xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าท่าสงขลา จัดประชุมถกแนวทางป้องกันน้ำทะเลเซาะ “หาดสมิหลา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กรมเจ้าท่าสงขลา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมรับฟังความเห็น ปชช. ต่อโครงการป้องกันน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งทะเลหาดสมิหลา เพื่อให้องค์ความรู้ เสริมสร้างความเข้าใจ พร้อมเสนอ 7 แนวทางแก้ปัญหา เพื่ออธิบายถึงผลดี-ผลเสียในแต่ละแนวทางให้แก่ผู้ร่วมรับฟัง

วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่โรงแรมราชมังคลา พาวิลเลี่ยน อ.เมือง จ.สงขลา กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ร่วมกับ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียครั้งที่ 2 ตามโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณหาดสมิหลา ถนนชลาทัศน์ อ.เมือง จ.สงขลา เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ได้รับทราบถึงความก้าวหน้าของการดำเนินงานโครงการ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เป็นขั้นตอนการพิจารณาเลือกรูปแบบโครงการ ที่เป็นแนวทางเลือกในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดสมิหลา ถนนชลาทัศน์ โดยมี นางจินตวดี พิทยเมธากูล ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดการประชุม

นายอารยัน รัตนพันธุ์ ผู้แทนกรมเจ้าท่า กล่าวว่า การจัดประชุมแสดงความคิดเห็น จะดำเนินการประชุม 3 ครั้ง การประชุมวันนี้เป็นการนำเสนอแนวทางเลือกในการแก้ไขปัญหา มุ่งเน้นแนวทางการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแล้วรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ที่เป็นการตอบโจทย์ที่แท้จริงของหาดสมิหลา โดยมีข้อมูลสภาพแวดล้อมปัจจุบันของชายหาด เป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการตัดสินใจเลือกแนวทางการป้องกันการกัดเซาะชายหาดฯ

สำหรับแนวทางเลือกที่สถาบันวิจัยฯ มีความเห็นว่าเหมาะสมต่อพื้นที่โครงการ มีทางเลือกทั้งหมด 7 แนวทาง คือ 1.ปล่อยไว้ไม่ต้องทำอะไร 2.เสริมทรายชายหาด3.เสริมทรายชายหาดและก่อสร้างหัวหาดเทียม 4.ก่อสร้างสันดอนทรายใต้น้ำ และเสริมทรายชายหาด 5.ก่อสร้างสันดอนทรายใต้น้ำ เสริมทรายชายหาด และก่อสร้างหัวหาดเทียม 6.ก่อสร้างโดมปะการังเทียมและเสริมทรายชายหาด และ 7.ก่อสร้างโดมปะการังเทียม เสริมทรายชายหาดและก่อสร้างหัวหาดเทียม

ซึ่งการนำเสนอแนวทางทั้ง 7 แนวทางนี้ จะอธิบายผลดี-ผลเสียให้ผู้เข้าประชุมรับทราบ เพื่อจะนำข้อเสนอการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของทางเลือกที่ประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมพิจารณาตัดสินใจร่วมกันว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสอดคล้องต่อสภาพหาดสมิหลา ในการประชุมครั้งต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น