xs
xsm
sm
md
lg

ชาวปกาสัย จ.กระบี่ ยื่นหนังสือ นอภ.จี้เลิกเวที ค.3 ยุติโครงการสร้างท่าเทียบเรือขนถ่านหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวบ้านปกาสัย จ.กระบี่ กว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือต่อนายอำเภอเหนือคลอง จี้ยกเลิกเวที ค.3 ระดมความเห็นสร้างท่าเทียบเรือขนถ่านหิน หลังเวทีระดมความเห็น ค.1-ค.2 ผ่านอย่างมีเงื่อนงำ ย้ำโรงฟ้าถ่านหินสวนทางวิสัยทัศน์ “กระบี่เมืองสีเขียว” แนะดูตัวอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ

วันนี้ (19 ก.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. ที่อำเภอเหนือคลอง ชาวบ้าน ต.ปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ จำนวนประมาณ 30 คน ได้เข้าพบ ว่าที่ ร.ต.วิกรม จากที่ นายอำเภอเหนือคลอง พร้อมทั้งยื่นหนังสือขอให้ระงับการจัดทำเวทีประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 3 (ค.3) โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัททีม คอลซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษา จะจัดขึ้นในวันที่ 28 กันยายน 2557

หนังสือดังกล่าวระบุว่า เนื่องจากการจัดทำเวทีประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ผ่านมา คือ ครั้งที่ 2 (ค.2) ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้แสดงความคิดเห็น และสอบถามข้อกังวลของโครงการแต่ประการใด แต่บริษัทเลือกใช้วิธีลงพื้นที่พบปะผู้นำบางส่วน และร่วมกิจกรรมในชุมชน แล้วถ่ายรูปพร้อมลายมือชื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม แต่ไม่ได้บอกความจริงว่ามาเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นกลุ่มย่อย ซึ่งสอบถามผู้นำหมู่บ้าน และชุมชนก็ไม่รู้ว่าการที่ กฟผ. และบริษัทที่ปรึกษา ลงพื้นที่มาชวนพูดคุยนั่นคือการทำ ค.2 และ กฟผ. จะลงพื้นที่เฉพาะกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับโครงการเท่านั้น กระบวนการดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ทาง กฟผ. ก็ประกาศว่าการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2 (ค.2) ผ่านไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางชุมชนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของ กฟผ. และบริษัทที่ปรึกษา ละเมิดสิทธิของชุมชน อีกทั้งไม่ถูกต้องตามระเบียบ และกฎหมาย ขาดความโปร่งใส ขาดความชอบธรรม และขาดหลักธรรมาภิบาลอย่างรุนแรง

นายสัมศักดิ์ นบนอบ ตัวแทนกลุ่มพิทักษ์ปกาสัย กล่าวว่า จังหวัดกระบี่ เป็นจังหวัดที่มีธรรมชาติที่สมบูรณ์ โดยปากแม่น้ำกระบี่ได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญาแรมซ่าร์ (Ramsar Site) ในส่วนวิสัยทัศน์ของจังหวัดกระบี่ กำหนดให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือ “กระบี่เมืองสีเขียว” (Krabi Greencity) ซึ่งการนำถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ เป็นการสวนทางวิสัยทัศน์ของจังหวัดกระบี่ เนื่องจากถ่านหินมีพิษภัยต่อชีวิต และสิ่งแวดล้อมมากมายเหลือเกิน และสุดจะยับยั้งได้ เห็นได้จากในหลายประเทศมีปัญหากับถ่านหิน เช่น ประเทศจีน ส่วนในประเทศไทยก็ได้รับบทเรียนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ

“เราขอเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการทั้งหมด ภายใต้โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ทั้งโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ซึ่งคณะกรรมาธิการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา ได้วินิจฉัยไว้ว่าทั้ง 2 โครงการไม่อาจแบ่งแยกกันได้ เพราะฉะนั้นการแบ่งแยกกันรับฟังความคิดเห็น ทำให้ความรู้ที่ประมวลข้อกังวลของผู้ที่มีผลกระทบทั้งตัวโรงไฟฟ้า และท่าเทียบเรือไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะส่งผลให้โครงการมีปัญหาในอนาคต” นายสมศักดิ์ กล่าว


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น