาย 4 ฉบับ อีกทั้งต้องการส่งกำลังใจให้พี่น้องภาคเหนือ และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งมีการเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในวันนี้ ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากยื่นหนังสือ สมาชิกเครือข่ายฯ ได้ไปยื่นข้อเรียกร้องรายบุคคลที่ศูนย์ดำรงธรรมต่อไป และแยกย้ายกันกลับในเวลาประมาณ 15.30 น. ทั้งนี้ บรรยากาศในการเดินรณรงค์ การยื่นหนังสือหนังสือต่อประธานศูนย์ดำรงธรรม และการร้องเรียนรายบุคคล เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย ไม่มีมือที่ 3 มาสร้างสถานการณ์ และไม่มีเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจปราบจลาจลมาควบคุมสถานการณ์ ทั้งนี้ เนื่องจากทางเครือข่ายฯ ได้ขออนุญาตจัดกิจกรรมโดยมีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร และกิจกรรมดังกล่าวเป็นการเดินรณรงค์ระยะสั้น
ในส่วนข้อความในหนังสืออีกฉบับ ซึ่งทางเครือข่ายยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านประธานศูนย์ดำรงธรรม ระบุว่า “รัฐบาลชุดปัจจุบันได้มีนโยบายในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ แต่ในภาคปฏิบัติได้มีคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 และแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ ซึ่งมีเป้าหมาย “เพิ่มพื้นที่ป่าอย่างน้อย 40% ของพื้นที่ประเทศ หรือ 128 ล้านไร่ ภายใน 10 ปี” ส่งผลให้เจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการขับไล่ บุกยึด รื้อทำลายทรัพย์สิน และดำเนินคดีราษฎรที่อยู่อาศัย และทำกินในพื้นที่ป่า ทั้งๆ ที่ราษฎรอยู่อาศัย และทำกินในพื้นที่มาก่อนการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านเพียงพอว่า พื้นที่ดังกล่าวมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยหน่วยงานรัฐที่ผ่านมาอย่างไร อยู่ในขั้นตอนใด ไม่มีการแยกแยะว่าเข้าข่ายผู้บุกรุกรายใหญ่หรือไม่ ไม่เปิดโอกาสให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และร่วมตัดสินใจต่อการดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว
จากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ได้ร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเครือข่ายสันติศึกษา ซึ่งทั้ง 2 องค์กรได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีหนังสือถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติ หรือชะลอการปฏิบัติการในพื้นที่ตามแผนแม่บทฯ เอาไว้ก่อน และให้เริ่มต้นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการพิจารณา และตัดสินใจต่อแผนแม่บทฯ และแผนการปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บทฯ ดังกล่าว ดังนั้น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
1.พิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติ หรือชะลอการปฏิบัติการในพื้นที่ตามแผนแม่บทฯ เอาไว้ก่อน และให้เริ่มต้นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการพิจารณา และตัดสินใจต่อแผนแม่บทฯ และแผนการปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บทฯ ดังกล่าว 2.พิจารณาการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมอย่างเร่งด่วน 3.พิจารณาการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) อย่างเร่งด่วน