xs
xsm
sm
md
lg

มองดูความจริงซิพี่น้องผองเพื่อน : เรื่องสัมปทานปิโตรเลียมไทยหลุมเล็กๆ! / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
1.ความเป็นมา

คุณอัศศิริ ธรรมโชติ นักเขียนระดับรางวัลซีไรต์ประจำปี 2524 (รวมเรื่องสั้นชื่อ “ขุนทอง เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง”) ได้ตั้งคำถามต่อผมในวงอาหารแห่งหนึ่ง พร้อมกับอ้างคำพูดของนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสคนดังระดับรองนายกรัฐมนตรีหลายสมัยว่า “จริงหรือเปล่าที่ด็อกเตอร์…บอกว่าประเทศไทยไม่ได้มีน้ำมันดิบมากอย่างที่คนเข้าใจกัน”

ผมได้ตอบนักเขียนผู้อาวุโสกว่าผมเกือบ 3 ปี ไปอย่างสั้นๆว่า “เรามีน้ำมันดิบมากหรือน้อยนั้น ไม่สำคัญเท่ากับว่า เราได้มีการจัดการมันอย่างเป็นธรรมหรือไม่ เป็นธรรมต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากร และเป็นธรรมต่อผู้รับสัมปทานด้วย และถ้าให้ดีกว่านั้นต้องเป็นธรรมต่อคนรุ่นหลังของเราด้วย” 

ผมได้ขยายความอีกเล็กน้อยว่า “น้ำมันดิบที่เราผลิตได้ภายในประเทศไม่พอใช้จริง เราต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ไอ้ที่เราผลิตได้เองเราก็ส่งออกด้วย เฉพาะบริษัทเชฟรอนบริษัทเดียวซึ่งผลิตน้ำมันดิบได้วันละกว่า 1 แสนบาร์เรล หรือ 15.9 ล้านลิตร ประมาณ 60% เขาส่งออก มันซับซ้อนไหมพี่”

“ส่งออกในราคาต่ำกว่าที่ขายให้คนไทยด้วย” เสียงคุณชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ นักจัดรายการวิทยุผู้แหลมคม และมากด้วยประสบการณ์เสริมขึ้นมา

“แล้วทำไมคนไทยไม่ค่อยรู้กัน” คุณอัศศิริ ถามต่อ

“ก็เหมือนกับดีบุกในช่วง 14 ตุลาคม 2516 นั่นแหละพี่” ผมย้อนความหลังให้วงสนทนาผู้สูงวัย “กว่าที่คนไทยจะรู้เรื่อง เขาก็โกยไปเกือบหมดแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีแร่แทนทาลัมราคาสูงกว่าดีบุกหลายเท่าปนติดไปด้วยแต่เราไม่รู้ ตอนนี้ประเทศไทยส่งทองคำออกอีกแล้ว ปีละประมาณ 4 ตัน คนไทยก็ไม่รู้ แถมชาวบ้านจำนวนมากได้รับผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงจากไซยาไนด์”

“ที่คนไทยไม่รู้เพราะผู้ประกอบการจงใจไม่ให้เรารู้ เรื่องน้ำมันก็เหมือนกัน มีข้อมูลจริงมั่ง เท็จมั่ง และที่จงใจบิดเบือนก็มาก แต่เรื่องสำคัญคือ เรื่องความเป็นธรรม” ผมกล่าวต่อไปว่า

“ในเรื่องความเป็นธรรมนั้น พี่คิดดู ในปี 2554 บริษัทที่ได้รับสัมปทานมีกำไรสุทธิร้อยละ 97 ของเงินลงทุนในปีนั้น ข้าราชการระดับสูงบอกกับประชาชนว่าแหล่งปิโตรเลียมเราเป็นหลุมเล็กๆ ต้นทุนในการขุดเจาะสูง จะเรียกผลตอบแทนสูงก็ไม่ได้ เหมือนลูกสาวเราไม่สวยจะเรียกสินสอดแพงๆ เดี๋ยวลูกก็ขึ้นคานหรอก” 

“กำไรสุทธิ 97%!” เพื่อนร่วมวงอีกท่านหนึ่งอุทานออกมา

“ใช่ 97 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุน แต่ยอดเงินลงทุนไม่ใช่แค่ร้อยล้านพันล้านบาทนะ แต่มันคือ แสนห้าหมื่นล้านบาทเชียวนะ” ผมตอบอย่างมั่นใจพร้อมกับถามกลับไปว่า

“มันเป็นธรรมต่อคนไทยผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรไหม? ความเสี่ยงก็น้อย สินค้าก็ไม่บูด แถมผูกขาดอีกต่างหาก” 

เพื่อนร่วมวงคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าภาพได้เสนอจะชวนเพื่อนสนิทของเขามาคุยกับผมในเรื่องปิโตรเลียม ผมค่อนข้างจะลังเลที่จะรับนัดพร้อมกับเล่าประสบการณ์ตรงที่ผมเคยประสบว่า “ผมเคยคุยกับนักธุรกิจที่เป็นวิศวกรด้วย เป็นชาวสงขลา ตอนนั้นคุยกันเรื่องท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ทั้งๆ ที่ผมอ้างแหล่งข้อมูลของทางราชการ แต่เขาไม่เชื่อ ผมบอกให้เขาไปตรวจสอบความถูกต้องด้วยตนเอง และเอาหลักฐานประกอบตัวเลขของเขามาด้วย ปรากฏว่าเขาหายเงียบไปเลย”

เราแยกย้ายกันกลับเมื่อเวลาใกล้เที่ยงคืนพร้อมกับต้องปลุกเพื่อนร่วมวงบางคนที่กำลังกรน

2.ค้นข้อมูลจากภาครัฐ

กลับถึงบ้านแล้ว ผมรีบเปิดดูรายงานประจำปี 2555 ซึ่งเป็นรายงานปีล่าสุดของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน วันรุ่งขึ้นผมได้สรุปผลประกอบการในกิจการผลิตปิโตรเลียมของประเทศไทย ซึ่งก็เป็นข้อมูลของทางราชการแต่ผมวิเคราะห์คนละมุม โดยเลือกมุมซึ่งเป็นความจริงที่สำคัญมากมาเสนอ ดังได้แสดงในแผ่นภาพข้างล่างนี้

ตัวเลขที่ผมได้เรียนต่อวงสนทนาว่า ในปี 2554 บริษัทผู้รับสัมปทานได้กำไรสุทธิคิดเป็นร้อยละ 97 ของเงินลงทุนนั้น ผมถือว่าเป็นความไม่เป็นธรรมต่อคนไทยมากแล้ว

แต่ข้อมูลในปี 2555 (ซึ่งเป็นรายงานออกใหม่ล่าสุดแต่ผมเพิ่งได้อ่าน-ใช่ปีล่าสุด 2555) พบว่า กำไรดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็น 117% เลยทีเดียว คิดเป็นตัวเงินก็ประมาณ 1.87 แสนล้านบาท มากกว่าเดิมถึง 20% โดยที่เงินลงทุนเท่ากับ 1.6 แสนล้านบาท
 

 
จากข้อมูลในแผ่นภาพดังกล่าวมีข้อน่าสนใจ 2 ประการคือ
 
(1) ค่าภาคหลวงที่รัฐได้คิดเป็นร้อยละ 12.15 ของมูลค่าปิโตรเลียม ซึ่งเดิมทีกฎหมายได้กำหนดให้คิดในอัตราร้อยละ 12.5% แต่ได้ถูกแก้ไขเป็นช่วง 5-15% เมื่อประมาณปี 2532

(2) ภาษีเงินได้ ตามกฎหมายได้กำหนดว่าจะต้องเสียไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิแต่ไม่เกินร้อยละ 60 แต่ผมไม่เข้าใจครับว่าทำไมจึงมีการเก็บจริงที่อัตราร้อยละ 50 มาตลอด

สำหรับในแผ่นภาพนี้พบว่า ภาษีเงินได้คิดเป็นเพียงร้อยละ 37 เท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่ามีบริษัทจำนวนมากที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในช่วง 8 ปีแรก รวมทั้งไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าเครื่องจักร และอุปกรณ์ด้วย หลังจาก 8 ปีแล้วก็ยังมีสิทธิพิเศษเรื่องภาษีอีกแต่ผมจำรายละเอียดไม่ได้แล้ว

ผมไม่เข้าใจจริงๆ ว่า ทำไมต้องลดภาษีให้แก่นักลงทุนสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม เพราะว่าปิโตรเลียมที่ขายให้แก่คนไทยก็เป็นราคาตลาดโลก (และบวกค่าขนส่ง ทั้งๆ ที่ไม่มีการขนส่งจริง) ในเมื่อเราซื้อจากต่างประเทศก็มีราคาถูกกว่าเสียด้วยซ้ำ

ขณะเขียนบทความนี้ ผมนั่งฮัมเพลง “ตายสิบเกิดแสน” ของน้าหงา คาราวาน นอกจากจะนำมาเป็นชื่อบทความ (ซึ่งผมจำได้แม่น) แล้ว ตอนหนึ่งของเพลงกล่าวว่า

มองเห็นผู้ข่มเหง บรรเลงเพลงชื่อ “กดขี่” มองเห็นผู้คนแค้น ทั้งแดนดินดังแดนบาป…

ผมว่าเรื่องนี้ คสช.ก็รู้ว่า “ผู้คนแค้น” กันมากทั้งแผ่นดิน แต่ คสช.จะสามารถจัดความคิดให้เป็นระบบ และแยกถูกแยกผิดได้หรือไม่ ผมว่าไม่นานคนไทยจะได้เห็นกัน (หมายเหตุ ความตั้งใจดีของ คสช.อย่างเดียวคงไม่พอสำหรับเรื่องที่ซับซ้อนมากเช่นนี้ครับ ท่านต้องพึ่งประชาชนที่บริสุทธิ์ จึงจะสามารถจัดการกับเรื่องเลวๆ บาปๆ แบบนี้ได้)

3.การบิดประเด็นของภาครัฐ

แทนที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานจะตั้งคำถามว่า การที่บริษัทผู้รับสัมปทานลงทุน 1.6 แสนล้านบาท โดยได้กำไรสุทธิ 1.9 แสนล้านบาท เป็นการประกอบการที่ได้กำไรมากเกินไปหรือไม่ แต่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กลับมีคำอธิบายให้แก่คนไทยผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรต้องหลงประเด็นไปว่า “รัฐมีรายได้มากกว่าเอกชนผู้ประกอบการ” ดังข้อความในหน้าที่ 89 ซึ่งผมตัดมาให้ดูดังภาพ
 

 
สิ่งที่กรมเชื้อเพลิงนำไปประชาสัมพันธ์ก็คือ “รัฐได้รับผลประโยชน์มากกว่าเอกชน” 
 
วิธีคิดของหน่วยราชการนี้ก็คือ นำมูลค่าปิโตรเลียมมาหักต้นทุนการสำรวจ และขุดเจาะ โดยบริษัทคิดต้นทุนทั้งหมดของตนเองออกไปก่อน ที่เหลือก็นำมาแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ รายได้รัฐ (ซึ่งประกอบด้วย ค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ ในปี 2555 ได้รวมกัน 177,645 ล้านบาท) ในขณะที่บริษัทได้รับสุทธิ 187,343 ล้านบาท ถ้าคิดเป็นสัดส่วนพบว่า รัฐได้รับร้อยละ 49 ผู้ประกอบการเอกชนได้ร้อยละ 51 ซึ่งเอกชนได้มากกว่ารัฐ

วิธีคิดของทางราชการไทยก็คือ คิดว่ารัฐไทยไม่มีต้นทุนใดๆ ในทรัพยากรปิโตรเลียมนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นค่าบำรุงรักษา ค่าใช้จ่ายทางการทหารที่ดูแลรักษาทรัพยากรนี้มาหลายร้อยปี ไม่คิดถึงชีวิตและเลือดเนื้อของคนไทยที่เสียสละเพื่อรักษาดินแดนไว้จนมาถึงวันนี้ ไม่คิดคุณค่าของ “อำนาจอธิปไตย” เหนือแผ่นดินดังกล่าวเลย

ผมไม่เชื่อว่าทหารไทย และคนไทยทั่วไปจะคิดแบบนี้

4.วิธีคิดที่เป็นธรรมกว่า

ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ขึ้นค่าภาคหลวงในแหล่งปิโตรเลียมที่อยู่ในส่วนของรัฐบาลกลาง กล่าวคือ ได้ขึ้นค่าภาคหลวงจากร้อยละ 12.5 เป็น 16.67 (ข้อมูลจาก GAO-07-676R Oil and Gas Royalties)

ประเทศนอร์เวย์ คิดอัตราค่าภาคหลวงตามราคาปิโตรเลียม เช่น ถ้าราคาปิโตรเลียมไม่ถึง $30 ต่อบาร์เรล จะไม่คิดค่าภาคหลวงเลย แต่ถ้าราคาเกินกว่านี้จะคิดอัตราค่าภาคหลวง 30% ของมูลค่าปิโตรเลียม ซึ่งราคาน้ำมันดิบได้เกิน $30 ต่อบาร์เรลมานานกว่า 10 ปีแล้ว (ดูรูปล่างสุด)

แต่ที่มีความเป็นธรรมต่อประเทศ และผู้ประกอบการมากกว่านั้นก็คือ ระบบที่เรียกว่า “ระบบการแบ่งปันผลผลิต” ซึ่งประเทศในกลุ่มอาเซียนทุกประเทศได้เปลี่ยนมาจากระบบเดิมที่เรียกว่า “ระบบสัมปทาน” ซึ่งเป็นระบบที่ประเทศไทยกำลังใช้อยู่เดี๋ยวนี้ ในทางวิชาการเขาถือว่าระบบสัมปทานเป็นระบบเมืองขึ้นที่เจ้าอาณานิคมมีสิทธิทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการจัดการ การเพิ่ม หรือลดการผลิต การส่งออกทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีน้ำมันไม่พอใช้ เป็นต้น

5.ราคาปิโตรเลียมต้นน้ำในประเทศไทยเทียบกับราคาตลาดต่างประเทศ

เพื่อให้ได้รายละเอียดที่สำคัญเพิ่มเติม ในหัวข้อนี้ผมจึงขอเสนอข้อมูล 2 ชุดครับ

ชุดแรกเป็นข้อมูลการผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยในปี 2555 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ ที่แหล่งการผลิต ที่ที่เขาคิดค่าภาคหลวงกัน พบว่า มีการผลิตปิโตรเลียมคิดเป็นมูลค่า 524,858 ล้านบาท (ประมาณ 5% ของจีดีพี) โดยที่ก๊าซธรรมชาติมีมูลค่าสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 46 รองลงมาคือน้ำมันดิบร้อยละ 34 และคอนเดนเสท (น้ำมันเหลวที่ได้จากการเจาะก๊าซ) อีกร้อยละ 21

สำหรับทางด้านขวามือของตารางดังกล่าวเป็นราคาต่อหน่วย เอาไว้เปรียบเทียบกับราคาในตลาดโลก (ในข้อมูลชุดที่สอง) พร้อมกับการเปรียบเทียบราคาของปี 2554 กับ 2555 ด้วย
 

 
จากตารางจะเห็นว่า ราคาน้ำมันดิบในปี 2555 เฉลี่ยเท่ากับลิตรละ 21.34 บาท โดยเพิ่มมาจากปี 2554 ร้อยละ 5.3 สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ทำไมราคาก๊าซจึงเพิ่มขึ้นถึง 21% ในปีเดียว
 
สำหรับข้อมูลชุดที่สอง เป็นราคาน้ำมันดิบในตลาด West Texas (ซึ่งวิกิพีเดียขยายความว่าเป็นน้ำมันเบา และมีกำมะถันต่ำ) และตลาด Brent (มาจากอักษรย่อของ 5 คำ) จากแผ่นภาพดังกล่าวพบว่า ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปี 2555 ของตลาดทั้งสอง ลิตรละ 20.02 บาท ในขณะที่ราคาที่ผลิตจากประเทศไทยเท่ากับ 21.34 บาท และเมื่อน้ำมันดิบพวกนี้เข้าโรงกลั่นก็จะถูกคิดค่าการกลั่นแพงอีกทอดหนึ่ง (หมายเหตุ ราคาน้ำมันดีเซลหน้าโรงกลั่นกลางเดือนมกราคม มิถุนายน และธันวาคม เท่ากับ 26.55, 23.50 และ 24.49 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ผมสุ่มมา 3 เดือนเพราะกระทรวงพลังงานไม่มีข้อมูลสรุป)

เห็นแล้วใช่ไหมว่า สำหรับน้ำมันแล้วราคานำเข้าถูกกว่าที่ผลิตเอง
 

 
อนึ่ง ราคาก๊าซหุงต้มในข้อมูลชุดแรกปี 2555 กิโลกรัมละ 9.49 บาท แต่ราคาที่ขายหน้าโรงกลั่นกิโลกรัมละ 10.51 บาท และราคาเมื่อรวมภาษี และอื่นๆ แล้วราคาขายปลีก (สำหรับปรุงอาหาร) กิโลกรัมละ 18.13 บาท
 
6.สรุป

ที่กล่าวมาแล้วคือ “ความจริงที่สำคัญ” ครับ ในขณะที่ข้อโต้แย้งของด็อกเตอร์ผู้อาวุโสที่ว่า ประเทศไทยมีน้ำมันดิบไม่ได้มากอย่างที่คนเข้าใจก็เป็นความจริง แต่เป็น “ความจริงที่ไม่สำคัญ” ครับ

ผมเห็นโฆษณาของสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งบอกในตอนท้ายๆ ว่า “เสนอความจริง” ผมคิดว่าเป็นคำโฆษณาที่ยังไม่ถูกต้องครบถ้วนครับ เราต้องเสนอ “ความจริงที่สำคัญ” เรื่องต้นกล้วยออกปลีตรงกลางลำต้น เรื่องควายหาย หมีตั้งท้องก็เป็น “ความจริง” แต่ “ไม่สำคัญ” ครับ แต่การปล้นทรัพยากรปิโตรเลียมเป็น “ความจริงที่สำคัญ” ครับ แต่ไม่มีสื่อใดนำเสนออย่างเกาะติด

อะไรมาบังตาสื่อส่วนใหญ่ในประเทศนี้ครับ ทั้งๆ ที่คนจำนวนมากขึ้นทุกทีได้ “มองเห็นผู้ข่มเหง บรรเลงเพลงชื่อ “กดขี่” มองเห็นผู้คนแค้น ทั้งแดนดินดังแดนบาป…”
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น