xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มผ้าทอนาหมื่นศรี จ.ตรัง เดินหน้าสู้แม้เจอวิกฤตยอดขายตกวูบ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - กลุ่มผ้าทอพื้นบ้านที่ยังคงขับเคลื่อนอยู่เพียงแห่งเดียวของตรัง ปรับตัว และผลิตสินค้าให้สอดคล้องต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาด หรือลูกค้า หวังต่อลมหายใจเป็นเอกลักษณ์เด่นให้นานที่สุด

นางอารอบ เรืองสังข์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ซึ่งเป็นผ้าทอพื้นบ้านที่ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนอยู่เพียงแห่งเดียวของจังหวัดตรัง กล่าวว่า ถึงแม้ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาทางกลุ่มจะประสบปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะผลพวงจากสถานการณ์ทางการเมือง และเศรษฐกิจที่ตกต่ำ จนทำให้ยอดขายตกลงไปในช่วงต้นปี และช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ประมาณ 10-20% แต่ทางกลุ่มก็พยายามที่จะปรับตัวให้สอดคล้องต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาด รวมทั้งผลิตสินค้าที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้ามากขึ้น

โดยผ้าทอนาหมื่นศรี นับตั้งแต่อดีตมาจนถึงขณะนี้เกือบ 100 ปีแล้ว ได้พยายามพัฒนาลวดลายจากที่มีเพียง 32 ลาย จนเพิ่มขึ้นเป็น 100 ลายแล้ว ตามประโยชน์ใช้สอย หรือจากที่ส่วนใหญ่จะผลิตเป็นผ้าถุง ผ้านุ่ง ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า มาเป็นผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าอเนกประสงค์ รวมทั้งผ้าพานช้าง ซึ่งในพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ ผ้าตัดเสื้อ และชุดสำเร็จรูปทั้งผู้หญิง-ผู้ชาย ตลอดจนหมวก กระเป๋าสะพาย กระเป๋าถือ กล่องกระดาษทิชชู เนกไท หมอนอิง หรือกิฟต์ชอปต่างๆ ในราคาตั้งแต่ชิ้นละ 10 บาท ไปจนถึง 10,000 บาท

นอกจากนั้น ทางกลุ่มยังสร้างเครือข่ายออกไปยังอำเภอต่างๆ ของจังหวัดตรัง รวมทั้งกลุ่มทอผ้าอื่นในจังหวัดภาคใต้ด้วยกัน เช่น พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ หรือเชื่อมโยงด้านการผลิตสินค้าให้ทันสมัย และรองรับต่อความต้องการได้ โดยพยายามสร้างสรรค์รูปแบบสินค้าให้แตกต่างไปจากโรงงาน ซึ่งสามารถทำให้ผ้าทอนาหมื่นศรียืนหยัดอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะเคยล้มลุกคลุกคลานจนแทบจะต้องยุติการดำเนินการมาแล้ว แต่กลับเติบโตขึ้นมาเป็นเอกลักษณ์เด่นของจังหวัดตรัง

นางเรียม ฤทธิมา อายุ 64 ปี แกนนำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี กล่าวว่า จากจำนวนสมาชิกที่เคยมีเพียงไม่กี่คน แต่ปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 139 คนแล้ว รวมทั้งยังมีตลาดกว้างไกลไปทั่วทั้งประเทศ ตลอดจนชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาร่วมกับหลายหน่วยงาน เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ทำให้สินค้าออกมาเป็นที่ถูกใจของลูกค้าในทุกๆ ระดับ ขณะที่ชาวบ้านเองก็หันมาทอผ้ากันมากขึ้น เนื่องจากมีรายได้ที่มั่นคง ดีกว่าการทำสวนยางพาราในยุคที่ราคาตกต่ำอย่างมากในขณะนี้
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น