ตรัง - ชาวนาโยงเหนือ จ.ตรัง สืบสานการทำขนมบุญเดือนสิบ หรือ “วันชิงเปรต” ภูมิปัญญาพื้นบ้านของชาวปักษ์ใต้ดั้งเดิม จนสามารถสร้างรายได้นับล้าน มียอดขายปีละแสนๆ ชิ้น
วันนี้ (17 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวจังหวัดตรังรายงานว่า สำหรับงานบุญเดือนสิบ ถือเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวปักษ์ใต้ หรือที่นิยมกันเรียกว่า “วันชิงเปรต” เพราะเป็นวันที่ยมบาลเปิดนรกปล่อยเปรตชนลงมาเยี่ยมลูกหลาน ซึ่งชาวบ้านจะจัดเตรียมหมรับ หรือที่ชาวตรังเรียกว่า จาด เพื่อใส่ของแห้ง และขนมพื้นบ้าน เช่น ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมเบซำ ขนมต้ม ขนมเทียน แล้วนำไปประกอบพิธีที่วัด เป็นการเลี้ยงส่งเปรตชนกลับยมโลก
ทั้งนี้ ขนมบุญเดือนสิบ ต้องเป็นไปตามตามเชื่อ และภูมิปัญญาพื้นบ้าน 1.ขนมพอง หมายถึง แพ สำหรับผู้ล่วงลับใช้เดินทาง 2.ขนมลา หมายถึง เครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้า 3.ขนมรู หรือขนมเบซำ หมายถึง เงิน (เบี้ยรู) 4.ขนมบ้า หมายถึง ลูกสะบ้าเพื่อให้ผู้ล่วงลับไปใช้เล่นกัน ซึ่งจากการสำรวจพบว่า โดยเฉพาะในเขตตำบลนาโยงเหนือ อำเภอนาโยง ถือเป็นชุมชนใหญ่ที่สุดของจังหวัดตรัง ที่ยังคงมีการสืบทอดการทำขนมเดือนสิบ
ด้าน นางยินดี ฤทธิฉิม หรือคุณยายดี ประธานกลุ่มทำขนมบุญเดือนสิบชุมชนบ้านกลาง กล่าวว่า ตนได้รับองค์ความรู้การทำขนมพอง-ลา จากพ่อแม่ แล้วสอนต่อกันมาเป็นรุ่นๆ ซึ่งเดิมจะทำขายกันเฉพาะในช่วงงานบุญเดือนสิบ หรือประมาณเดือนตุลาคม แต่ต่อมาได้ร่วมกับ กศน.อำเภอนาโยง ทำการจัดตั้งกลุ่มอาชีพการทำขนมไทยพื้นบ้าน และเป็นจุดเริ่มต้นของการทำขนมพอง-ลา และขนมอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม การทำขนมบุญเดือนสิบ จะมีการเตรียมงานค่อนข้างนาน โดยเฉพาะขนมพอง-ลาที่ผลิตขึ้นมาปีละ 2-3 แสนชิ้น อย่างขนมพอง ต้องเอาข้าวเหนียวมานึ่งให้สุก แล้วผสมกับสีผสมอาหาร จากนั้นนำไปอัดกับพิมพ์ และตากแดดจนแห้งสนิท ส่วนขนมลา จะเริ่มทำตั้งแต่เดือนพฤษภาคม มี 2 แบบคือ ขนมลาเกาะ กับขนมลาเช็ด ขณะที่ขนมเบซำ และขนมบ้า ก็ต้องทยอยทำปีละไม่ต่ำกว่าแสนลูก
ขนมบุญเดือนสิบของทางกลุ่มแห่งนี้สามารถสร้างเงินล้านได้อย่างไม่น่าเชื่อ เนื่องจากขนมพอง-ลา 1 ชุด ราคา 35 บาท จะประกอบไปด้วย ขนมพอง 2 ชิ้น ขนมลาเกาะ 2 ชิ้น และขนมลาเช็ด 1 ชิ้น ซึ่งขายได้ปีละไม่น้อยกว่า 1 หมื่นชุด โดยยังไม่นับรวมขนมบ้า ขนมเบซำ และอื่นๆ ซึ่งมีราคาถุงละ 20 บาท ซึ่งขายได้ปีละหลายหมื่นถุงอีกเช่นกัน