xs
xsm
sm
md
lg

วัดตรังคภูมิพุทธาวาส โบราณสถานคู่เมืองตรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วัดตรังคภูมิพุทธาวาส” ถือเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในอำเภอกันตัง อยู่ห่างจากตัวเมืองตรังไปตามถนนสายตรัง-กันตัง ระยะทาง 28 กิโลเมตร สร้างขึ้นเมื่อปี 2436 ในรัชกาลที่ 5 โดย “มหาอำมาตย์โท พระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี” (คอซิมบี้ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต เมื่อครั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ซึ่งหลังจากท่านได้ย้ายเมืองจากตำบลควนธานี ไปอยู่ที่ตำบลกันตังแล้ว จึงสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นบริเวณ “ที่ทำการชุมสายกันตัง” (บริเวณคอกวัว) และขนานนามว่า “วัดกันตัง”

 
วัดแห่งนี้มีเนื้อที่ประมาณ 35 ไร่ ทั้งนี้ สภาพของวัดตั้งอยู่บนที่ราบสูง แต่ไม่มีคูน้ำล้อมรอบ ซึ่งต่อมา ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงได้เข้ามาใช้พื้นที่วัด ทั้งในการเพาะปลูก และการสร้างบ้านพักอาศัย จนปัจจุบันเนื้อที่ของวัดเหลืออยู่เพียงแค่ 21 ไร่ กระทั่งเมื่อปี 2455 “สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส” เสด็จตรวจราชการคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค และได้มาประทับที่วัดกันตัง ทรงเห็นว่า ที่ตั้งวัดมีภูมิประเทศดีมาก จึงได้พระราชทานนามใหม่ว่า วัดตรังคภูมิพุทธาวาส

 
สำหรับปูชนียวัตถุภายในวัด ซึ่งเป็นที่สนใจของบรรดาพุทธบริษัททั้งหลาย ก็คือ พระประธานในพระอุโบสถ ปางมารวิชัย ขนาดพระเพลา กว้าง 43 นิ้ว พร้อมด้วยพระอัครสาวก ซ้ายขวา อีก 2 องค์ ซึ่งล้วนแต่สร้างด้วยหินอ่อนทั้งสิ้น โดยตามหลักฐานพระประธานดังกล่าวนั้น “พระยารัษฎานุประดิษฐ์” ได้นำมาจากเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย โดยทางเรือ เมื่อสมัย 100 กว่าปีมาแล้ว ก่อนนำมาประดิษฐานในพระอุโบสถ

 
อย่างไรก็ตาม “พระพุทธรูปหินอ่อน” ทั้ง 3 องค์ดังกล่าว ต่อมาได้มีการต่อเติมพระเกตุเมาลี และพระกรรณ ให้ยานยาว แล้วใช้สีทองทาทับองค์พระเพื่ออำพราง ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการป้องกันการโจรกรรม เพราะในอดีตเคยถูกขโมยไปจากวัดมาแล้วครั้งหนึ่ง สาเหตุเพราะคนร้ายหวังทองคำในพระเศียร หากแต่ไม่สามารถนำไปได้ตลอดรอดฝั่ง “พระพุทธรูปหินอ่อน” จึงยังประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถดังเดิม

 
ศิลปกรรมโบราณที่คู่วัด และคู่กับพระประธาน ที่บริเวณหน้าพระอุโบสถ ก็คือ รูปปั้นสิงโต และช้าง ที่แกะสลักจากหินอ่อน อย่างละ 1 คู่ ซึ่งได้มาจากสถานที่เดียวกัน และยุคสมัยเดียวกันกับพระประธาน คือ เมื่อปี 2436 ในขณะที่พระอุโบสถของวัดแห่งนี้ ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี 2476 ขนาดกว้าง 11 เมตร ยาว 18 เมตร ก็มีลักษณะเด่นคือ หลังคามุงด้วยกระเบื้อง ส่วนบริเวณร่องลมก็มีลวดลายฉลุเก่าแก่ จนกระทั่งต่อมา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยกรมศิลปากร ไปแล้ว
สังเค๊ด หรือ ธรรมาสน์ ในพระอุโบสถ ซึ่งเขียนด้วยลายไทยงดงาม ก็ยังเป็นของ หลวงปู่ลบ เจ้าอาวาสรูปแรก ซึ่งเป็นของระลึกที่ได้รับพระราชทานมาจากรัชกาลที่ 5
 
นอกจากนั้น “สังเค็ด” หรือ "ธรรมาสน์" ในพระอุโบสถ ซึ่งเขียนด้วยลายไทยงดงาม ก็ยังเป็นของ “หลวงปู่ลบ” เจ้าอาวาสรูปแรก ซึ่งเป็นของระลึกที่ได้รับพระราชทานมาจากรัชกาลที่ 5 พร้อมด้วยพระบรมรูปของพระองค์ท่าน ที่มีการตกแต่งด้วยเงินอย่างสวยงามมาก รวมทั้ง “ตู้พระธรรม” ที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 เช่นเดียวกัน โดยที่เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันคือ “พระครูถาวรศีลวัฒน์” ได้เก็บรักษาไว้ในกุฏิของท่านเป็นอย่างดี

 
บริเวณลานวัดได้มีการสร้างศาลาบูรพจารย์ หรือ “ศาลาพระครูบริสุทธิศีลาจารย์สังฆปาโมกข์” ประดิษฐานรูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาสทั้ง 3 องค์ที่ผ่านมา ส่วนที่บริเวณหน้าวัดได้มีการสร้าง “พระพุทธชัยมงคล” ปางลีลาประทานพร โดยเป็นหินทรายเหลือง สูง 5.9 เมตร พร้อมด้วยสิงโตคู่ ที่สร้างด้วยหินอ่อน

 
“วัดตรังคภูมิพุทธาวาส” นอกเหนือจากเป็นสถานที่ให้ชาวพุทธได้เข้าไปฟังคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เมื่อถึงคราวบ้านเมืองไม่สงบวัดแห่งนี้ก็ถูกใช้เป็นที่ดับทุกข์ของชาวบ้านหลายต่อหลายครั้ง ดั่งเช่นครั้งที่มีเหตุการณ์จลาจลเผาที่ว่าการอำเภอกันตัง เมื่อปี 2538 ชาวบ้านที่เดือดร้อนเนื่องจากไม่สามารถติดต่อกับราชการได้ ก็ได้ใช้วัดแห่งนี้เป็นที่ว่าการอำเภอชั่วคราว นับเป็นศาสนสถานอันสงบสุข และร่มเย็นจริงๆ






ภาพ/เรื่อง - เมธี เมืองแก้ว
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น