xs
xsm
sm
md
lg

แก้เกมทุนอิทธิพลรุกอุทยานแห่งชาติ / ประเสริฐ เฟื่องฟู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : แกะสะเก็ด
โดย...ประเสริฐ  เฟื่องฟู
 
อุทยานแห่งชาติฯ คิดได้แล้วว่า การทวงคืนพื้นที่ทุกส่วนที่ถูกนายทุนบุกรุกยึดเอาไปครอบครองช่วงที่ผ่านมา โดยทำตามขั้นตอนระเบียบราชการ และมีอีกหลายหน่วยงานอาสาเข้ามาช่วยเหลือนั้น แท้จริงแล้วเป็นการ “เตะหมูเข้าปากหมา” ดีๆ นี่เอง
 
จากปัญหาอุปสรรคหลากหลายในการทวงคืนผืนป่าอุทยานแห่งชาติฯ หลายต่อหลายพื้นที่ ทั้งภาคอีสาน ตะวันออก และภาคใต้ ที่ถูกทุนอิทธิพลบุรุกเข้าครอบครองนั้น โคตรยาก!
 
เหมือน “อ้อยเข้าปากช้าง” ไม่ต้องคิดง้างเอาออก
 

 
ต้องผ่านการตรวจสอบ พิสูจน์กันหลายขั้นตอน และหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะในส่วนของการตรวจสอบระวางที่ดิน ทางกรมอุทยานฯ ก็ต้องอาศัยหน่วยงานอื่นเข้าช่วย
 
และในกรณีที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปพัวพันเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ อย่างเช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่รังวัด เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด ก็ไม่มีอำนาจดำเนินการ รวมทั้งการเพิกถอนเอกสารสิทธิ ก็เป็นเรื่องของกรมที่ดิน
 
ล้วนต้องเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีตามขั้นตอน
 

 
นอกจากนั้น ยังมีตัวช่วยที่ถูกเสนอมาให้ช่วยอีก อย่างเช่น ป.ป.ท., ป.ป.ช. และดีเอสไอ รวมทั้งคณะกรรมาธิการฯ ต่างๆ ดูการทำงานแล้ว ไม่แน่ใจว่า เป็นตัวช่วย หรือเป็นตัวถ่วงกันแน่ 
 
ตรงกันข้ามกับการบุกรุกเข้ายึดพื้นที่ของกลุ่มทุนอิทธิพลนั้น กลับง่ายดุจพลิกฝ่ามือ ป่าไม้พื้นที่สีเขียว ชั่วแค่ไม่กี่วันถูกเนรมิต แต้มแต่งสีสันด้วยแท่งคอนกรีตหลากหลายรูปทรง กลายเป็นโรงแรม รีสอร์ตที่พักนักท่องเที่ยวค่าสิบล้านร้อยล้านบาทไปแล้ว
 
ไม่ว่าจะเป็นอุทยานฯ ทับลาน วังน้ำเขียว โคราช อุทยานฯ เขาแหลมหญ้า ระยอง หรืออุทยานฯ สิรินาถ ภูเก็ต และอีกหลายพื้นที่ทั้งที่เป็นเกาะแก่ง อยู่ทางกระบี่ พังงา หรือสุราษฎร์ฯ ล้วนอยู่ในรูปแบบเดียวกัน
 
กระทั่งการขอออกเอกสารสิทธิ แม้ไม่ถูกต้อง ก็ง่ายแสนง่าย ด้วยอำนาจเงิน
 

 
ที่เป็นอย่างนี้ก็น่าจะรู้กันว่า เพราะอะไร การคอร์รัปชัน เมืองไทยติดอันดับที่ 80 ของโลก ที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ หรือ TI เอามาโพนทะนาประจานล่าสุด
 
เรื่องการขอคืนพื้นที่นั้นยากเย็น อย่างที่กล่าวข้างต้น ต้องผ่านหลายขั้นตอน และได้กลับคืนมาจะโดยวิธีใดก็ตาม หากมีสิ่งปลูกสร้าง เป็นป่าคอนกรีต กว่าจะฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิม หรือใกล้เคียง ต้องใช้เวลายาวนานกว่าชั่วอายุคน
 
มาที่ภูเก็ต อุทยานฯ สิรินาถ พื้นที่หนึ่งที่ถูกครอบครอง ด้วยอิทธิพลยิ่งใหญ่ทั้งของนักการเมือง ระดับอดีตรัฐมนตรีหลายคน รวมทั้งทุนข้ามชาติที่อาศัย “นอมินี” คนไทยในรูปแบบของบริษัท มีนักกฎหมายใหญ่เป็นที่ปรึกษา เพราะเป็นทำเลทองที่อยู่ในเมืองท่องเที่ยวระดับโลก
 
หลังการใช้ “ยุทธการทวงคืนผืนป่าอุทยานฯ” ในยุคที่ “ดำรง พิเดช” เป็นอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ขยายมาถึงภูเก็ต มีการตรวจสอบพบพื้นที่อุทยานฯ สิรินาถ ถูกบุกรุกนับพันไร่ เป็นร้อยแปลง บางแปลงมีหลักฐานชัดเจนว่า อยู่ในพื้นที่อุทยานฯ และมีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ
 
พบบางแปลงซื้อจากชาวบ้านที่มีเอกสารสิทธิ น.ส.3 หรือที่เป็น ส.ค.1 อยู่แล้ว โดยที่ดินอยู่ติดต่อกับพื้นที่อุทยานฯ ก็ฉวยโอกาสรุกขยายเข้าไป กลายเป็นเอกสารสิทธิ “บวม” หรือนำเอา ส.ค.1 จากที่ดินอีกแปลง ไปสวมออกเอกสารสิทธิในที่ดินใกล้เคียงแปลงใหม่ กลายเป็น ส.ค.1 “บิน” 
 

 
เอกสารสิทธิ “บวม” และเอกสารสิทธิ “บิน” นี้มีหลายพื้นที่ ต้องตรวจสอบระวางที่ดิน ใช้แผนที่ดาวเทียม ใช้เครื่องมือพิสูจน์กันหืดขึ้นคอ
 
จะอย่างไรก็ตาม ทางอุทยานฯ ผู้ดูแลพื้นที่ ทำได้แค่การสำรวจตรวจสอบ พื้นที่ใดถูกบุกรุกก็เข้าร้องทุกข์แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน แค่เริ่มต้นก็ใช้เวลาแช่เกลือดองนานเป็นเดือน ที่ต้องใช้เวลาดองนานขนาดนั้น ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า
 
เจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่เป็นพนักงานสอบสวนงานล้นมือ หรือเพราะไม่เชี่ยวชาญ ขาดความรู้เรื่องกฎหมายที่ดิน หรือไม่สามารถติดตามตัวคู่กรณีมาสอบได้ หรือเพราะอิทธิพลอะไรเป็นอุปสรรค ทำให้คดีล่าช้า บางคดีไม่สามารถส่งฟ้องศาลได้ 
 
จากการเปิดเผยของ “สมัคร ดอนนาปี” ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานแห่งชาติล่าสุด ระบุว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการออกโฉนดที่ดินในพื้นที่อุทยานฯ สิรินาถโดยมิชอบนั้น มีทั้งอดีตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต สาขาถลาง นักวิชาการที่ดินซึ่งเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบก่อนที่จะมีการออกเอกสารสิทธิ รวมถึงอดีตปลัดอำเภอ ฝ่ายปกครอง ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ขึ้นไปจนถึงอดีตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตบางท่าน
 
ถ้าคดีถึงที่สุด ชื่อต้องปรากฏ หรืออาจจะมีผู้มีอำนาจสูงกว่านั่นโผล่มาอีกก็เป็นได้
 

 
นอกจากนั้น ปัญหาความล่าช้าของคดี ก็เพราะต้องมีตัวช่วย มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมามากมายตรวจสอบในแต่ละราย มีหน่วยเฉพาะกิจ คณะทำงาน ขึ้นไปถึง “คณะกรรมาธิการฯ ตลกรับประทาน” ดึงเวลา ถ่วงเวลาไป เรียกว่า ร้องถึงหน่วยงานไหน ก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมาสอบ ที่ดินบางแปลงปาเข้าไปเกือบ 4-5 คณะ
 
แต่ละชุด แต่ละคณะเมื่อลงพื้นที่ตรวจสอบต้องมีค่าใช้จ่าย มีค่าเดินทาง ที่พัก เบี้ยเลี้ยง ถ้าระดับกรรมาธิการฯ ก็ต้องนั่งเครื่องบิน เบิกจ่ายกันครั้งละเป็นหมื่น
 
กรณีตั้งตัวช่วยเหล่านี้ขึ้นมา อ้างว่า เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย และป้องปรามไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกกลั่นแกล้ง ตั้งแต่ชั้นสอบสวน ตรวจสอบ จนถึงชั้นศาล สู้ความจนตายไปข้างหนึ่งคดียังไม่จบ 
 
ดูอย่างสวนป่าบางขนุน และป่าสงวนเขาพระแทว เขานาคเกิด ในความดูแลของกรมป่าไม้ รวมทั้งที่ ส.ป.ก.4-01 ถูกบุกรุกแทบไม่เหลือป่าสมบูรณ์ มีการตรวจสอบแล้วตรวจสอบอีกกว่า 20 ปี คดีไม่คืบ บางแปลงถูกเพิกถอนสิทธิแล้ว แต่ก็ยังครอบครองที่ทำกินอยู่ ไม่มีการฟื้นฟู
 
“สมัคร ดอนนาปี” ผู้อำนวยการสำนักอุทยานฯ เผยว่า ขณะนี้ได้แจ้งความ และร้องทุกข์กล่าวโทษผู้บุกรุกตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบันมีจำนวนนับ 100 คดี แต่กลับยังไม่มีการส่งฟ้องเลยแม้แต่สักคดีเดียว เพราะนายทุนแต่ละรายที่บุกรุกล้วนเป็นผู้มีอิทธิพลทั้งทางการเมือง และกำลังเงิน
 
ล่าสุด ได้พบทางออกในการแก้ปัญหาอุปสรรคในการทวงคืนพื้นที่ให้รวดเร็วขึ้น และเป็นการแก้เกมนายทุนอิทธิพล ทางอุทยานฯ จะไม่ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี แบบ “เตะหมูเข้าปากหมา”แต่จะใช้วิธีการฟ้องเอง โดยจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาที่เป็นนักกฎหมายเข้ามาทำคดี
 
เรื่องนี้ เป็นการปรับแผนใหม่ของอุทยานฯ ทั้งหมด โดยอาจใช้วิธีเปิดรับทนายความจากทั่วประเทศ หรืออาจจะเป็นทีมกฎหมาย ที่ปรึกษากฎหมายก็ได้ เข้ามาว่าความให้ในคดีการบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ทำสัญญาเป็นคดีๆ ทำกันให้แล้วเสร็จ ไม่ต้องไปแจ้งความ หรือร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนอีก โดยใช้งบประมาณจากรายได้ของอุทยานฯ
 
ข้อมูลการตรวจสอบ หลักฐานต่างๆ ทั้งหมดรวบรวม ส่งให้คณะทำงานอรรถคดี ของกรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลคดีบุกรุกฯ ของอุทยานฯ เป็นพิเศษ คณะทำงานชุดนี้จะทำการกลั่นกรองข้อมูลเอกสารทั้งหมดเพื่อให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์
 
ในกรณีนี้น่าจะมีการจัดตั้งเป็นหน่วยงานหนึ่งของอุทยานฯ ของบประมาณ เปิดรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญมาประจำการรับผิดชอบโดยตรง ทำการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้บุกรุก รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเองทั้งหมด ทั้งแพ่ง และอาญา
 
การต่อสู้กับกลุ่มอิทธิพลของอุทยานฯ ที่ผ่านมานั้น เข้าลักษณะ “เตะหมูเข้าปากหมา” ทำให้งานต้องสะดุดชะงักติดอยู่ที่พนักงานสอบสวน และตัวช่วยหลายหน่วยงาน เอาคดีไปแช่เกลือ หรือเก็บเข้าเก๊ะ หลังมีผลประโยชน์ เมื่อมีการทวงถามก็เอามาปัดฝุ่นเริ่มต้นว่ากันใหม่
 
นี่คือ... การทำงานของข้าราชการไทย ที่ยังฝักใฝ่อยู่กับการคอร์รัปชัน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อย่างไม่อายต่อสายตาสังคม หรือเพราะสังคมไทยขี้ลืม และให้อภัยได้ทุกเรื่อง.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น