ครู กศน.เขาวิเศษ จ.ตรัง รังสรรค์ “เมนูเด็ด” คิดค้นแปรรูป “เห็ดหูหนูเชื่อม” จากคุ้นชินในเมนูอาหารคาวหลากหลาย แต่ใครจะเชื่อ! เห็ดหูหนูนำมาเชื่อมเป็นอาหารหวานได้ ทั้งอร่อย และเพิ่มมูลค่าให้แก่เกษตรกร
“เห็ดหูหนู” โดยเฉพาะดอกนั้น มีลักษณะความละม้ายคล้ายๆ กับใบหูของหนู ซึ่งสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะนำไปผัด ยำ หรือทำเป็นแกงจืด แต่ที่ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนตำบลเขาวิเศษ อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง สามารถนำพืชผักชนิดนี้ไปต่อยอดได้มากกว่านั้น
“เห็ดหูหนู” ในปัจจุบันจะมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ “เห็ดหูหนูขาว” กับ “เห็ดหูหนูดำ” ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก ทั้งลดระดับไขมันในเลือด สร้างความแข็งแรงให้แก่หัวใจ ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลดสภาวะความตึงเครียดของร่ายกาย ตลอดจนบำรุงโลหิต บำรุงสายตา บำรุงตับ เสริมสร้างความสดชื่น และบำรุงผิวพรรณ
แต่คงไม่มีใครคาดคิดว่า “เห็ดหูหนู” ซึ่งเป็นที่นิยมในการนำมาปรุงอาหารโดยทั่วไปนั้น จะสามารถแปรรูปเป็นขนมหวาน ซึ่งมีรสชาติอร่อย และเป็นที่ชื่นชอบของนักชิมในเวลานี้ จากคุณประโยชน์ดังกล่าว ทำให้ “ศศิทัชนันท์ จีนประชา” หรือ “ครูแดง” ครู กศน.ตำบลเขาวิเศษ ได้คิดค้นลองผิดลองถูกในการแปรรูป “เห็ดหูหนู” ร่วมกับกลุ่มเพาะเลี้ยงเห็ดตำบลเขาวิเศษ จนประสบผลสำเร็จ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ตนเองเป็นครูสอนนักศึกษา กศน. รวมทั้งเป็นวิทยากรสอนการเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้า เห็ดแครง โดยเฉพาะ “เห็ดหูหนู” และเป็นวิทยากรถ่ายทอดการทำเกษตรแบบพอเพียงให้แก่ชาวบ้าน
ดังนั้น เธอ ชาวบ้าน และนักศึกษา จึงทดลองนำ “เห็ดหูหนู” มาแปรรูปเป็น “เห็ดหูหนูเชื่อม” ตอนแรกๆ ก็ไม่มีใครกล้าทาน เพราะยึดติดกับรสชาติในอาหารคาว แต่พอลองรับประทานเข้าไป ก็ได้รสชาติที่อร่อย กรอบๆ กรุบๆ ของ “เห็ดหูหนู” ยิ่งได้ทานคู่กับ ขนุน มะพร้าวอ่อน ลูกชิด และเฉาก๊วย ก็จะอร่อยยิ่งขึ้น
ส่วน นายสุรวุฒิ ขันธ์คง ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอวังวิเศษ บอกว่า การแปรรูป “เห็ดหูหนู” มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ราคาตกต่ำ จนเหลือแค่กิโลกรัมละ 30 บาท ทำให้เกษตรกรประสบกับความย่ำแย่ ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนตำบลเขาวิเศษ และ กศน.อำเภอวังเศษ จึงได้คิดค้นเป็น “เห็ดหูหนูเชื่อม” ของหวานชนิดใหม่ ที่ช่วยดับกระหายคลายร้อน จนกลายเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคในที่สุด แต่กว่าจะได้ “เห็ดหูหนู” ที่มีคุณภาพ เพื่อนำมาแปรรูปเป็นเมนูของหวานนั้น นอกจากจะมีขั้นตอนต่างๆ มากมายแล้ว ยังใช้ระยะเวลาหลายเดือนด้วย
นับตั้งแต่การเพาะเห็ด ด้วยการนำขี้เลื่อยไม้ยางพารา มาคลุกเคล้ากับส่วนผสมต่างๆ ก่อนบรรจุถุงพลาสติก แล้วอบด้วยอุณหภูมิ 100 องศา จากนั้นนำเชื้อเห็ดมาใส่ แล้วขนเข้าโรงบ่มเดือนเศษ ก่อนนำมาแขวนในโรงเรือน ทั้งนี้ เมื่อรดน้ำอย่างต่อเนื่อง 15 วัน เห็ดก็จะออกดอก เพื่อให้เก็บได้นาน 3 เดือน หรือให้ผลผลิตถุงละครึ่ง กก. ก่อนนำมาแปรรูปเป็น “เห็ดหูหนูเชื่อม” ด้วยการหั่น และเคี่ยวกับน้ำตาลครึ่ง ชม.ก็สามารถนำไปผสมกับเครื่องเคียงต่างๆ เช่น เฉาก๊วย ขนุน มะพร้าวอ่อน และลูกชิด เพื่อวางขายได้ทันที
ขณะนี้มีการนำ “เห็ดหูหนูเชื่อม” ออกวางขายในตลาดสด และขายส่งในงานเลี้ยงต่างๆ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการ และสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี ซึ่งทาง กศน.จังหวัดตรัง ก็จะมีการพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนต่อไป
ภาพ/เรื่อง - เมธี เมืองแก้ว