ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดึงภาคีเครือข่ายชาวเลในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน 5 จังหวัด เสริมอัตลักษณ์ ในงานมหกรรม พม. รวมพลังสร้างสุขสู่ชาวเล
เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (20 ส.ค.) ที่บริเวณชายหาดชุมชนชาวเลราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดงานมหกรรม พม. รวมพลัง สร้างสุข สู่ชาวเล โดยมี นายสมคิด สมศรี รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นางพิมพา ขอศานติวิชัย พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ หัวส่วนราชการต่างๆ และภาคีเครือข่ายชาวเลในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน 5 จังหวัด เข้าร่วม
นายสมคิด สมศรี รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ก่อกำเนิดมาจากการรวมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์ วิถีชีวิต ภาษาวัฒนธรรม ประเพณี จำเพาะที่แตกต่างจากคนไทยส่วนใหญ่กระจายอยู่เกือบทุกจังหวัดของประเทศไทย กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้มีบางกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการพัฒนาจนได้รับสิทธิเท่าเทียมคนไทยทั่วไป แต่ยังมีบางกลุ่มที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอันพึงได้รับในฐานะความเป็นพลเมืองไทย
นายสมคิด กล่าวต่ออีกว่า โดยที่ผ่านมา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ หรือกรมประชาสงเคราะห์ในอดีต ได้จัดตั้งหน่วยงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มประชากรที่อยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดารบนพื้นที่สูง โดยมีกองสงเคราะห์ชาวเขาเป็นหน่วยงานหลัก ในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบาย และมีหน่วยงานปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยในปี 2545 มีการปฏิรูประบบราชการกองสงเคราะห์และสถาบันวิจัยชาวเขาถูกยุบไป ทำให้การดำเนินงานด้านการพัฒนาชาวเขาถูกลดบทบาทลงไป จนกระทั่งปี 2550 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานกิจการชาติพันธุ์ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อดำเนินภารกิจทุกกลุ่มชาติพันธุ์ มิได้เฉพาะเจาะจงเฉพาะงานชาวเขาอย่างเดียว ต่อมา เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณและการขับเคลื่อนงานกระทรวงฯ จึงให้สำนักงานกิจการชาติพันธุ์ ย้ายมาสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มาตั้งแต่ปี 2553 โดยสำนักงานกิจการชาติพันธุ์ ได้วางกรอบภารกิจในการขับเคลื่อนงานด้านชาติพันธุ์ 5 ด้านคือ ด้านระบบข้อมูล ด้านสิทธิ ด้านอัตลักษณ์ ด้านการพัฒนา และด้านการก้าวสู่ระดับนานาชาติ
“และเมื่อปี 2553 ครม.ได้มีมติเรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลขึ้น ดังนั้น สำนักงานชาติพันธุ์จึงกำหนดจัดงานมหกรรม พม. รวมพลัง สร้างสุข สู่ชาวเล ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการรวมพลังความรัก ความสามัคคี ความร่วมมือกันของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน 5 จังหวัด ส่งเสริมสนับสนุนการอนุรักษ์ฟื้นฟู รักษาอัตลักษณ์ วิถีชีวิต รวมถึงเพื่อเผยแพร่เรื่องราววิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลสู่สังคม” นายสมคิดกล่าว
สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย กิจกรรมการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและมีรายได้น้อย โดยการมอบผ้าห่ม การมอบเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย การมอบอุปกรณ์สำหรับผู้พิการ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการส่งเสริมอัตลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรม โดยเป็นการแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล 5 จังหวัด และการจัดนิทรรศการวิถีชีวิตชาวเลและการแสดงผลิตภัณฑ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล