“พลังทวี” หมายถึง สิ่งที่ช่วยให้เราสามารถทำได้มากกว่า ด้วยการลงแรงน้อยกว่า หรือด้วยการลงทุนที่น้อยกว่า หรือใช้เวลาน้อยกว่า แต่เมื่อทำออกมาแล้วกลับได้ผลคุ้มค่ามหาศาล เช่น กองทัพที่ใช้กำลังพลน้อย แต่สามารถรบชนะข้าศึกที่มีกำลังพลมาก
หรือถ้าเป็นในแง่ของวัสดุอุปกรณ์ตัวช่วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานอยู่นี้ ก็ถือเป็นพลังทวีอย่างหนึ่งในรูปแบบของเครื่องทุ่นแรง มันมีศักยภาพมากพออย่างเหลือเฟือที่จะช่วยให้เราทำงานสำเร็จลุล่วงได้อย่างสบาย หรือการใช้ความเชี่ยวชาญของผู้อื่นก็เป็นพลังทวีอีกรูปแบบหนึ่ง และทั้งหมดนี้คือนิยามของคำว่า “พลังทวี” ที่สำคัญคือ “คนรวยใช้พลังทวีมากกว่าคนจน”
พลังทวีดีอย่างไร? คำถามนี้มีคำตอบสอดคล้องกับที่ “โรเบิร์ต คิโยซากิ” มหาเศรษฐีผู้แต่งหนังสือขายดีระดับโลกกล่าวไว้ในหนังสือ “พ่อรวยสอนลูก” ว่า
“มนุษย์ได้เปรียบสัตว์เดรัจฉาน ตรงที่สามารถสร้างเครื่องทุ่นแรงได้ มนุษย์ที่ใช้เครื่องทุ่นแรงเป็น ย่อมมีอำนาจเหนือคนที่ไม่ใช้เครื่องทุ่นแรง”
เครื่องทุ่นแรงในที่นี้กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พลังทวี นั่นเอง ดังนั้น พลังทวีจะเป็นอะไรก็ได้ ที่ใช้แล้วมันช่วยให้เราทำงานได้มากขึ้น ด้วยราคาต้นทุนที่ถูกลง มันอาจเป็นคน หรือวัตถุสิ่งของ หรือระบบบริหารจัดการที่ดี หรือแม้แต่การศึกษาก็เป็นพลังทวีอีกรูปแบบหนึ่ง
และเพื่อความชัดเจนในความแตกต่างระหว่างผู้ที่รู้จักใช้ กับผู้ที่ไมรู้จักใช้ “พลังทวี” มีนิทานเรื่องหนึ่งที่อยากเล่าประกอบเป็นตัวอย่าง...
กาลครั้งนั้นยังไม่นานเท่าไหร่ มีชุมชนชาวเขาแห่งหนึ่งซึ่งน่าอยู่ ตั้งอยู่บนภูเขาสูง แต่มีปัญหาว่า ชุมชนจะขาดน้ำหากฝนไม่ตก ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหานี้ กรรมการชุมชนจึงลงมติเลือกหนุ่มชาวดอยสองคน เข้ามาทำงานเป็นผู้ส่งน้ำให้คนในชุมชน
“อาโข่ง” หนุ่มชาวดอยคนแรกไม่ยอมเสียเวลาใดๆ ทันทีที่วางปากกาเซ็นสัญญาว่าจ้างลง เขารีบวิ่งไปซื้อถังตักน้ำขนาดใหญ่มาสองใบ แล้วเริ่มตักน้ำจากห้วย ใส่ถังลำเลียงมาให้คนในชุมชนใช้ทันที และทุกเช้ามืดก่อนไก่ขัน เขารีบตื่นก่อนคนอื่น เพื่อทำหน้าที่ตักน้ำมาใส่ถังคอนกรีต ให้พอเพียงสำหรับคนในชุมชน
แม้งานจะหนักแต่อาโข่งก็มีความสุข เขาแอบกระหยิ่มอยู่ในใจว่า คู่แข่งน่าจะไม่เอาถ่าน สงสัยคงสู้งานหนักไม่ไหวแหงๆ
ส่วน “อาข่า” หนุ่มชาวดอยคนที่สอง ทันทีที่ปิดประชุม เขาก็เดินมาที่ลำห้วย เพื่อสำรวจดูระยะทาง สถานที่ ในระหว่างเดินทางกลับบ้าน จู่ๆ เขาเกิด “ปิ๊งแว้บ” ไอเดียระบบท่อส่งน้ำขึ้น อาข่าจึงรีบสานต่อไอเดียที่ผุดขึ้นในหัว เขาเก็บตัวซุ่มเงียบ เพื่อเตรียมวางแผนทำธุรกิจ ตั้งบริษัท หาผู้ร่วมทุน จ้างผู้ร่วมงาน
ผ่านไปไม่นาน เมื่อทุกอย่างลงตัว อาข่าก็กลับมาพร้อมทีมงาน เขาใช้เวลาหนึ่งปีสร้างระบบท่อส่งน้ำขนาดใหญ่เชื่อมต่อระหว่างลำห้วยเข้ากับชุมชนชาวเขาได้สำเร็จ
ในวันเปิดงานท่อส่งน้ำ อาข่าประกาศก้องท่ามกลางชุมชนว่า น้ำของเขามีราคาถูก และสะอาดกว่าน้ำของอาโข่ง นอกจากนี้อาข่ายังโฆษณาอีกว่า เขาสามารถส่งน้ำให้ทุกคนมีใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันอีกด้วย ขณะที่อาโข่งส่งน้ำให้คนในชุมชนได้เพียงห้าวันต่อหนึ่งสัปดาห์ เพราะหยุดทำงานวันเสาร์อาทิตย์
สิ้นเสียงประกาศของอาข่า ชาวเขาในชุมชนก็กรูกันเข้าไปที่ก๊อกน้ำจากท่อที่อาข่าและทีมงานสร้าง
อาโข่งพยายามแข่งขันกับอาข่าด้วยการลดราคาลง เขาซื้อถังน้ำมาเพิ่มอีกสองถังพร้อมฝาปิด และใช้วิธีใส่รถลากไปทีละสี่ถัง ทั้งยังให้ลูกชายอีกคนมาช่วยขนน้ำในช่วงวันหยุดเรียน แต่เมื่อลูกของเขาโตขึ้น ถึงเวลาต้องออกจากบ้านไปเรียนต่อที่อื่น อาโข่งมาส่งลูกชายที่ท่ารถพลางเอ่ยออกมาว่า
“เรียนจบแล้วรีบกลับมานะลูกรัก เพราะวันหนึ่งธุรกิจนี้จะตกเป็นของเจ้า”
ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลกลใด ปีแล้วปีเล่าลูกของอาโข่งก็ไม่กลับมาบ้านอีกเลย
ส่วนอาข่าเกิดไอเดียต่อยอดขึ้นไปอีกว่า ถ้าชุมชนนี้ต้องการน้ำ ชุมชนอื่นก็คงต้องการเหมือนกัน เขาจึงขยายสาขาธุรกิจท่อส่งน้ำที่มากด้วยคุณภาพ ปริมาณ ความสะอาด แต่ราคาย่อมเยา ไปเสนอให้แก่ชุมชนอื่น คิดค่าน้ำยูนิตละไม่กี่บาท
อาข่าสามารถส่งน้ำได้เป็นพันๆถังต่อวัน น้ำไหลจากลำห้วย เข้าสู่ชุมชนชาวเขาแต่ละครัวเรือนทุกวัน โดยที่อาข่าไม่ต้องไปทำงานเลย ตลอดเวลาที่น้ำไหลเข้าบ้านของคนในชุมชน เงินก็ไหลเข้าบัญชีของเขาอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน
อาข่ามีอิสระทางการเงิน เขาใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย ตรงข้ามกับอาโข่ง ต้องทำงานหนักตลอดชีวิต พร้อมด้วยปัญหาการเงินที่อยู่คู่กับเขาจวบถึงวาระสุดท้ายเมื่อสิ้นลม!!!
ลองโยงนิทานเรื่องนี้มาเปรียบเทียบดูว่า ตนเองใกล้เคียงกับอาข่าหรืออาโข่ง ระบบท่อส่งน้ำก็ไม่ต่างจากพลังทวีระบบอื่นๆ ดังที่กล่าวมา โดยเฉพาะระบบอินเตอร์เน็ต ปัจจุบันนี้ เราอยู่ในยุคที่ระบบอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีครองโลก ระบบเทคโนโลยีเหล่านี้จัดเป็นพลังทวีในรูปแบบใหม่
ประเด็นก็คือ “เราใช้ ‘พลังทวี’ รูปแบบใหม่นี้เป็นหรือไม่อย่างไร?” โดยที่ตนเองไม่หมกหมุ่นติดอยู่กับระบบเทคโนโลยีเกินไป และก็ไม่ได้เป็นคนตกยุคใช้ระบบเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เป็น
แน่นอนทุกระบบที่มนุษย์หรือธรรมชาติสร้างขึ้น ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน มันขึ้นอยู่กับวิธีการนำเอาระบบเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่างหาก ที่เป็นแก่นสารของระบบที่ถูกสร้างขึ้น
และในความเหมือน ก็ยังมีความต่างที่ซ่อนเร้นทำงานด้วยระบบมหัศจรรย์ ซึ่งตาเปล่าอย่างมนุษย์ธรรมดาไม่อาจมองเห็น
ขณะที่พลังทวีทางโลก คือตัวช่วยให้เราทำน้อยแต่ได้ผลมาก แต่พลังทวีทางธรรม เรียกต่างออกไปในชื่อที่เราคุ้นเคยกันดีว่า “บุญบารมี” ไม่ว่าจะทำน้อยหรือทำมาก ก็ได้ผลออกมาเป็นความมหัศจรรย์ คือทำแล้วได้ผลสัมฤทธิ์ออกมาเหนือความคาดหมาย เพราะบุญเป็นตัวหนุนนำชักใยเชื่อมโยง
ทางพุทธศาสนาเชื่อว่า “บุญ” เป็นปัจจัยสำคัญที่คอยชักใยเชื่อมโยงสิ่งดีๆเข้าด้วยกัน เป็นเหตุและผลให้เกิดความสัมฤทธิ์มีชีวิตที่มหัศจรรย์
นักปราชญ์ชาวพุทธให้เหตุผลว่า “บุญ” ที่ทำไว้ดีแล้ว จะสะสมอยู่ในภวังคจิต หรือจิตใต้สำนึกของเรา และเป็นตัวดึงดูดดลบันดาลสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเหนือความคาดหมาย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ บุญนั่นเองที่เป็นตัวแปรทำให้เกิดระบบการเชื่อมโยงชักใย ที่เหนือความคาดคิดเกินระดับสติปัญญาของปุถุชนจะหยั่งถึง
สิ่งต่างๆที่คนทั่วไปทำไม่ได้หรือทำไม่สำเร็จ แต่คนมีบุญกลับทำได้ราวกับมีมนต์วิเศษคอยช่วยเหลือ ให้ตนเองบรรลุถึงความสำเร็จ มีชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุข มั่งคั่งเจริญรุ่งเรือง เรื่องนี้ชาวพุทธที่ทำบุญอยู่เป็นนิจสินจะรู้ดี ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน “จักรสูตร”ว่า
“บุคคลพึงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
ควรคบหาสมาคมอริยชนไว้เป็นมิตร
ถึงพร้อมด้วยความตั้งตนไว้ชอบ
มีบุญได้กระทำไว้แล้วในปางก่อน
ลาภยศ ทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง และความสุข
ย่อมหลั่งไหลมาสู่บุคคลนั้น”
สรุปว่าความต่างในความเหมือน ระหว่างพลังทวีทางโลกและพลังทวีทางธรรมก็คือ...
พลังทวีทางโลก คือ ตัวช่วยให้เราทำน้อยแต่ได้ผลมาก ส่วนพลังทวีทางธรรม คือ บุญบันดาลให้ทุกอย่างราบรื่นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีอย่างน่าอัศจรรย์
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 163 กรกฎาคม 2557 โดย ทาสโพธิญาณ)