คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...เมือง ไม้ขม
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่มีการยึดอำนาจโดย คสช.เป็นต้นมา แม้ว่าจะมีการก่อเหตุเกิดขึ้นทุกวัน โดยเป้าหมายยังอยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มชาวไทยพุทธเป็นหลัก แต่จำนวนการก่อเหตุมีการลดลงอย่างเห็นได้ชัด
มีบางวันที่ถือเป็นวันดี และเป็นโชคดีของเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนในพื้นที่ เพราะไม่มีเหตุร้ายแห่งความสูญเสียเกิดขึ้นเลย
และที่น่ายินดีคือ ในรอบเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พื้นที่เศรษฐกิจของทั้ง 4 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ปลอดจากการก่อการร้ายด้วยระเบิด
สิ่งที่เกิดขึ้นยังไม่มีหลักฐานใดที่จะชี้ชัดว่า การลดลงของเหตุร้ายเป็นเพราะปฏิบัติการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่มี พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 นั่งกุมบังเหียนอยู่ในฐานะ ผ.อ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สามารถสกัดกั้นแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนให้กบดานในที่ตั้ง หรือเป็นเพราะแนวร่วมมีแผนอะไรซ่อนอยู่
แต่เมื่อเหตุการณ์ร้ายลดน้อยลงก็ต้องยกประโยชน์ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐว่า สามารถเปิดเกม “รุก” และตั้ง “รับ” ได้ดี ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
หากในห้วงของเดือนรอมฎอนที่กำลังจะมาถึง สถานการณ์ความรุนแรงยังอยู่ในระดับที่ลดน้อยลง ยอมแสดงให้เห็นว่า ยุทธวิธีของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่นำมาใช้เป็นที่ได้ผล จึงต้องเร่งในการเปิดเกมรุกต่อกลุ่มแนวร่วม และเพิ่มความเข้มในการป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น
สิ่งสำคัญที่หน่วยงานความมั่นคงจะต้องเร่งผลักดัน คือ งานด้านการสืบสวนสอบสวนที่เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการยุติธรรม ที่เป็นของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.)
ก่อนหน้าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สชต.) นั้น พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีต ผบช.สชต.ได้มีแผนที่จะให้ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิ่มขีดความสามารถด้วยการให้มีเจ้าหน้าที่กลุ่มงานสอบสวนเพื่อทำ “คดีเกี่ยวกับความมั่นคง” โดยเฉพาะ
เพราะปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ คดีความมั่นคงที่พนักงานสอบสวนเป็นผู้สอบสวน และส่งฟ้องต่ออัยการนั้น กลายเป็น “สำนวนที่ไม่พอฟ้อง” และสุดท้ายศาลสั่งไม่ฟ้องมากถึง 70% ด้วยเหตุผลคือ พยานไม่มี ฟังไม่ขึ้น และหลักฐานอ่อน
เหตุผลที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากการทำคดีความมั่นคงที่เกิดขึ้น ศชต.ยังไม่มีพนักงานสอบสวนชำนาญการในเรื่องของความมั่นคง เหตุเกิดที่ท้องที่ไหนก็ให้ท้องที่นั้นก็ทำคดีกันไปตามรูปแบบราชการ ซึ่งมี “ร้อยเวร” เป็นผู้รับผิดชอบ
หากโรงพักไหนมี ผกก. หรือ รอง ผกก.สอบสวน หรือ สวส.ที่เก่งๆ และมีความตั้งใจก็อาจจะทำให้มีพยาน และหลักฐานที่มัดตัวผู้ถูกกล่าวหาได้ แต่ถ้าโรงพักไหนที่ไม่มีพนักงานสอบสวนชำนาญการ และผู้บังคับบัญชาไม่เอาไหน หรือมักเอาตัวรอดแบบเช้าชามเย็นชาม นั่นก็หมายถึงจะมีการทำคดีแบบตามน้ำ และผู้ถูกกล่าวหาก็จะพ้นผิดด้วยคำว่า ขาดพยานหลักฐาน หรือสำนวนอ่อนไม่พอฟ้อง
สุดท้ายผู้ร้ายก็อาจจะกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ขึ้นมาได้ และสิ่งที่ติดตามมาคือ การกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่จับ “แพะ” และกลายเป็น “เงื่อนไข” ให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนนำไปโฆษณาชวนเชื่อปลุกระดมแก่ประชาชน และกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ว่าเป็นผู้สร้างความ “อยุติธรรม” ให้เกิดขึ้น
ในขณะที่ สชต.ยังคงไม่มีความชัดเจน และเกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวของ ผบ.ตร.ขึ้นจากการยึดอำนาจการปกครองของ คสช. จนอาจจะทำให้การจัดตั้งกลุ่มงานสอบสวนชำนาญการของ ศชต.ที่มีการผลักดันเพื่อให้เกิดขึ้นต้องหยุดชะงักลงอีกครั้ง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการแก้ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไฟใต้ที่เกิดขึ้น
อันจะไม่สอดรับต่อความก้าวหน้าของฝ่ายอัยการ ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ส่งฟ้องผู้ต้องหา หรือผู้ถูกกล่าวหาจากพนักงานสอบสวน เพราะหลายปีที่ผ่านมา อัยการมองเห็นถึงจุดบอดของกระบวนการยุติธรรมไฟใต้ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นที่ส่งฟ้องผู้ต้องหาแล้ว แต่สุดท้ายศาลสั่งไม่ฟ้อง เพราะหลักฐานไม่พอฟ้อง
ขณะนี้อัยการได้จัดตั้ง “สำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2” ขึ้นที่ จ.ปัตตานีแล้ว โดยให้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบสำนวนที่เกี่ยวกับการก่อการร้าย การวางระเบิด หรือคดีเกี่ยวกับความมั่นคงโดยเฉพาะนั่นเอง
โดยอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 จะเป็นผู้รับผิดชอบคดีความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับอีก 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย อีกทั้งเป็นผู้ฟ้องต่อศาลเองเพื่อที่จะลดความกดดันของอัยการจังหวัด
ที่สำคัญคือ เพื่อที่จะได้ใช้อัยการผู้ชำนาญการในการตรวจสอบสำนวน หาพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อให้สำนวนที่สั่งฟ้องไม่อ่อนปวกเปียก หรือเหลวเป๋ว จนทำให้ผู้ร้ายได้มีโอกาสกลายเป็นแพะเหมือนที่ผ่านมา
แต่ถ้าฝ่ายของตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวน และทำหน้าที่ในฐานะของผู้กล่าวหาด้วย ยังไม่มีการปรับปรุงโครงสร้างของงานสืบสวนสอบสวนของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังไม่มีการตั้งกลุ่มงานสอบสวนชำนาญการคดีความมั่นคงเกิดขึ้นตามโครงสร้างแบบเดียวกับฝ่ายอัยการ การปฏิบัติหน้าที่ต่อไปก็จะเหนื่อยหนักขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่ต้องสงสัย
โดยข้อเท็จจริงนั้น การปรับปรุงงานด้านกระบวนการยุติธรรมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าจะให้สอดคล้องต่อข้อเท็จจริงต้องมีการปรับปรุงไปพร้อมๆ กันของทั้ง 3 ฝ่าย คือ ตำรวจ อัยการ และศาล โดยเฉพาะในส่วนของตำรวจ นอกจากควรจะต้องมีพนักงานสอบสวนชำนาญการแล้ว ยังต้องประปรุงงานด้านการพิสูจน์หลักฐาน และนิติวิทยาศาสตร์ให้สามารถเดินไปด้วยกันได้ด้วย
เพราะที่ผ่านมา ระหว่างฝ่ายพิสูจน์หลักฐานที่เป็นงานของตำรวจ กับนิติวิทยาศาสตร์ที่เป็นงานของกระทรวงยุติธรรมนั้น มีความขัดแย้งกันมาตลอด ถึงขั้นร่วมทางกันไม่ได้เลยทีเดียว ซึ่งหลายครั้งที่เห็นวิวาทะของความขัดแย้งผ่านทาง “หมอพรทิพย์” ปรากฏในหน้าสื่อต่างๆ บ่อยครั้ง
ในขณะที่สำนักงานอัยการนั้น การปรับโครงสร้างให้มีสำนักงานอัยการฝ่ายอาญาพิเศษ 2 ขึ้นจึงเป็นแนวคิดที่ถูกต้อง และสอดรับต่อหลักความจริง หลักความยุติธรรม เพียงแต่ขณะนี้ยังคงติดขัดในเรื่องของบุคลากรที่จะเข้ามารับผิดชอบยังมีไม่เพียงพอต่อสำนวนคดีที่เกิดขึ้นมากมายเท่านั้น
สำหรับในส่วนของศาลยุติธรรม ในอนาคตถ้าสถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังรุนแรงมากขึ้น หลายฝ่ายต่างเห็นว่าอาจจะต้องเกิด “ศาลความมั่นคง” ขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะ ซึ่งอาจจะต้องมีวิธีการในการพิจารณาคดีความมั่นคงที่แตกต่างจากคดีอาญาทั่วๆ ไป เพื่อที่จะทำให้สามารถเอาตัวคนทำผิดไปลงโทษได้อย่างเป็นธรรม
แต่ทั้งหมดที่ได้เขียนมาต้องทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวไทยมุสลิม เพื่อให้ได้รับรู้ว่า การตั้งพนักงานสอบสวนชำนาญการก็ดี การตั้งสำนักงานอัยการแผนกคดีอาญาพิเศษ 2 ก็ดี หรือในอนาคตหากมีการตั้งศาลความมั่นคงก็ดี ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะ “ไล่ล่า” มุสลิมในพื้นที่ แต่เป็นการตั้งขึ้นเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมมีความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าทุกข์ หรือเป็นจำเลย
ถ้าทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปดังว่าได้เมื่อไหร่ วันนั้นแหละที่ทุกฝ่ายจะได้เห็นความเป็นธรรมเกิดขึ้นในกระบวนบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการจับแพะ และการปล่อยแพะก็จะหมดไปจากจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง