ศูนย์ข่าวภูเก็ต - การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 (ปัจฉิมนิเทศ) โครงการศึกษาความเหมาะสมในการลงทุน โครงการวางท่อส่งน้ำดิบจากเขื่อนรัชชประภาไปเกาะภูเก็ต เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
วันนี้ (17 ก.ค.) นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 (ปัจฉิมนิเทศ) โครงการศึกษาความเหมาะสมในการลงทุน โครงการวางท่อส่งน้ำดิบจากเขื่อนรัชชประภาไปเกาะภูเก็ต ซึ่งทางการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จัดขึ้น ที่ห้องรายา โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยมี นายจำเนียร เมืองจันทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรน้ำ การประปาส่วนภูมิภาค ผู้แทนหน่วยงานราชการระดับจังหวัด ผู้แทนหน่วยงานราชการระดับอำเภอ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน จ.ภูเก็ต และ จ.พังงา คณะกรรมการลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก องค์กรภาคประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วม
นายจำเนียร เมืองจันทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรน้ำ การประปาส่วนภูมิภาค กล่าวว่า จากความเติบโตทางเศรษฐกิจและธุรกิจการท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ ของภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และภูเก็ต ส่งผลให้แหล่งน้ำดิบที่ใช้เพื่ออุปโภคบริโภคไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต การประปาส่วนภูมิภาค จึงมีแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำดิบสำหรับอุปโภคบริโภคในระยะยาวในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียง สร้างความมั่นคงด้านแหล่งน้ำในพื้นที่ จ.ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ และพังงา รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
จึงได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท แอสดีคอน คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท โปรเกรส เทคโนโลยี คอนซัลแท็นส์ จำกัด ทำการศึกษาความเหมาะสมในการลงทุนโครงการวางท่อส่งน้ำจากเขื่อนรัชชประภา (จ.สุราษฎร์ธานี) หรือแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียงที่มีศักยภาพเพียงพอไปยังเกาะภูเก็ต เพื่อใช้ในกิจการประปาการ เกษตร และอื่นๆ ให้เพียงพอในระยะเวลา 20-30 ปีข้างหน้า และให้ครอบคลุมความต้องการให้น้ำในอนาคตที่อาจจะมีขึ้นของชุมชนตามแนวท่อส่งน้ำที่ผ่านบางพื้นที่ของ จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ และพังงา โดยมีระยะเวลาศึกษาโครงการ 420 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนสิงหาคมนี้
นายจำเนียร กล่าวต่ออีกว่า ก่อนที่จะมีการสรุปผลการศึกษา ทางการประปาส่วนภูมิภาค ได้ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาได้ดำเนินกิจกรรมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ศึกษา เพื่อนำเสนอข้อมูล และความก้าวหน้าการศึกษาความเหมาะสมโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในพื้นที่ จ.ภูเก็ต พังงา และสุราษฎร์ธานี มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ ก็ได้นำข้อเสนอแนะ และความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปพิจารณาร่วมกับการศึกษาด้านวิชาการ และจัดทำรายงานผลการศึกษาฉบับร่าง เพื่อนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป