xs
xsm
sm
md
lg

การประปาทุ่มเกือบ 30 ล้าน จ้างศึกษาส่งน้ำจากเขื่อนรัชชประภาเข้าภูเก็ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - การประปาส่วนภูมิภาค จ้างบริษัทที่ปรึกษา 30 ล้าน ศึกษาความเหมาะสมในการลงทุนโครงการวางท่อส่งน้ำดิบจากเขื่อนรัชชประภาเข้าภูเก็ต เสนอ 3 แนวทางเลือก หวังแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ 4 จังหวัด ในระยะ 20 ปีข้างหน้า

เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (7 พ.ย.) ที่โรงแรมเพิร์ล จ.ภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการการสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 “โครงการศึกษาความเหมาะสมในการลงทุน โครงการวางท่อส่งน้ำดิบจากเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี ไปเกาะภูเก็ต” ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาค ว่าจ้างบริษัทแอสดีคอน คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท โปรเกรส เทคโนโลยี คอนซัลแท็นส์ จำกัด ศึกษาความเหมาะสมในโครงการวางท่อส่งน้ำจากเขื่อนรัชชประภา หรือแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียงที่มีศักยภาพเพียงพอไปยังเกาะภูเก็ต โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมรับฟัง

นายสมเกียรติ ภิริยะกากูล รองผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาค 5 กล่าวว่า จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และธุรกิจการท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ ของภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ฯ กระบี่ พังงา และภูเก็ต อาจส่งผลให้แหล่งน้ำดิบที่ใช้เพื่ออุปโภคบริโภคมีไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางการประปาส่วนภูมิภาค จึงมีแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำดิบสำหรับอุปโภคบริโภคในระยะยาวในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียง จึงได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วย บริษัทแอสดีคอน คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท โปรเกรส เทคโนโลยี คอนซัลแท็นส์ จำกัด ในวงเงินเกือบ 30 ล้านบาท

ให้ทำการศึกษาความเหมาะสมในการลงทุนโครงการวางท่อส่งน้ำจากเขื่อนรัชชประภา หรือแหล่งน้ำดิบบริเวณใกล้เคียงที่มีศักยภาพเพียงพอไปยังเกาะภูเก็ต เพื่อใช้ในกิจการประปา การเกษตรและอื่นๆ เพื่อรองรับการใช้น้ำให้เพียงพอในอีก 20 ปี ข้างหน้า และให้ครอบคลุมความต้องการใช้น้ำในอนาคตที่อาจจะมีขึ้นของชุมชนตามแนวท่อส่งน้ำที่ผ่านพื้นที่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และภูเก็ต โดยการศึกษาความเป็นไปได้นั้นใช้เวลา 420 วัน เริ่มทั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.2556 สิ้นสุดสัญญาในวันที่ 17 สิงหาคม 2557 ซึ่งหลังจากการศึกษาแล้วจะทำให้ได้ทางเลือกที่เหมาะสมในการดำเนินการ เมื่อได้ทางเลือกที่เหมาะสมทางการประปาส่วนภูมิภาคก็จะเสนอไปยัง ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป

ขณะที่ นายอนิรุทธ์ สุขสมอรรถ ผู้เชี่ยวชาญด้านจัดการทรัพยากร จากบริษัทที่ปรึกษา กล่าวว่า ขอบเขตของการศึกษามีพื้นที่ครอบคลุมบริเวณพื้นที่เกาะภูเก็ต และพื้นที่ที่วางท่อส่งน้ำผ่าน ได้แก่ ต.เขาพัง ต.พรุไทย ต.พะแสง ต.เขาวง อ.บ้านตาขุน ต.ต้นยวน ต.คลองชะอุ่น ต.พังกาญจ์ อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี ต.เขาต่อ อ.ปลายพระยา ต.นาเหนือ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ต.ทับปุด ต.บ่อแสน อ.ทับปุด ต.บางเตย ต.ถ้ำผุด ต.ท้ายช้าง ต.ตากแดด อ.เมืองพังงา ต.กระโสม ต.กะไหล ต.ท่าอยู่ ต.หล่อยูง ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ต.ไม้ขาว ต.เทพกระษัตรี ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง ต.เกาะแก้ว ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต และ ต.กะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต

วัตถุประสงค์โครงการเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในระยะยาวในจังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา รวมทั้งเพื่อสร้างความมั่นคงด้านแหล่งน้ำในพื้นที่ และเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งในการศึกษาความเหมาะสมของโครงการจะพิจารณาทางเลือกในการวางท่อ 3 กรณี ประกอบด้วย 1.การวางท่อส่งน้ำดิบจากเขื่อนรัชชประภาไปยังเกาะภูเก็ตสำหรับกิจการประปา และการเกษตรอื่นๆ 2.การจัดทำระบบผลิตน้ำประปา และวางท่อส่งน้ำประปาจากเขื่อนรัชชประภาไปยังเกาะภูเก็ตสำหรับการประปาส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 3.วางท่อส่งน้ำดิบจากเขื่อนรัชประภาไปยังจังหวัดพังงา สำหรับกิจการประปา การเกษตรและอื่นๆ และจัดทำระบบผลิตน้ำประปา และวางท่อส่งน้ำประปาจากจังหวัดพังงา ไปยังเกาะภูเก็ตสำหรับกิจการประปา

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการนั้นยังต้องมีการศึกษาเรื่องความเหมาะสมในการลงทุน และการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งการศึกษาเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการวางท่อนั้นจะต้องผ่านพื้นที่ต่างๆ จึงจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาเรื่องของผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตมีประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีแหล่งน้ำดิบที่สร้างเสร็จแล้ว จำนวน 2 แห่ง คือ เขื่อนบางวาด และเขื่อนบางเหนียวดำ และในเดือน มิ.ย.คาดว่าจะสร้างเสร็จอีก 1 อ่างเก็บน้ำ คือ อ่างเก็บน้ำคลองกะทะ ทำให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่ในขณะนี้มีเพียงพอต่อความต้องการ แต่จำเป็นที่จะต้องหาแหล่งน้ำรองรับความต้องการในระยะยาวในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าปริมาณการใช้น้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอีก
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น