โดย...ณัฐกร ธรรมใจ
จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานนับ 10 ปี จนสร้างความสูญเสียแก่ชีวิต และทรัพย์สินแก่ประชาชนพื้นที่อย่างไม่อาจประเมินค่าได้ เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นแบบรายวันอย่างชนิดที่เรียกว่า “ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก - เกิดแล้ว เกิดอีก - สูญเสียแล้ว สูญเสียอีก” และ “ตายแล้ว ตายอีก” ไม่ว่าประกบยิงบ้าง ซุ่มโจมตีบ้าง วางระเบิดลอบสังหารเจ้าหน้าที่ขณะลาดตระเวนบ้าง
และความรุนแรงล่าสุด ซึ่งถือเป็นวิธีก่อเหตุของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างมากมายมหาศาล ทำลายเศรษฐกิจอย่างย่อยยับไม่เหลือชิ้นดี สร้างความสูญเสียแก่ชีวิต และทรัพย์สินอย่างมหาศาลจนมิอาจประเมินค่าได้ วิธีการดังกล่าวคือ
“คาร์บอมบ์”
ซึ่งเหตุการณ์คาร์บอมบ์ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในพื้นที่ใจกลางเมืองเบตง จ.ยะลา ที่บริเวณหน้าโรงแรมฮอลิเดย์ ฮิลล์ โดยคนร้ายใช้ระเบิดถังแก๊สหนัก 30 กก. ซุกมาในรถกระบะมาสด้านำมาจอดไว้ในที่เกิดเหตุ จุดชนวนระเบิดด้วยวิธีตั้งเวลา จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันที 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 52 ราย
ก่อนหน้านี้ คาร์บอมบ์ เป็นวิธีการที่คนร้ายได้ใช้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ไม่เว้นแม้กระทั่งพื้นที่เขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ อย่างเช่น เมืองหาดใหญ่ ยังเคยถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบสร้างสถานการณ์ความรุนแรงด้วยวิธีคาร์บอมบ์มาแล้วถึง 2 ครั้งเช่นกัน
ครั้งแรกที่บริเวณลานจอดรถชั้นใต้ดินห้างสรรพสินค้าลีการ์เดนส์ พลาซ่า หาดใหญ่ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน มีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 500 คน ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตผู้คน และทำลายเศรษฐกิจของเมืองหาดใหญ่อย่างไม่อาจประเมินมูลค่าความเสียหายได้
ส่วนคาร์บอมบ์ ครั้งที่สอง ซึ่งถือเป็นปฏิบัติการของกลุ่มแนวร่วมที่ฉีกความหละหลวมของหน่วยงานด้านความมั่นคงอย่างไม่เหลือชิ้นดีอีกเช่นกัน นั่นคือ เหตุการณ์คาร์บอมบ์ภายในสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่
จากเหตุการณ์คาร์บอมบ์สนั่นเมืองเบตงในครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ 2 ประการคือ ประการหนึ่ง เป็นผลกระทบด้านความปลอดภัย เนื่องจากพื้นที่ อ.เบตง ได้รับการขนานนามว่าเป็นเขตพื้นที่ที่มีจำนวนการเกิดความรุนแรงน้อยที่สุด หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นเมืองแห่งความสงบ ท่ามกลางพื้นที่ที่ลุกโชนด้วยความรุนแรงจากสถานการณ์ไฟใต้
แต่จากเหตุคาร์บอมบ์ใจกลางเมืองเบตงในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า นับจากนี้เป็นต้นไปพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกตารางนิ้ว มีโอกาสเกิดสถานการณ์ความรุนแรงได้หมด และส่งผลให้เมืองที่ในอดีตเคยมีแต่ความสงบสุข มีธรรมชาติที่สวยงามท่ามกลางหุบเข้าล้อมรอบ จะต้องตกเป็นพื้นที่ที่จะต้องมีการดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัย เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร
และผลกระทบที่สำคัญที่สุดอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือ นับจากนี้เป็นต้นไปประชาชนชาวเบตงจะต้องใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
ผลกระทบอย่างใหญ่หลวงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากพื้นที่ อ.เบตง อยู่ติดกับด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย ทำให้ในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นเมืองที่สงบ ปลอดภัย มีอัตราการเกิดสถานการณ์ความรุนแรงน้อย ประกอบกับเป็นเมืองที่ยังคงธรรมชาติที่สวยงาม ประชาชนท้องถิ่นใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย จึงทำให้ อ.เบตง ถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจทางด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่
แต่หลังจากเกิดสถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าว จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ พ่อค้า-แม่ค้าในพื้นที่ต่างได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวไม่เฉพาะชาวต่างประเทศที่รู้สึกอ่อนไหวต่อเหตุการณ์ความรุนแรง แต่ยังรวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยเช่นเดียวกัน อันนำมาซึ่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ปลายด้ามขวานอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และคงจะต้องใช้ยุทธวิธีประชาสัมพันธ์ฟื้นฟูการท่องเที่ยวกันอีกระลอกใหญ่
คาร์บอมบ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.เบตง นอกจากจะส่งผลในแง่ความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของประชาชน และผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจในท้องถิ่นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แล้ว ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่หลายครั้งส่อให้เห็นถึงปรากฏการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างชนิดที่เรียกว่า “ซ้ำซาก” ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเหตุการณ์ความรุนแรงจนชินชา
ปรากฏการณ์ไฟใต้ที่ซ้ำซากในที่นี้หมายถึง ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งใหญ่ในพื้นที่ และเป็นเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งความสูญเสียอย่างมากมายมหาศาล เช่น เหตุคาร์บอมบ์ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำสม่ำเสมอ หรือเกิดขึ้นเป็นวัฏจักรอย่าง “ซ้ำซาก” และ “จำเจ” คือ หลังเกิดเหตุรุนแรงเจ้าหน้าทุกฝ่ายที่จะพากันระดมกำลังไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวน เจ้าหน้าที่ทหาร หน่วยงานฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน หรือแม้กระทั่งบุคคลระดับหัวหน้าส่วนราชการ ได้แก่ นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด และที่พลาดไม่ได้คือ นักการเมืองท้องถิ่น
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ก็จะกุลีกุจอลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย รายงานความคืบหน้าของการทำงาน แม้กระทั่งแสดงความเห็นถึงสถานการณ์ในทัศนะของตนออกทางสื่อมวลชน หลังจากนั้น ก็เข้าสู่กระบวนการติดตามจับกุมคนร้ายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหาร ผลคือ จับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง และท้ายที่สุดก็จะเข้าสู่กระบวนการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น
ดังจะเห็นได้จากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งพาดหัวใจความว่า “ผู้ว่าฯ รุดให้กำลังใจเหยื่อไฟใต้” “ฝ่ายความมั่นคงมอบเงินเยียวยาผู้เสียชีวิตจากเหตุคาร์บอมบ์” เป็นต้น และจบลงด้วยการส่งทหารผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบกลับบ้านอย่างสมเกียรติ
นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงวัฏจักรที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าของสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เราเห็นกันจนชินตา กล่าวคือ
“ความรุนแรงเกิด - หน่วยงานรัฐลงพื้นที่ - จับกุมคนร้ายได้ - เยียวยาผู้เสียหาย - เกิดเหตุรุนแรงใหม่”
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่านี่คือวัฎจักรแห่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นกว่า 10 ปี บนปลายด้ามขวานของประเทศไทย
เมื่อเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลายเป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นอย่าง “ซ้ำซาก” จนอาจกล่าวได้ว่าคนทั่งประเทศอาจะเห็นว่าสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่กลายเป็นเหตุการณ์ที่เห็นจน “ชินตา” ไปเสียแล้วกระนั้นหรือ
หากสถานการณ์ไฟใต้ได้กลายเป็นวัฏจักรแห่งความรุนแรง จนอาจกล่าวได้ว่าไม่แม้แต่คนในพื้นที่ปลายด้ามขวานเองที่รู้สึกชินชาต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะรู้สึกชินชาด้วยความหมดหวังในสถานการณ์ หรือความชินชาในความไร้ความสามารถของฝ่ายความมั่นคง ในอันที่จะระงับ หรือยับยั้งสถานการณ์ความรุนแรง
ประชาชนในพื้นที่ปลายด้ามขวานคงได้แต่ทำใจยอมรับต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างปลงตกตามหลักทางพระพุทธศาสนาที่ว่า “มันก็เป็นของมันเช่นนั้นเอง” อย่างนั้นหรอกหรือ
เมื่อเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่เกิดมานานนับ 10 ปี และในขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้อันอาจส่อให้เห็นว่าเหตุการณ์ความรุนแรงมีแนวโน้มลดลง หรือจะยุติลงได้ในเร็ววัน จนกระทั่งกลายเป็นปรากฏการณ์วัฏจักรความรุนแรงที่ซ้ำซาก และจำเจดั่งที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงส่งผลให้สถานการณ์ไฟใต้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่
“ไม่มีวันสิ้นสุด”
จึงสอดคล้องต่อสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ ซึ่งบริหารประเทศโดย คสช.มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเป็นหลักในการบริหารประเทศ โดยระบุให้อำนาจ คสช.อย่างมากถึงขนาดมีอำนาจระงับยับยั้งการกระทำใดๆ ของฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และแม้กระทั่งการกระทำของฝ่ายตุลาการ
แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า คสช.จะมีอำนาจคับประเทศนี้สักเพียงใด ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงจะดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนที่มีคณะรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย
ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่จะต้องพิสูจน์กันต่อไปถึงการใช้อำนาจในการจัดการกับปรากฏการณ์ที่ถือว่าเป็น “วัฏจักรไฟใต้” หรือ คสช.จะปล่อยให้วัฏจักรความรุนแรงดังกล่าวยังคงอยู่คู่พื้นที่ปลายด้ามขวานต่อไป