นครศรีธรรมราช - ทน.นครศรีฯ จัดงบกว่า 2.8 ล้าน สร้างน้ำพุในสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช อ้างปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม หลายฝ่ายชี้สิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ ไร้ประโยชน์ หวั่นกระทบปูมหลังสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ พบยังไม่มีการแจ้งกรมธนารักษ์เจ้าของพื้นที่
วันนี้ (3 ก.ย.) ที่ จ.นครศรีธรรมราช ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ไอเดียบรรเจิดอีกจัดจ้างก่อสร้างน้ำพุในสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช ท่ามกลางเสียงวิพากษ์ถึงความไม่เหมาะสม และมีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า โดยมีงบที่จะต้องจ่ายในการนี้ถึง 2.8 ล้านบาท โดยได้จัดจ้างบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเข้าทำการก่อสร้างโดยใช้พื้นที่ของสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช ทั้งที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองเก่าแก่ที่อยู่ไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่เคยเป็นเมืองสำคัญๆ เช่น เชียงใหม่ อุบลราชธานี หรือกรุงเทพฯ คือสนามหลวง ส่วนนครศรีธรรมราช จะเรียกว่าสนามหน้าเมือง
โดยเทศบาลได้ใช้งบประมาณ 2.8 ล้านบาท อ้างเป็นโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ก่อสร้างอ่างน้ำขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 12 เมตร พร้อมด้วยน้ำพุ ซึ่งมีการประมาณการตามพื้นที่จากผู้เชี่ยวชาญแล้ว งบประมาณไม่น่าจะสูงถึง 2.8 ล้านบาท ขณะที่ห่างออกไปเพียงไม่ถึง 30 เมตร มีน้ำพุขนาดใหญ่ที่เป็นของดั้งเดิมอยู่แล้ว ทำให้หลายฝ่ายสงสัยว่า แล้วจะมาสร้างเพิ่มขึ้นด้วยเหตุใด
สำหรับสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองโบราณทางตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นสนามรบในอดีต รวมทั้งมีราชพิธีสำคัญๆ ตั้งแต่เมื่อคราวนครศรีธรรมราช ยังมีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครอง ทั้งการถวายพระเพลิง การพิธีแรกนาขวัญ พิธีสำคัญๆ ตามโบราณ ต่อมา กลายเป็นสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรม และกิจกรรมทั้งของรัฐ และราษฎร เช่น เคยใช้เป็นที่สร้างพลับพลารับเสด็จพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลต่างๆ เป็นที่ประกอบพิธีสงกรานต์ ฝึกทหาร และยุวชนทหาร และจัดงานประเพณีที่สำคัญของชาวนครฯ รวมทั้งงานรื่นเริงอื่นๆ มาอย่างยาวนานในครั้งอดีตที่ผ่านมา โดยเป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ที่อยู่ในความดูแลของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช แต่พบว่าการก่อสร้างครั้งนี้ไม่ได้มีการประสานงานใดๆ ต่อกรมธนารักษ์ หรือสำนักงานธนารักษ์จังหวัดนครศรีธรรมราช
ขณะที่หลายฝ่ายที่ศึกษาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช ต่างแสดงความไม่เห็นด้วยในการจัดทำน้ำพุ ซึ่งไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนเลย ขณะที่ปัญหาของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งระบบประปาที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ ใช้งบประมาณจัดจ้างวิธีพิเศษนับสิบล้านแต่ทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์ การจัดเก็บขยะ หรือการบริการทางด้านสาธารณสุข แต่กลับมีการใช้งบประมาณแบบทิ้งขว้างไม่เกิดประโยชน์ เน้นการจัดซื้อจัดจ้างมากกว่าการใช้งบเพื่อการแก้ไขปัญหา