xs
xsm
sm
md
lg

“ภัยถ่านหินเปิดเผยแค่เศษเสี้ยว ทั่วโลกยังโกหกทั้งทางกฎหมายและงานวิจัย” เสียงจากนักวิจัยไทยรางวัลดีเด่นระดับโลก (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นนักวิจัยไทยคนแรกที่คว้ารางวัลชนะเลิศ (Grand Prize Winner) ในงานการประกวด the Prosper.Net-ScopusYoung Scientist Award in Sustainable De-velopment สาขา Sustainable Infrastruc-ture ณ มหาวิทยาลัยสหประชาชาติ ประจำปี 2012 ณ ประเทศญี่ปุ่น 

ทุกปีจะมีการมอบรางวัลนี้ให้แก่นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยรุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ทำงานวิจัยสนับสนุนต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการตัดสินจะพิจารณาจากจำนวนครั้งที่มีผู้อ้างถึงผลงานวิจัย (number of citations) จำนวนและคุณภาพของบทความวิจัย (number and quality of publications) และผลกระทบของงานวิจัยต่อสังคม (docu-mented social impact)

โดย ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้นำเสนอภาพรวมของโครงวิจัยการฟื้นฟูดินและน้ำใต้ดินปนเปื้อน (Ground-water and soil remediation) ที่ทำร่วมกับศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อแก้ปัญหาการปนเปื้อนสารอันตรายในดิน และน้ำใต้ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรม

ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ เป็นนักวิจัยไทยคนแรกที่ได้รางวัลนี้ โดยได้รับเงินรางวัลพร้อมทุนวิจัย เพื่อทำวิจัยร่วมที่ประเทศเยอรมนี ภายใต้ the Alexander vo Humboldt Foundation โดยมหาวิทยาลัยสหประชาชาติ (United Nation University) และสำนักพิมพ์ Elsevier ได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ และข่าวเพื่อเผยแพร่งานวิจัยที่ชนะการประกวดนี้ อันเป็นการแดสงถึงการยอมรับในผลงานของนักวิจัยไทยคนนี้

ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ.2554 ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับรางวัลผู้ชนะเลิศการประกวดข้อเสนอโครงการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้บริบท “การพัฒนาที่ยั่งยืน” โครงการการประเมินความเหมาะสมของการใช้อนุภาคนาโนของเหล็กประจุศูนย์ที่ถูกปรับปรุงด้วยโพลีเมอร์ร่วมกับการเหนี่ยวนำความร้อนทางแม่เหล็กไฟฟ้าในการเร่งฟื้นฟูน้ำใต้ดิน และดินในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่ปนเปื้อนด้วยมลสารอินทรีย์ระเหยที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ

เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ได้ลงพื้นที่โครงการก่อสร้างท่าเรือขนส่งถ่านหินเพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 870 เมกะวัตต์ โดยจะสร้างท่าเรือในพื้นที่บ้านคลองรั้ว ต.ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ และได้สัมภาษณ์ ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ถึงโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น ติดตามรายละเอียดได้จากบทสัมภาษณ์และคลิปวิดีโอนี้

*** การสร้างวาทกรรมที่เกี่ยวกับวัตถุอันตราย หรือถ่านหิน ที่เรียกว่าถ่านหินสะอาด กับระบบปิด เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในความปลอดภัย จริงๆ แล้วในทางวิศวกรรมศาสตร์สิ่งแวดล้อมมีความเป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร?

เรื่องนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ ถ่านหินสะอาด และระบบปิด เรื่องถ่านหินสะอาด หากจะพูดคงนึกถึงมลพิษ 4 ชนิด คือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ หรือน็อกซ์ และอานุภาคเล็กๆ ต่างๆ แต่จริงๆ แล้วในถ่านหินมีมลพิษมากกว่า 4 ชนิดนี้ เช่น โลหะหนัก ปรอท โพลีไซคลิก อะโรมาติกไฮโดร์คาร์บอน ไดออกซิน

ซึ่งไม่ว่าจะรู้จักในมุมมองมลพิษ 4 ชนิดนี้ หรือมากกว่า จะบอกว่าเป็นถ่านหินสะอาดก็ได้แต่ถูกต้องเพียงส่วนเดียว เพราะถ้าหากมองถึงมลพิษทั้งหมดที่สามารถปล่อยออกมาได้ ขอยืนยันว่ายังไม่มีถ่านหินสะอาด เพราะจากที่ได้ตรวจสอบเทคโนโลยี แม้ในต่างประเทศเองก็ยังไม่มีเทคโนโลยีถ่านหินแบบใดที่สามารถจัดการถ่านหินทั้งหมดได้มากในระดับที่เป็นการปกป้องสุขภาพ

*** ในความเป็นจริงควรมีรูปแบบในลักษณะใด?

ในต่างประเทศได้มีการกำหนดมาตรฐานการปล่อยปรอท โพลีไซไดออกซิน หรืออื่นๆ ว่าควรจะอยู่ในตัวเลขณะดับใดชัดเจน จากข้อมูลล่าสุดที่ได้รับคือ ในอีกประมาณ 30 ปีจากนี้ เทคโนโลยีจะสามารถพัฒนาไปถึงระดับนั้น และขณะนี้ยังคงไปไม่ถึง แต่ทุกฝ่ายก็ได้พยายามสุดความสามารถ

ด้านมลพิษที่กำหนดไว้ตามกฎหมายนั้นสามารถกำจัดได้แล้ว เหลือเพียงมลพิษอื่นๆ ที่นอกเหนือจาก 4 ชนิด ซึ่งไม่ได้กำหนดตามกฎหมาย หรือมลพิษที่ถูกปล่อยมาจากโรงงานยังไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมด

*** สรุปคือ มลพิษ 4 ชนิดหลักที่อาจารย์ได้กล่าวมาเราสามารถจัดการได้แล้ว เหลือเพียงชนิดอื่นซึ่งยังคงทำลายสุขภาพของมนุษย์ ก็ยังไม่หมดไปใช่หรือไม่?

ใช่ครับ เหลือแค่มลพิษที่ไม่ได้บัญญัติในกฎหมายเท่านั้น ซึ่งในต่างประเทศมีการออกกฎหมายที่พูดถึงมลพิษส่วนที่เหลือความยาวกว่า 20 ชนิด แต่ประเทศเรายังไม่มีกฎหมายลักษณะนี้ ด้านผู้เชี่ยวชาญหวังว่าผู้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะดำเนินการใส่มาตรการดังกล่าวไว้ในมาตรการ “EIA หรือ HIA” แต่หลายๆ ครั้งก็ยังไม่การเอ่ยถึงเรื่องนี้

เมื่อพูดถึงถ่านหินสะอาดก็เป็นการพูดถึงถ่านหินที่สามารถจัดการได้แล้ว ส่วนสิ่งที่กระทบต่อมนุษย์จริงๆ นั้นอาจยังไม่มีการกล่าวถึงทั้งหมด

*** ในอนาคตจะมี “โครงการ” ที่แก้ปัญหาผลกระทบจากสารพิษต่างๆ ที่เกิดจากการใช้ถ่านหินได้อย่าง ครอบคลุมทั้งหมดหรือไม่?

จากหลายโครงการที่ผ่านมา เรื่องถ่านหิน มักไม่มีการพูดถึงมลพิษที่อื่นๆ นอกเหนือจากเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดเพียง 4 ชนิดหลัก ซึ่งตอนนี้ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด

ตามจริงหากมีการกำหนดขึ้นแล้วบัญญัติไว้ในกฎหมายเหมือนต่างประเทศ ก็จะเป็นการบังคับให้ผู้ประกอบการหันมาใส่ใจเรื่องถ่านหินเอง ทั้งนี้ มีการกำหนดขึ้นเพียง 4 ชนิด ก็เลยให้ความใส่ใจแค่ 4 ชนิด

*** เคยมีงานวิจัยที่ กรีนพีซ (Greenpeace) จัดทำขึ้น แล้วเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรีนพีซเรื่องถ่านหินสะอาด ระบุไว้ว่า “สามารถทำได้จริงโดยการใช้เทคโนโลยีค่อนข้างสูง และเงินทุนสูงมาก จนอเมริกาถึงขั้นยกเลิกโครงการดังกล่าวไป เพราะเมื่อนำมาใช้งานจริงผลที่ได้รับไม่คุ้มค่า” จากประเด็นนี้อาจารย์มีข้อคิดเห็นอย่างไรบ้าง?

ผมยังไม่ได้ศึกษาเรื่องของกรีนพีซโดยละเอียด แต่จากข้อมูลที่ทราบมาคือ ยังต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีอีกจำนวนมากกว่าถ่านหินจะสะอาดจริงๆ เมื่อเปรียบเทียบกับมลพิษทุกชนิด ดังนั้น ในตอนนี้จึงทำได้แค่ใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการจัดการ จากหลายโครงการที่ทราบข้อมูลยังไม่มีการนำเทคโนโลยีที่ใช้กำจัดมลพิษนอกเหนือจาก 4 ชนิด นี้มาใช้ในประเทศไทย

*** คำว่า “ระบบปิด” ในส่วนของ เรือบาสก์ หรือ เรือบรรทุกถ่านหินที่มีลักษณะแบน และเปิดโล่งมองเห็นถ่านหิน แต่ที่ทาง “กฟผ. (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย)” จะนำมาบรรทุกถ่านหิน ที่ท่าเรือคลองรั้ว อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ บอกว่าเป็นเรือชนิดที่มีฝาปิด และท่อลำเลียงที่เป็นระบบปิดทั้งหมด หากเป็นเรือบรรทุกชนิดนี้ ถ่านหินจะอยู่ในลักษณะดังกล่าวได้หรือไม่ และมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด?

จากความเข้าใจผมคิดว่า ระบบปิดในที่นี้คือ ระบบปิดในการลำเลียงเมื่อสัมผัสกับอากาศ ซึ่งหากถามว่าบรรทุกถ่านหินได้หรือไม่ คงตอบว่าได้ แต่ในการจัดการจะต้องมีการล้างสายพาน หรือส่วนอื่นๆ อีกมาก ซึ่งอาจมีน้ำหรือ สิ่งอื่นรั่วไหลออกมา หากเป็นเช่นนี้จะไม่เรียกว่าระบบปิดซะทีเดียว ทั้งสิ้นก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณในการมอง

*** ในเรื่องความปลอดภัยของระบบปิด ประชาชนควรสร้างความเข้าใจอีกมากน้อยเพียงใด?

ควรมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ เจ้าของโครงการ หรือ NGOs มาให้ข้อมูลกับประชาชน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิให้การตัดสินใจบนฐานข้อมูลจริงที่มี เพื่อขจัดปัญหาความระแวง หรือไม่ไว้วางใจของประชาชน

*** จากคำพูดที่ว่า เรื่องของถ่านหินมีส่วนที่เป็นความจริงแค่ 50% หมายความว่าอย่างไร?

จากการสัมผัสเรื่องถ่านหินมาจากหลายพื้นที่ จะมีการพูดเรื่องของถ่านหินเพียงด้านเดียวคือ ด้านประโยชน์ หรือด้านดี มากกว่าการพูดถึงข้อเสีย หรือหากพูดก็จะพูดเพียงเล็กน้อยซึ่งผมคิดว่าวิธีการแบบนี้เป็นการสร้างความหวาดระแวงให้ประชาชน ดังนั้น ควรพูดความจริงทั้งหมด และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ ผลที่ได้รับอาจจะดีกว่าในปัจจุบันก็ได้

*** จากประสบการณ์การเป็นอาจารย์สอนด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มีความคิดเห็นอย่างไรต่อโรงไฟฟ้าถ่านหินกับทะเลอันดามัน

พิจารณาจากพื้นที่ในเบื้องต้นก็มีข้อดีของการก่อตั้งถ่านหิน เพราะใกล้บริเวณที่มีน้ำ และสะดวกต่อการขนส่ง แต่ด้านของผลกระทบก็มีไม่น้อยเช่นกัน ทั้งด้านการประมง และพื้นที่ชุ่มน้ำ หากมองด้านธุรกิจถือว่าเหมาะสม แต่หากมองด้านสิ่งแวดล้อมคงไม่เหมาะสมเพราะอาจได้รับผลกระทบพอสมควร

*** อาจารย์ได้มองเรื่องการท่องเที่ยวเมืองกระบี่ ด้วยหรือไม่?

จากที่ทราบมา กระทบต่อการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก และการท่องเที่ยวถือเป็นอีกฝ่ายที่ออกมาคัดค้าน นอกเหนือจากชาวประมง

*** อยากจะฝากอะไรถึงประชาชนชาวกระบี่หรือคนในประเทศไทย เรื่องของถ่านหินซึ่งมีการอ้างว่าเป็นพลังงานที่คุ้มค่าหากนำมาใช้ในตอนนี้?

ควรนำเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาใช้ เลือกทำเลที่เหมาะสม เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ทุกคนในพื้นที่ยอมรับได้ และควรให้องค์ความรู้ต่อประชาชนอย่างทั่วถึงเพื่อการตัดสินในบนฐานข้อมูลจริง

สุดท้ายขอฝากเรื่องพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีความสะอาดมากกว่า และสามารถให้ไฟฟ้าได้เหมือนกัน ด้านจังหวัดกระบี่ หรือหลายๆ จังหวัดก็มีการพูดชัดว่าไม่ได้ต่อต้านโรงงานไฟฟ้า เพียงแค่ต้องการพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาด ซึ่งหากในประเทศไทยมีทิศทางนโยบายที่ผลักดันในด้านนี้ ถ่านหินก็ไม่มีความจำเป็น หรือแม้กระทั่งการพึ่งพาน้ำมัน ก็อาจจำเป็นน้อยลง ควรเป็นทิศทางที่เริ่มตั้งแต่วันนี้เพื่อที่ในอนาคตจะไม่ประสบปัญหาเรื่องถ่านหิน หรือพลังงานอื่นๆ

*** ในความจริงสิ่งที่ภาครัฐนำมาอ้างคือ พลังงานไฟฟ้าจะมีไม่เพียงพอ เป็นเพราะมัวคิดเพียงพลังงานฟอสซิลเรื่องเดียวหรือไม่? เพราะหากนำแนวคิดพลังงานสีเขียวมาใช้ก็สามารถทำได้เหมือนกัน

พลังงานไฟฟ้า เป็นเรื่องของการวางแผน รวมทั้งทิศทางของนโยบาย หากคิดถูก วางถูก ผลักดันในทิศทางที่ถูกต้อง และมีศักยภาพในการกำหนดพื้นที่ที่ชัดเจน ก็สามารถทำได้โดยมีศักยภาพ และไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงวัตถุดิบที่อันตราย หรือเชื้อเพลิงใดๆ

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น