xs
xsm
sm
md
lg

“ตักศิลาเรือหัวโทงอันดามัน” อาจสิ้นสลายในยุคโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
“ASTVผู้จัดการภาคใต้” ลงพื้นที่บ้านคลองรั้ว ต.ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ บริเวณที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.กำหนดให้เป็นพื้นที่ก่อสร้างท่าเทียบเรือถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังการผลิตขนาด 870 เมกะวัตต์ ซึ่งถูกคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่ที่พึ่งพาทรัพยากรทางทะเลบริเวณนี้เป็นแหล่งทำมาหากินมาหลายชั่วอายุคน ทั้งด้านการประมง การท่องเที่ยว และเกษตรกรรม

พวกเขากังวลว่าผลกระทบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จากการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าจะก่อให้เกิดมลพิษทั้งในน้ำ ดิน และอากาศ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารจากพืช และสัตว์ไปสู่คน ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศ รวมทั้งการขนส่งถ่านหินยังทับซ้อนกับพื้นที่เดินเรือของชาวประมงขนาดเล็กที่หากินใกล้ชายฝั่ง ซึ่งเฉพาะ 4 หมู่บ้านของ ต.ตลิ่งชัน มีรายได้จากการทำประมงปีละกว่า 3,000 ล้านบาท รายได้นี้จะต้องสูญเสียไปอย่างแน่นอน

เมื่อการทำประมงเผชิญภาวะเสี่ยง อีกอาชีพหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบตามมาเป็นห่วงโซ่คือ อาชีพช่างต่อเรือ เป็นที่รับรู้กันว่า บ้านคลองรั้ว ถือเป็นตักศิลาสำหรับช่างต่อเรือหัวโทง ซึ่งเป็นเรือประมงที่ชาวประมงทางฝั่งอันดามันใช้ในการออกทะเลหาปลามานับหลายร้อยปี เรือชนิดนี้มีความโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ และเป็นภูมิปัญญาที่สร้างรายได้ให้แก่ช่างต่อเรือปีละเกือบ 10 ล้านบาทต่อคน ในขณะที่บ้านคลองรั้ว มีช่างชำนาญการต่อเรืออยู่กว่า 30 คน

โดยนายสุพัตร์ เชื้อทะเล เป็น 1 ในจำนวนช่างเหล่า เหตุใดอาชีพนี้จึงมีความสำคัญและเหตุใดพวกเขาจึงกังวลต่อผลกระทบที่จะตามมาจากโรงไฟฟ้า และท่าเรือถ่านหิน ทำความรู้จักกับช่างเรือหัวโทงบ้านคลองรั้วได้จากบทสัมภาษณ์และคลิปวิดีโอ

   


 
*** ช่วยเล่าความเป็นมาของการทำเรือหัวโทงให้ทราบหน่อยครับ

การต่อเรือของที่นี่มีมายาวนานกว่า 100 ปี ซึ่งตกทอดมาหลายชั่วอายุคน เนื่องจากเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม “เรือหัวโทง” เป็นเรือที่ชาวประมงพื้นบ้านทางภาคใต้ฝั่งอันดามันนิยมใช้เพราะมีลักษณะเป็นเรือหางยาว โดยเครื่องจะตั้งอยู่ส่วนท้าย ใช้ได้ดีกับพื้นที่ฝั่งอันดามันที่มีคลื่นมาก และเรือประเภทนี้ยังมีลักษณะเด่นตรงส่วนหัว โดยเรือหัวโทงที่ดีขั้นตอนการผลิตทุกอย่างต้องละเอียด พิถีพิถันทั้งลำ หัวเรือต้องเชิดสูงงอน

ผู้ที่มาสั่งทำเรือประเภทนี้มักจะอยู่ทางภาคใต้ ได้แก่ สตูล ตรัง ภูเก็ต กระบี่ พังงา ส่วนระนอง พอจะมีมาสั่งบ้างไม่มากเหมือนจังหวัดอื่นๆ

อาชีพการทำเรือหัวโทงทำมาแล้วกว่า 10 ปี สืบทอดมาจากพ่อที่เสียชีวิตไป ซึ่งตกทอดมากว่า 3 รุ่น ในการทำเรือหัวโทงจะไม่มีตำรา แต่จะอาศัยการเรียนรู้ ศึกษาด้วยตนเอง โดยจะใช้สมองในการจดจำเป็นการดูแล้วจำ เพื่อสั่งสมประสบการณ์

เรือหัวโทงที่ทำจะมีขนาดเล็กสุดอยู่ที่ 11 กง หรือประมาณ 3 เมตรกว่า จนไปถึง 14-15 เมตร ส่วนค่าจ้างในการทำเรือจะขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ เช่น หากขนาด 21 กง ค่าแรงจะอยู่ที่ประมาณ 25,000 บาทโดยคนที่มาสั่งทำจะนำไม้มาเอง และเรามีหน้าที่สร้างให้เป็นเรือ ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 10 วันต่อ 1 ลำ ไม้ที่ใช้ส่วนใหญ่คือ ไม้ชิง ไม้พะยอม ไม้กระถิน ไม้เทียม ในเวลา 1 เดือน สามารถจะทำเรือหัวโทงได้ประมาณ 3 ลำ ผมทำอาชีพนี้มาแล้ว 10 กว่าปี

 
*** วิธีการต่อเรือหัวโทงมันมีขั้นตอนอย่างไรบ้างครับ

ทำเรือหัวโทงนั้นจะเริ่มจากการเตรียมมาดเรือ หรือกระดูกงูโดยการขึ้นกระดาน และแต่งรูป เมื่อเสร็จก็ใส่กงที่ทำมาจากไม้เทียม หรือไม้พะยอม ใส่หัวเรือท้ายเรือด้านข้าง และท้องเรือ เมื่อใส่กงเสร็จก็ถอดของที่แต่งรูปออก พร้อมทำข้างบนกับส่วนท้าย และตอกหมันเรือก็เป็นอันเสร็จ

การทำเรือนั้นมีความยาก หากคนอื่นที่ไม่มีความรู้เดิมมาเรียนทำเรือต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะชำนาญพอที่จะทำเรือได้ เพราะการทำเรือหัวโทงมีขั้นตอนที่ยาก ต้องใช้ความประณีต พิถีพิถัน เพราะไม่มีแบบ

ปัจจุบัน เมื่อเทียบขนาดเรือหัวโทงกับในสมัยก่อน มีการพัฒนาให้ใหญ่ขึ้นมาก เนื่องจากในอดีตนั้นมีความกว้างประมาน 11 กง มีความกว้างของปากประมาณ 1.6 เมตร แต่ปัจจุบันมีความกว้างถึง 2 เมตรกว่า ขนาดของเรือจะยาวขึ้น

สาเหตุที่ชาวประมงนิยมใช้เรือขนาดใหญ่ขึ้น เพราะชาวประมงต้องการใช้เดินเรือเพื่อไปจับปลาในระยะทางที่ไกลกว่าเดิม จึงต้องใช้เครื่องยนต์เดินเรือที่ใหญ่ และแรงขึ้น เพื่อใช้บรรทุกของ อุปกรณ์จับปลา และสะดวกต่อการเดินเรือประมง ทั้งนี้ ทะเลมีความสมบูรณ์มากกว่าแต่ก่อน ชาวประมงจึงสามารถจับปลาได้ไกลกว่าเดิมที่เคยจับอยู่แค่ริมชายฝั่ง ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ราคาปลาก็สูงขึ้นตามไปด้วย

โดยคนที่จะมาประกอบอาชีพทำเรือนั้น ต้องมีความรักในงาน รักในอาชีพ และต้องใช้เวลาในการศึกษานาน รวมถึงอาจต้องอาศัยพรสวรรค์ส่วนตัวประกอบ

 
*** เรือที่ใช้ไม้ ดีกว่าเรือที่ทำมาจากไฟเบอร์อย่างไร

จากที่ชาวประมงได้ทดลองใช้มาแล้วพบว่า เรือไฟเบอร์จะไม่ขึ้นคลื่น แต่เรือไม้จะขึ้นคลื่นดีกว่า และเล่นคลื่นดีกว่า ซึ่งการออกไปทำประมงในพื้นที่ไกลๆ เรือไม้จะสามารถใช้งานได้ดีกว่า มีการเก็บรักษาที่ง่าย มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ซึ่งเคยพบว่าเรือไฟเบอร์หากเกิดอุบัติเหตุจะจมไปทันที แต่หากเป็นเรือไม้จะสามารถเกาะลอยตัวได้

 
*** ที่กังวลเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมีผลกระทบต่ออาชีพทำเรืออย่างไรบ้างครับ

จากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นมีผลกระทบมากต่ออาชีพนี้ เพราะหากชาวประมงออกจับปลาไม่ได้ แล้วช่างจะสร้างเรือไว้เพื่ออะไร หรืออนาคตคงต้องเข้าเป็นพิพิธภัณฑ์ (หัวเราะ) เพราะที่สามารถอยู่ได้จากรุ่นปู่ย่ามาถึงปัจจุบัน ก็เพราะประกอบอาชีพทำเรือ

วอนรัฐบาลเห็นใจชาวบ้าน และชาวประมงที่ทำอาชีพเดินเรือจับสัตว์น้ำ เพราะหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีการขนถ่ายทางเรือ และเขตที่ใช้ขนถ่ายนั้น เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้เดินเรือทำการประมงออกจับปลาเพื่อเลี้ยงชีพ รัฐบาลควรหาทางออกที่ดีกว่านี้ ยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างมาก
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น