กระบี่ - ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลกระบี่น้อย จ.กระบี่ หารายได้เสริม เคาะขนมลาด้วยวิธีแบบโบราณขาย ช่วงก่อนถึงประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบ สร้างรายได้เสริม
ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลกระบี่น้อย จ.กระบี่ กว่า 10 ครัวเรือน ใช้เวลาว่างหลังจากกรีดยางพารา และเก็บผลผลิตปาล์มน้ำมัน ทำขนมลา และขนมพอง ซึ่งเป็นขนมที่ใช้ในการประกอบพิธีวันสารทเดือนสิบ ประเพณีชาวไทยพุทธในพื้นที่ภาคใต้ ขายเป็นรายได้เสริม
นางละเมียด เจริญพร อายุ 54 ปี บ้านเลขที่ 36 ม.1 ต.กระบี่น้อย อ.เมือง จ.กระบี่ กล่าวว่า ขนมลากรอบแบบโบราณ ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าชนิด ที่เป็นหัวใจของการจัดหมับ หรือสำรับในประเพณีบุญสารทเดือนสิบ ที่ชาวไทยพุทธต่างต้องนำไปวัดเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา ในวันแรม 1 ค่ำเดือนสิบ และวันแรม 15 ค่ำเดือนสิบ ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานานหลายชั่วอายุคน
นางละเมียด กล่าวอีกว่า สำหรับการทำขนมลาของตน และเพื่อนบ้านในพื้นที่ ต.กระบี่น้อย ใช้วิธีการเคาะลาแบบสมัยโบราณ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากคนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่ และได้เกิดความคิดที่จะนำความรู้มาถ่ายทอดให้เยาวชนรุ่นหลังได้เห็น ได้รับรู้ถึงวิถีชีวิต และขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยพุทธ จึงรวมกลุ่มกับญาติพี่น้อง ร่วมกันเคาะขนมลาแบบโบราณ โดยการใช้กะลามะพร้าวเจาะรูเล็กๆ เป็นภาชนะที่ใช้สำหรับใส่แป้ง เพื่อเคาะแป้งให้เป็นเส้นเล็กๆ ทับซ้อนกันเป็นวงกลมลงในกระทะที่มีน้ำมัน ที่มีความร้อนพอเหมาะ ก่อนทีจะพับครึ่งให้ขนมออกมาเหมือนกับรูปครึ่งวงกลม
นางละเมียด กล่าวด้วยว่า นอกจากขนมลาแล้ว ก็ยังมีการทำขนมพอง ขั้นตอนไม่ยุ่งยากแต่ต้องใช้เวลานาน ในการทำพองนั้นเริ่มจากการนำข้าวเหนียวมาแช่น้ำประมาณ 5-10 ชั่วโมง ก่อนที่จะนำมานึ่งให้สุข แล้วก็นำข้าวเหนียวที่นึ่งมาเกลี่ยในวงกรอบที่ทำจากไม้ไผ่ ซึ่งแล้วแต่ละคนที่ทำว่าต้องการให้พองออกมาในรูปแบบไหน แต่ที่ทำกันส่วนใหญ่จะเป็นรูปวงกลม รูปสามเหลี่ยม และรูปสี่เหลี่ยมเปียกปูน หลังจากที่นำข้าวเหนียวมาเกลี่ยให้เป็นไปตามรูปแบบต่างๆ แล้ว ก็ต้องตากแดดเป็นระยะเวลา 10 ชั่วโมง เพื่อให้พองแห้ง และแน่นติดกัน ก่อนที่จะนำมาทอดในน้ำมัน ซึ่งต้องใช้เวลานาน และอยู่ที่อากาศด้วย เพราะถ้าพองที่ตากแดดน้อยไม่แห้ง เวลานำไปทอดพองจะไม่ฟู
สำหรับการเคาะขนมลา และขนมพองนั้น ตนและญาติได้ร่วมกันทำติดต่อมานานประมาณ 20 ปีแล้ว ซึ่งปีหนึ่งๆ ทำขายแค่เพียงเดือนเดียว คือ ช่วงก่อนถึงวันสารทเดือนสิบ โดยขนมลาในแต่ละวันสามารถผลิตได้ประมาณ 200-300 แผ่น จำหน่ายแผ่นละ 5 บาท ส่วนขนมพอง ทำได้วันละประมาณ 50-100 แผ่น ซึ่งจำหน่ายถ้าเป็นขนมพองที่ทอดแล้ว ราคาแผ่นละ 10บาท และราคาพองแห้งราคาแผ่นละ 6 บาท มีรายได้วันละประมาณ 300-400 บาท เป็นรายได้เสริมหลังจากเสร็จจากการกรีดยาง และทำสวนปาล์ม แต่สิ่งสำคัญคือ การได้สืบสานวัฒนธรรม ประเพณีที่เก่าแก่ และสามารถถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้เห็นถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด