ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สวก.ร่วมกรมประมง สมาคมพ่อครัวไทยภูเก็ตดัน “สุดยอดเมนูจุดฟ้าอันดามัน” สู่เวทีท่องเที่ยว ให้บรรจุอยู่ในเมนูรายการอาหารของโรงแรม และร้านอาหารต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต จัดแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ หลังพบปลากะรังจุดฟ้าเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่มีราคาสูง เร่งส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง
ระหว่างวันที่ 28-29 มิ.ย.2557 สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ร่วมกับกรมประมง สมาคมพ่อครัวไทยภูเก็ต และจังหวัดภูเก็ต จัดให้มีการแข่งขันประดิษฐ์อาหาร “สุดยอดเมนูจุดฟ้าอันดามัน” ชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้น ณ แกรนด์ฮอล์ ชั้น 1 โฮมเวิร์คภูเก็ต จ.ภูเก็ต โดยมีนิวัติ สุธีมีชัยกุล อธิบดีกรมประมง เป็นประธานเปิด และมี นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายพีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกจากสมาคมพ่อครัวไทยภูเก็ต ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ประชาชนทั่วไป และนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานคึกคัก
สำหรับกิจกรรมภายในงานมีทั้งการแข่งขันแกะสลักผักผลไม้ผสมผสานงานใบตอง การแข่งขันปรุงอาหารพื้นเมืองภูเก็ตสไตล์โมเดล การแข่งขันจัดค็อกเทลปาร์ตี้ฟรีสไตล์ และไฮไลต์ของงานคือ การแข่งขันทำอาหารจากปลากะรังจุดฟ้า “สุดยอดเมนูจุดฟ้าอันดามัน” การแข่งขันการปรุงอาหารจานหลักฟรีสไตล์โดยใช้วัตถุดิบจากปลากะรังจุดฟ้า นอกจากนั้น ภายในงานยังมีการสร้างสีสันด้วยการโชว์ทำอาหารจากปลากะรังจุดฟ้าอันดามัน โดยนายนิวัติ สุธีมีชัยกุล อธิบดีกรมประมง นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และนายพีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร
นายพีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ ว่า สวก. ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “ต้นแบบการผลิตพันธ์ปลากะรังที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์สูง แก่สำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กรมประมงเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์ปลากะรังมูลค่าสูง 3 ชนิด คือ ปลาหมดทะเล ปลากะรังจุดฟ้า และปลากะรังเสือ ซึ่งผลการวิจัยสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรเพื่อเป็นอาชีพทางเลือกใหม่ และเพื่อช่วยอนุรักษ์ปลากะรังในธรรมชาติที่นับวันมีจำนวนน้อยลง และจากการวิจัยพบว่า ปลากะรังทั้ง 3 ชนิด สามารถเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ได้ และพบว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่ตลาดมีความต้องการสูง โดยเฉพาะปลากะรังจุดฟ้า ที่มีราคาจำหน่ายสูงถึงกิโลกรัมละประมาณ 1,500 บาท ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งไปขายในตลาดต่างประเทศเป็นตลาดหลัก
แต่อย่างไรก็ตาม ทาง สกว.ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกร รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศที่สามารถพึ่งพาตลาดภายนอกประเทศเพียงอย่างเดียวได้ จึงได้มุ่งพัฒนาช่องทางตลาดภายในประเทศ ด้วยการสร้างความต้องการของตลาดเชิงรุก โดยอาศัยการเชื่อมโยงกับตลาดท่องเที่ยว ผลักดันให้ปลากะรังทั้ง 3 ชนิด เป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน คือ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ซึ่งจะเป็นการสร้างความต้องการของตลาดให้มีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และนอกจากหาช่องทางการตลาดแล้ว การหาแนวทางในการเสริมสร้างความเข้มแข็ง และยั่งยืนในอาชีพ หรือธุรกิจ เช่นการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งเพื่อให้เกิดอำนาจในการต่อรอง การหาแนวทางหรือข้อมูลที่จำเป็นในด้านกฎระเบียบทางราชการเพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เกษตรกรในการลงทุนสามารถยึดเป็นอาชีพที่มั่นคงต่อไป
ด้านนายนิวัติ สุธีมีชัยกุล อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ต เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก การผลักดันให้เกิดเมนูอาหารที่ทำจากปลากะรังจุดฟ้า ซึ่งเป็นปลาที่มีราคาสูง เนื้ออร่อยให้นักท่องเที่ยวได้สั่งมาลิ้มลองถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และเป็นการเปิดตลาดภายในประเทศ นอกเหนือจากการส่งออกไปยังประเทศ และการวิจัยเพาะขยายพันธุ์ให้เกษตรกรนำปลาเหล่านี้ไปเพาะเลี้ยงถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการลดการจับปลาในธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันพบว่าปลากะรัง มีจำนวนลดลงจากหลายสาเหตุ ทั้งจากธรรมชาติ และฝีมือคน และการเพาะเลี้ยงปลากะรังในขณะนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ และอัตราการรอดมีสูงถึง 90% และสามารถเลี้ยงได้ในทุกพื้นที่ที่ติดชายทะเล