xs
xsm
sm
md
lg

ชวนชิมขนมเดือนสิบเงินล้าน! ของหรอยเมืองตรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
งานบุญเดือนสิบ เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวปักษ์ใต้ หรือที่นิยมกันเรียกว่า วันชิงเปรต เพราะเป็นวันที่ยมบาลเปิดนรกปล่อยเปรตชนลงมาเยี่ยมลูกหลาน โดยเริ่มจากวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ ซึ่งชาวบ้านจะจัดสำรับอาหารคาวหวานไปทำบุญที่วัด หรือเรียกว่า บุญรับเปรต จากนั้น ในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ชาวบ้านจะจัดเตรียมหมรับ หรือที่ชาวตรังเรียกว่า จาด เพื่อใส่ของแห้งและขนมพื้นบ้าน เช่น ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมเบซำ ขนมต้ม ขนมเทียน แล้วนำไปประกอบพิธีที่วัด เป็นการเลี้ยงส่งเปรตชนกลับยมโลก
 

 
เมื่อกล่าวถึงขนมที่ใช้ทำบุญเดือนสิบ ก็ต้องเป็นไปตามตามเชื่อ และภูมิปัญญาพื้นบ้าน อย่างขนมพอง หมายถึงแพ สำหรับผู้ล่วงลับใช้เดินทาง ขนมลา หมายถึงเครื่องนุ่งห่ม เสื้อ ผ้า ขนมรู หรือขนมเบซำ หมายถึงเงิน (เบี้ยรู) ขนมบ้า หมายถึงลูกสะบ้า เพื่อให้ผู้ล่วงลับไปใช้เล่นกัน แต่ใครจะรู้หรือไม่ว่า ขนมเดือนสิบเหล่านี้ โดยเฉพาะขนมพอง-ลา ในปีหนึ่งๆ สามารถสร้างเงินล้านได้เลยทีเดียว

 
นางยินดี ฤทธิฉิม หรือคุณยายดี วัย 68 ปี ชาวชุมชนบ้านกลาง ตำบลนาโยงเหนือ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง บอกว่า ตนได้รับองค์ความรู้การทำขนมพอง-ลา จากพ่อแม่ แล้วสอนต่อกันมาเป็นรุ่นๆ ซึ่งเดิมจะทำขายกันเฉพาะในช่วงงานบุญเดือนสิบ หรือประมาณเดือนตุลาคม แต่เกรงว่าภูมิปัญญาพื้นบ้านเหล่านี้จะสูญหายไป จึงได้มาปรึกษากับ กศน.อำเภอนาโยง เพื่อหาทางสืบสาน จนเป็นที่มาของการจัดตั้งกลุ่มอาชีพการทำขนมไทยพื้นบ้าน โดยใช้พื้นที่บ้านพักเก่าซึ่งร้างแล้วเป็นจุดเริ่มต้นของการทำขนมพอง-ลา

 
ในระยะแรกมีชาวบ้านให้ความสนใจมารวมกลุ่มแค่ 15 คน ซึ่งจะทำขนมไทยพื้นบ้านชนิดต่างๆ ไปขาย เมื่อได้เงินมาก็แบ่งให้สมาชิก และเก็บไว้ซื้อของในการทำขนมครั้งต่อไป กระทั่งผ่านมา 5 ปี การถ่ายทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านเหล่านี้ก็เติบโตเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ และมีชาวบ้านให้ความสนใจมาเป็นสมาชิกทำขนมไทยพื้นบ้านหลากชนิดมากขึ้น เช่น ข้าวต้มมัด ขนมหม้อแกง ข้าวเหนียวกวน นอกเหนือไปจากขนมพอง-ลา เพียงอย่างเดียว ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าภาพงานแต่ง งานบวช งานศพ และงานประชุม

 
อย่างไรก็ตาม การทำขนมเดือนสิบ จะมีการเตรียมงานค่อนข้างนาน เพื่อให้ครบตามความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะขนมพอง-ลา ที่ผลิตขึ้นมาปีละ 2-3 แสนชิ้นกันเลยทีเดียว อย่างขนมพอง ต้องเอาข้าวเหนียวมานึ่งให้สุก แล้วผสมกับสีผสมอาหาร จากนั้นนำไปอัดกับพิมพ์ และตากแดดจนแห้งสนิท ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ต้องทำแบบข้ามปี ส่วนขนมลา จะเริ่มทำตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน มี 2 แบบคือ ขนมลาเกาะ กับขนมลาเช็ด ขณะที่ขนมเบซำ และขนมบ้า ก็ต้องทยอยทำกันตามยอดที่ลูกค้าสั่ง แต่ปีละไม่ต่ำกว่าแสนๆ ลูก

 
คุณยายดี ย้ำว่า แม้ขนมพื้นบ้านเหล่านี้ทางกลุ่มจะทำไว้ล่วงหน้าหลายเดือน แต่ยืนยันว่า ไม่เสีย ไม่เกิดเชื้อราแน่นอน เพราะมีเคล็ดลับที่ปู่ย่าตายายสอนๆ กันมา แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ ขนมเดือนสิบ สามารถสร้างเงินล้านได้อย่างไม่น่าเชื่อ เนื่องจากขนมพอง-ลา 1 ชุด ราคา 35 บาท จะประกอบไปด้วย ขนมพอง 2 ชิ้น ขนมลาเกาะ 2 ชิ้น และขนมลาเช็ด 1 ชิ้น ซึ่งขายได้ปีละไม่น้อยกว่า 1 หมื่นชุด โดยยังไม่นับรวมขนมบ้า ขนมเบซำ และอื่นๆ ซึ่งมีราคาถุงละ 20 บาท ซึ่งขายได้ปีละหลายหมื่นถุงอีกเช่นกัน

 
นางอธิชา รจนะ รอง ผอ.สำนักงาน กศน.จังหวัดตรัง มองถึงความสำเร็จของกลุ่มอาชีพการทำขนมไทยพื้นบ้าน ชุมชนบ้านกลาง ว่า เริ่มต้นมาจากการจัดตั้งในรูปแบบวิชาชีพ มีพัฒนากันมาเรื่อยๆ และมีภาคีเครือข่ายร่วมสนับสนุนการทำงาน โดยเฉพาะในปี 2556-2557 นี้ ได้ใช้งบประมาณตามโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนเพื่อการมีงานทำ เพื่อนำมาขยายการดำเนินงานของกลุ่ม และซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม

 
จนขณะนี้มีชาวบ้านให้ความสนใจมาร่วมกันกว่า 30 คนแล้ว ซึ่งทุกคนพึงพอใจ และมีความสุขในการมาทำงาน เพราะสามารถสร้างเงินให้แก่ตนเอง จนนำไปเลี้ยงครอบครัวในยามที่ราคายางพาราตกต่ำได้เป็นอย่างดี และจะมีการพัฒนากลุ่มขนมไทยพื้นบ้านแห่งนี้ ทั้งด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การตลาด หรือการจัดทำบัญชี เพื่อช่วยต่อลมหายใจภูมิปัญญาพื้นบ้านการทำขนมเดือนสิบ ชุมชนบ้านกลางให้คงอยู่ต่อไป






 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น