พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วย ผบ.ทบ.ในฐานะ หน.ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ติดตามการแก้ปัญหายาเสพติดใน กทม. พร้อมฟังปัญหา-อุปสรรค หลัง คสช.มีคำสั่งกำหนด 5 มาตรการ พร้อมกำหนดแผนทำงานในอีก 2 เดือนข้างหน้า
เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (7 ส.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันเเละปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการ ป.ป.ส. ร่วมเป็นประธานการประชุมเร่งรัดแก้ปัญหายาเสพติดในกรุงเทพมหานคร ระยะเวลา 2 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ 2557 (สิงหาคมถึงกันยายน) โดยมีผู้บริหารหน่วยงานทหาร ตำรวจ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงยุติธรรม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมการประชุมกว่า 100 คน
นายเพิ่มพงษ์กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของยาเสพติดในกรุงเทพมหานคร รอบ ปี 2556 มีคดียาเสพติด 27,788 คดี ผู้ต้องหา 27,982 คน เป็นชายร้อยละ 86 เมื่อจำแนกตามอายุพบว่าร้อยละ 21 มีอายุระหว่าง 20-24 ปี 25-29 ปี และ 30-35 ปี ร้อยละ 38 ระบุภูมิลำเนาอยู่ใน กทม.ร้อยละ 56 เป็นผู้ต้องหารายใหม่ ร้อยละ 80 เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดประเภทยาบ้า และร้อยละ 73 ถูกดำเนินคดีในข้อหาเสพ ขนาดของปัญหาคิดเป็นร้อยละ 30 เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของปัญหายาเสพติดทั้งประเทศ หรือประมาณ 1 ใน 3
ดังนั้น เมื่อ คสช.มีคำสั่งที่ 41/2557 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 และกำหนดมาตรการขับเคลื่อน 5 มาตรการ ได้แก่ 1. ควบคุมแนวชายแดน 2. ควบคุมเจ้าหน้าที่รัฐมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 3. ควบคุมการค้าในเรือนจำ 4. ควบคุมพื้นที่การค้ารุนแรง 5. ควบคุมพื้นที่เสี่ยงและปัจจัยเสี่ยง โดยมี กทม.เป็นพื้นที่เร่งด่วนเพื่อบูรณาการแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร เพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมในช่วง 2 เดือน
นายเพิ่มพงษ์กล่าวว่า สำหรับการป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดใน กทม.ช่วงที่ผ่านมา ได้ขับเคลื่อนตามนโยบาย คสช. และแผน กทม.ปลอดภัยไร้ยาเสพติด (Bangkok Clear) โดยการจัดตั้งอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยและยาเสพติด ครอบคลุม 50 เขต สร้างชุมชนต้นแบบ 1 เขต 1 ชุมชน ป้องกันเยาวชนกลุ่มเสี่ยงโดยเพิ่มพื้นที่บวก ควบคู่กับการควบคุมและลดปัจจัยเสี่ยงการแพร่ระบาด ทั้งการจัดระเบียบสังคม ตรวจตราแหล่งมั่วสุม กำหนดมาตรการป้องกันยาและสารเสพติดในโรงเรียนสังกัด กทม. 438 โรงเรียน สร้างสถานประกอบการต้นแบบ 1 เขต 1 สถานประกอบการ
“การแก้ปัญหาผู้เสพเเละผู้ติดยาถือเป็นปัญหาใหญ่ของ กทม. จึงได้จัดตั้งศูนย์คัดกรองผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟู โดยมีสถานพยาบาลในสังกัดกทม.ให้บริการ 71 แห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 67 แห่ง โรงพยาบาลตากสิน คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล และสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด (บ้านพิชิตใจ) พร้อมกับมีโรงเรียนฝึกอาชีพให้ผู้ผ่านการบำบัด ที่ประสงค์นำความรู้ไปประกอบอาชีพ ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข”
นายเพิ่มพงษ์กล่าวว่า ด้านการรณรงค์ป้องกันได้ดำเนินโครงการ “TO BE NUMBER ONE” โดยจัดตั้งชมรมทั้งในชุมชน สถานศึกษาสังกัด กทม. สถานประกอบการ สนับสนุนการเข้าร่วมประกวดทั้งระดับภาคและระดับประเทศ ควบคุมพื้นที่การค้า และดำเนินการตามข้อร้องเรียนของประชาชนทางสายด่วน 1386 ตู้ ปณ.123 และทางเว็บไซต์ ซึ่งพื้นที่ กทม.มีข้อร้องเรียนมากที่สุดถึงร้อยละ 25.9 คิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนข้อร้องเรียนทั้งประเทศ
นอกจากนี้ยังได้มีการผสานกำลังร่วมทหาร ตำรวจ ป.ป.ส.กว่าพันนาย เปิดยุทธการปิดล้อมตรวจค้นเพื่อจำกัดพื้นที่การค้าใน 44 เขต พร้อมจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ซึ่งสามารถลดความเดือดร้อนของประชาชน สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อการดำเนินงานของคสช. และหน่วยงานภาครัฐ
ด้าน พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า เนื่องจาก กทม.มีโครงสร้างและกลไกการบริหารจัดการที่ซับซ้อน เพราะเป็นการบริหารราชการท้องถิ่นแบบพิเศษ ซึ่งผู้ว่าราชการ กทม.ไม่มีอำนาจสั่งการส่วนราชการได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแบบผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้ขาดเอกภาพในการบูรณาการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ดังนั้น การประชุมวันนี้ก็เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับคำสั่ง คสช. จึงต้องติดตามผลการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน ทั้งในส่วนของ กทม. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ และกรมคุมประพฤติ พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรค ที่ทำให้แต่ละหน่วยงานไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่ เพื่อจะได้นำไปประเมินและหาทางแก้ไข กำหนดแผนการทำงานใน 2 เดือนข้างหน้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดข้อจำกัดต่างๆ โดยจะปรับกลไกและโครงสร้างการบริหาร จัดการปัญหายาเสพติดใน กทม.ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เพื่อให้รวดเร็วและแก้ปัญหายาเสพติดให้เบาบางจนลดความเดือนร้อนของประชาชนลงได้
ต่อมา เวลา 14.00 น. พล.อ.ไพบูลย์เดินทางไปศาลาปฏิบัติธรรมพระชินวงศ์สภา วัดพิชยญาติการามวรวิหาร (วัดพิชัยญาติ) เขตคลองสาน เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการศาสนธรรมสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดพื้นที่กรุงเทพมหานคร อีกหนึ่งในโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลยาเสพติด โดยใช้หลักศาสนากล่อมเกลาจิตใจ