xs
xsm
sm
md
lg

จัดระเบียบทะเลสาบสงขลา ผู้ว่าฯ ต้องเลือกจะเอา “ถูกต้อง” หรือ “ถูกใจ” / ไม้ เมืองขม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...เมือง  ไม้ขม
 
การออกมาเคลื่อนไหวของผู้นำท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) ในพื้นที่ อ.เมือง จ.สงขลา ด้วยการยื่นหนังสือต่อ นายธำรง เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อให้ทำการรื้อถอนสิ่งกีดขาวงในทะเลสาบสงขลา นับว่าเป็นเรื่องที่ดี และควรแก่การสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง
 
เหตุผลก็คือ ทะเลสาบางขลา ณ วันนี้ ถ้ามองจากสะพานติณสูลานนท์ออกไปทั้งฝั่งซ้าย และฝั่งขวา จะเห็นว่า เต็มไปด้วยสิ่งกีดขวางที่ระเกะระกะไปหมด สิ่งที่ยึดครองพื้นน้ำของทะเลสาบสงขลาแห่งนี้คือ เครื่องมือในการทำประมงจำพวกโพงพา ไซนั่ง บาม และกระชังเลี้ยงปลา
 
โดยข้อเท็จจริง สภาพของทะเลสาบสงขลาที่ระเกะระกะไปด้วยสิ่งกีดขวางที่เป็นเครื่องมือในการทำประมง ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมานานมาก นานจนคนสงขลา และคนผ่านทางลืมไปแล้วว่า ทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นพื้นน้ำที่ทุกคนบอกว่าสวยที่สุด กลายเป็นพื้นน้ำที่อัปลักษณ์ไปตั้งแต่เมื่อไหร่ เพียงแต่รู้ว่าสิ่งที่ระเกะระกะมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี และทุกปี
 
ปัญหานี้มีการพูดกันในบ่อยมาก เพื่อให้มีการแก้ปัญหาด้วยการ “จัดระเบียบ” ทะเลสาบ เพื่อคืนทัศนียภาพที่สวยงานให้กลับมาเหมือนในอดีต มีการกล่าวถึง “ทัศนะอุจาด” ที่เกิดขึ้นต่อแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเพชรเม็ดงามแห่งนี้ มีการพูดถึงความไม่สะดวกในการเดินเรือ เพราะวันนี้ทะเลสาบสงขลา ถูกยึดไปเป็นแหล่งทำกินจนไม่เหลือช่องทางให้เดินเรืออีกต่อไป
 
แต่สุดท้ายในหลายสิบปีที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐที่จังหวัดสงขลา ก็เป็นเหมือนกับพรรคการเมืองบางพรรคของภาคใต้คือ “ดีแต่พูด” เพราะไม่เคยปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ยังปล่อยให้มีการบุกรุกเพิ่มขึ้นเพื่อ “ประจาน” ให้เห็นถึงความด้อยประสิทธิภาพของหน่วยงานที่รับผิดชอบในจังหวัดสงขลา
 
ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
การออกมาขับเคลื่อนของผู้นำท้องที่ในครั้งนี้ จึงเป็นการออกมาขับเคลื่อนที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ เพราะก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วันเพิ่งจะมีการจัดระเบียบริมๆ ทะเลสาบสงขลา โดยกำลังของ “ทหาร” ด้วยการไล่รื้อบามที่สร้างรุกล้ำชายฝั่งทะเลไปแล้วกว่า 17 แห่ง
 
ดังนั้น การที่จะแก้ปัญหาการบุกรุกทะเลสาบสงขลา จึงต้องเร่งแก้ในช่วงที่ประเทศนี้มี “คสช.” เป็นผู้บริหารประเทศ และมี “กฎอัยการศึก” เป็นดาบอาญาสิทธิ์ที่ผู้ทำผิดกฎหมายไม่กล้าที่จะลองของ เพราะการบุกรุกทะเลสาบสงขลาในวันนี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่เป็นการบุกรุกที่มีการ “ซื้อ-ขาย” พื้นน้ำของทะเลแห่งนี้ เช่นเดียวกับการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศไทย
 
โดยมีการนำพื้นที่ที่เป็น “พื้นน้ำ” ในทะเลสาบสงขลาไป “ขาย” ให้แก่ผู้ที่ต้องการทำกินในราคาไร่ละประมาณ 200,000 บาท และในขณะเดียวกัน ผู้ที่มีที่ทำกินในทะเลสาบสงขลา เมื่อจะเลิกทำมาหากินกับอาชีพการทำประมงก็จะ “ขายที่” ซึ่งมีการจับจองไว้แล้วให้แก่คนที่ต้องการ หรือการ “ให้เช่า” เป็นรายปีในราคาที่ตกลงกัน
 
สรุปให้ชัดๆ ก็คือ วันนี้ทะเลสาบสงขลามีการ “บุกรุก” และการ “ซื้อ-ขาย” เพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำกิน เช่นเดียวกับการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ หรืออุทยานแห่งชาติไม่มีผิด
 
แต่อย่างไรก็ตาม การจัดระเบียบทะเลสาบสงขลา คงจะไม่ง่ายอย่างการจัดระเบียบชายหาด และการบุกยึด สวนยาง สวนปาล์ม และบ้านหรูที่บุกรุกอุทยาน และป่าสงวนแห่งชาติ เนื่องจากผู้คนที่ตั้งชุมชนอยู่รายรอบทะเลสาบสงขลา ทั้งที่หัวเขาแดง หัวเขาเขียว ชุมชนบ้านเล และอื่นๆ อีกหลายตำบล ต่างมีอาชีพ มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับทะเลสาบ มีอาชีพประมงเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการหล่อเลี้ยงชีวิต และครอบครัว
 
ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
ถ้าจะไม่ให้คนเหล่านี้บุกรุก จับจอง ซื้อ-ขายพื้นที่น้ำในทะเลสาบเป็นที่ทำกิน หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องหาอาชีพอื่นๆ ให้พวกเขา ซึ่งล้วนเป็นไปได้ยาก เพราะวิถีชีวิตของพวกเขาต่างผูกพันกับทะเล และการทำประมงคืออาชีพที่เขาชำนาญ
 
ที่สำคัญในจำนวนของผู้บุกรุกพื้นที่นำของทะเลสาบสงขลานั้น นอกจากนายทุนแล้ว ยังมีคนที่หาเช้ากินค่ำอยู่อีกจำนวนไม่น้อย ซึ่งการที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดเพื่อจัดระเบียบสังคม จึงเป็นการสร้างความเจ็บช้ำ และความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนอีกพวกหนึ่งด้วย
 
ดังนั้น การจัดระเบียบทะเลสาบสงขลา จึงไม่ใช่การการทำให้ทะเลสาบสงขลา “สวยงาม” โดยไม่มีสิ่งกีดขวางที่ระเกะระกะแบบเต็มไปทั้งทะเลสาบอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่หมายถึงการ “ขอคืนพื้นที่” ส่วนหนึ่งกลางทะเลสาบกลับคืนมา และ “การจัดการ” ให้ผู้มีอาชีพประมงอยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีการจัดระเบียบที่ชัดเจนว่า นั่นคือพื้นที่การวางโพงพาง ไซนั่ง หรือกระชังเลี้ยงปลา
 
โดยทำให้เป็นระเบียบอยู่ในพื้นที่ที่มีการกำหนด ไม่ใช่ใครใคร่จะทำตรงไหน พื้นที่เท่าไหร่ ก็ทำได้ตามใจชอบ ไม่ใช่การชี้เขตทะเลว่าตรงนี้เป็นของตน และนำไปขายต่อให้แก่ใครต่อใครในราคาไร่ละ 200,000-300,000 บาท อย่างที่เกิดขึ้นในหลายๆ ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการใช้อิทธิพลนำเอาของหลวงไป “ค้ากำไร” อย่างที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้มีอิทธิพลพวกนี้ถ้ามีหลักฐานจะต้องนำมาลงโทษตามกฎหมาย
 
แน่นอนว่าการจัดระเบียบ หรือการแก้ปัญหาทุกปัญหาที่เกิดขึ้นต่อทะเลสาบสงขลา ก็เช่นเดียวกับการจัดระเบียบสังคมอื่นๆ คือ จะต้องมีผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม แต่ไม่ว่าจะอย่างไรบ้านเมืองต้องมีระเบียบ ต้องเป็นไปตามกติกา
 
ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
ดังนั้น การจัดระเบียบทะเลสาบสงขลา จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นในยุคที่ คสช.มีอำนาจในการบริหารประเทศอย่างในขณะนี้
 
เพราะหากไม่ดำเนินการให้เสร็จสิ้นในขณะนี้ ปัญหาการบุกรุกทะเลสาบสงขลาจะแก้ไม่ได้ และจะมีการบุกรุกเพิ่มมากขึ้น จนสุดท้ายทะเลสาบสงขลาจะกลายเป็นที่ทำกินที่ถูกจับจองเป็นเจ้าของ และกลายเป็นสมบัติส่วนตัว ไม่ใช้สาธารณสมบัติอีกต่อไป 
 
บทสรุปการออกมาขับเคลื่อนของผู้นำท้องที่ใน อ.เมือง จ.สงขลา ครั้งนี้ ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลวก็ตาม ย่อมเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ผู้ที่ได้ชื่อว่าผู้นำอย่างกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งชื่อว่าเป็นผู้นำท้องที่ได้ทำหน้าที่ของการเป็นผู้นำชุมชนที่ถูกต้อง
 
ส่วนผู้ปฏิบัติที่จะทำให้ทะเลสาบสงขลาได้กลับมามีทัศนียภาพที่สวยงามอย่างในอดีตนั้น เป็นหน้าที่ของ “ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา” คนนี้ ซึ่งเป็นผู้ที่รู้พื้นที่ รู้ปัญหาดีที่สุด เพราะเป็นผู้มีประสบการณ์กับเรื่องของโพงพางรุกทะเลสาบตั้งแต่ครั้งเมื่อเป็นนายอำเภอสิงหนคร จ.สงขลา เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา 
 
ณ วันนี้ คนสงขลาต้องจับตามองว่า ระหว่างความ “ถูกใจ” ของคนกลุ่มหนึ่ง กับความ “ถูกต้อง” ของกฎหมาย และความเป็นระเบียบสวยงามของบ้านเมือง ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา “นายธำรง เจริญกุล” จะเลือกเดินไปยังทิศทางไหน?!
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น