คอลัมน์ : แกะสะเก็ด
โดย...ประเสริฐ เฟื่องฟู
อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ภูเก็ต พื้นที่กว่า 50,000 ไร่ เฉพาะบนบกถูกอิทธิพลจัญไรยึดครองไปออกเอกสารสิทธิ เพื่อประกอบธุรกิจท่องเที่ยวเกือบหมด เหลือป่าที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์แค่ 10% เท่านั้น
อดีตที่ผ่านมา การบุกรุกที่สาธารณะ ที่ดิน ส.ป.ก. ป่าสงวน ทุ่งเลี้ยงสัตว์ ยันไปถึงหาดทรายชายทะเล แม้แต่เกาะแก่ง หรือที่อุทยานแห่งชาติ สำหรับเมืองไทยดูจะเป็นเรื่องธรรมดา มีมานาน แทบจะไม่มีใครใส่ใจ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายทั้งปวง ต่างเอาหูไปนาเอาตาไปไร่
ด้วยการอนุโลม แค่ชาวบ้านธรรมดาอยู่ใกล้พื้นที่ชายป่า เข้าไปปลูกผัก ทำสวนครัว หากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องแค่ไม่กี่ตารางวา อย่างมากก็แค่ไร่ครึ่งไร่
แต่ผู้ที่กล้าหาญชาญชัยถึงขนาดยึดเอาป่าสมบูรณ์ไปออกเอกสารสิทธิได้นับสิบนับร้อยไร่ ต้องไม่ธรรมดา น่าจะเรียก “พวกนายทุน”มีอิทธิพลรอบด้าน ทั้งการเงิน และมีนักการเมือง หรือข้าราชการระดับ “บิ๊ก” หนุนหลัง คนธรรมดาสามัญไม่มีใครกล้าแตะแน่
พวกนี้คือ ผู้มีอิทธิพลต้องเรียกว่า “นายทุน” ไม่ใช่ “นักลงทุน”
ต่างกันลิบ อธิบายกันคงมากความ เอาแค่นายทุนคือ พวกเห็นแก่ตัว ลงทุนแบบเอาเปรียบแผ่นดิน เอาเปรียบสังคม น่ารังเกียจ ส่วนนักลงทุนเป็นผู้ที่ลงทุนทำธุรกิจอย่างสุจริต ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้ใช้อิทธิพลเบียดเบียนใคร
ดูกันง่ายๆ สามจังหวัดฝั่งอันดามัน ภูเก็ต พังงา กระบี่ และอีกหลายพื้นที่ที่เป็นป่าชายเลน และริมหาด ก่อนหน้านี้ถูกรุกยึดเอาไปทำบ่อกุ้ง และเพาะลูกกุ้ง ล้วนเป็นผู้มีอิทธิพลระดับ “เจ้าพ่อ” เลี้ยงกันมากเข้า แข่งขันกันสูงขึ้น ใช้ทั้งสารเร่ง สารเคมีนานาชนิด จนเกิดโรคระบาด ขาดทุนย่อยยับ ทยอยเลิกรากันไป
มายุคนี้ ยุคของการท่องเที่ยวเฟื่องฟู พฤติกรรมก็เปลี่ยนไป หันมากว้านซื้อที่ ส.ค.1 หรือ น.ส.3 ที่อยู่ชายป่าสงวน ชายป่าอุทยานฯ และแม้ที่ไร้เอกสารสิทธิบนที่ลาดชันยันชายทะเล ล้วนเป็นเหยื่อของนายทุนอิทธิพล นักการเมือง และข้าราชการระดับ “บิ๊ก” ทั้งนั้น
ทุกที่ทางเห็นกันตำตา เกิดขึ้นได้เพราะเจ้าหน้าที่รัฐผู้ดูแลที่ดิน ทั้งกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ รู้เห็นเป็นใจ เพราะที่ดินส่วนใหญ่ที่ถูกนายทุนบุกรุก ล้วนอยู่ในความรับผิดชอบของสองหน่วยงานนี้เป็นหลัก รองลงมาก็เป็นที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของจังหวัด หรือองค์การบริหารท้องถิ่น ประเภทหลังนี้ ไม่ควรมองข้ามนักการเมืองท้องถิ่น
คราวนี้ไม่ใช่การอนุโลมให้เข้าไปทำกินแบบชาวบ้าน แต่เป็นการให้เข้าไปทำลายล้าง
ถ้าผู้ดูแลรักษาพื้นที่เข้มในหน้าที่ เข้มในกฎ ก็คงไม่มีใครกล้า แต่ที่เป็นมาส่อให้เห็นชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบรู้เห็นเป็นใจ จะโดยมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน หรือถูกอิทธิพลของผู้บังคับบัญชา นักการเมืองบีบ หรืออะไรก็ตาม
เมื่อมีรายหนึ่งเข้ามา ก็ต้องมีรายที่สอง ที่สาม สี่ตามมาเป็นขบวน รุกที่หนึ่ง ก็ต้องลามไปอีกที่หนึ่ง ในที่สุดก็ทั่วประเทศ อย่างที่เห็น และเป็นอยู่ทุกวันนี้ การทวงคืนเอาคืนไม่ใช่ของง่าย หรือแม้ได้กลับคืนมาก็อยู่ในสภาพที่ไม่เหมือนเดิม ต้องเอามาฟื้นฟูใช้เวลายาวนาน
และหากเปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัย ก็อาจถูกอิทธิพลยึดกลับคืนไปปู้ยี่ปู้ยำซ้ำอีกนั่นแหละ
ตัดฉากมาที่อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในช่วงที่ “ดำรง พิเดช” มาดำรงตำแหน่งอธิบดี ใช้ความเด็ดขาด ไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม ประกาศใช้แผน “ยุทธการทวงคืนผืนป่าอุทยานแห่งชาติ” ล้างอิทธิพลรุกป่าทั่วประเทศ
จากอุทยานแห่งชาติทับลาน วังน้ำเขียว โคราช ภาคอีสาน หมู่เกาะเสม็ดตะวันออก ลงมาภาคใต้จนถึง......
ภูเก็ต ไข่มุกอันดามันแห่งเอเชีย ที่กำลังรุ่งเรืองด้วยธุรกิจท่องเที่ยวดังไปทั่วโลก ที่ดินแพงกว่าทองคำ ที่ดินหลวง ทุ่งเลี้ยงสัตว์ ป่าชายเลน ป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดิน ส.ป.ก. รวมทั้งที่ดินของส่วนท้องถิ่น ล้วนถูกบุกรุกเอาไปทำธุรกิจเพื่อการท่องเที่ยวทั้งสิ้น
อุทยานฯ สิรินาถภูเก็ต มีพื้นที่ทั้งหมด 52,000 ไร่ ทั้งบนบก และในทะเล บนบก จำนวน 12,000 ไร่ ผ่านการตรวจสอบพบว่า ถูกรุกไปออกเอกสารสิทธิแล้ว 1,500 ไร่ และคาดว่าอยู่ระหว่างดำเนินการอีกไม่ต่ำกว่า 1,500 ไร่เหมือนกัน สรุปเนื้อที่ถูกบุกรุกกว่า 3,000 ไร่ ร่วม 400 แปลง
ทำกัน รุกกันอย่างเสรี ชนิดไม่เห็นหัวเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ผู้ดูแลสถานที่ เหยียบหน้าเหยียบจมูกอย่างไม่แยแส และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เองก็อยู่อย่างตอไม้ ตายซาก
เมื่อ“ยุทธการทวงคืนผืนป่าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ” ได้ฤกษ์ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ช่วงเทศกาลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ต้นเดือนสิงหาคม 2555 และตั้ง “ศูนย์อำนวยการตรวจสอบเอกสารสิทธิ และปราบปรามการบุกรุกครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ” ก่อนที่ “ดำรง พิเดช” แม่ทัพใหญ่เจ้าของแผนยุทธการทวงคืนผืนป่าอุทยานฯ จะอำลาตำแหน่งด้วยเกษียณอายุในอีก 2 เดือนต่อมา
พร้อมเด้งหัวหน้าอุทยานฯ หัวหลักหัวตอพ้นเกาะภูเก็ต!
แล้วส่ง “ชีวะภาพ ชีวะธรรม” หรือ “หัวหน้าต้อย” ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นมือปราบระดับพระกาฬ ข้าราชการผู้ซื่อสัตย์ และตงฉิน มาเป็นหัวหน้าแทน เป้าหมายไล่ล่า ล้างอิทธิพลรุกป่าอุทยานฯ สิรินาถ ชนิดไม่ต้องเกรงใจไว้หน้าใคร ชนิดตาต่อตาฟันต่อฟัน
ในส่วนของอุทยานฯ ก็ได้ชำระสะสางเจ้าหน้าที่ของตัวเอง พบพฤติกรรมไม่ชอบมาพากล ตั้งกรรมการตรวจสอบทางวินัย เชือดหัวหน้าอุทยานฯ สิรินาถย้อนหลังไปอีก 5 คน กล่าวหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้แล้ว
“หัวหน้าต้อย” ประเดิมตำแหน่งด้วยงานหิน ชนกับนายทุนที่เข้าไปสร้างโรงแรมที่พัก รีสอร์ต บ้านหรู กว่า 11 เป้าหมาย ทั้งรายใหญ่ และรายเล็ก รวมเนื้อที่กว่า 524 ไร่ ล้วนมีอิทธิพลทางการเงิน ได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง และนักกฎหมาย ทนายความเป็นแบ็กให้
กลุ่มเป้าหมายแรกที่ตรวจพบ และต้องเชือดในอันดับต้นๆ มี โรงแรมภูเก็ตอาเคเดียในทอนบีช รีสอร์ท, โรงแรมภูเก็ตเพนนิซูล่า สปา แอนด์ รีสอร์ท, บริษัท ลาคอรีน จำกัด, บริษัท แลนด์สเตรท จำกัด, บริษัท ทรีดอลฟินซ์ จำกัด, บริษัท สุรีย์สัมฤทธิ์ จำกัด และมาลัยวนา, ที่ดินครอบครองโดยบุคคลธรรมดา 1 ราย (นางสุชาดา สังข์สุวรรณ), บริษัท พาวิลเลี่ยน บีช รีสอร์ท จำกัด, บริษัท อันดามันไวท์บีช จำกัด, บริษัท ลายันภูเก็ต จำกัด และบริษัท เซ็นทรัล แอนด์ ซิตี้ ดีวีลอปเม้นท์
ใครเป็นใคร เปิดดูประวัติกันเอง เป็นใครมาจากไหน ใครมีเอี่ยว และมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับใคร หรือเป็น “นอมินี” ให้กลุ่มไหน แต่ละรายอิทธิพล และเงินทุนหน้าตักล้นฟ้าทั้งนั้น
คล้อยหลังแค่ 2 ปี จากวันนั้นถึงวันนี้ ภารกิจของ “หัวหน้าต้อย” ยังไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย งานทั้งหลายทั้งปวงติดอยู่ที่พนักงานสอบสวน บางรายไม่คืบหน้า แนวโน้มอาจไม่มีการส่งฟ้อง มาตรการตาม ม.22 ให้รื้อถอน และเข้ารื้อถอนก็ยังใช้ไม่ได้ หากคดียังไม่สิ้นสุด
นอกจากลุ่มที่ไม่มีเอกสารสิทธิ หรือเอกสารสิทธิ “บวม” นั่นแหละ เชือดด้วย ม.22 ได้ทันที
เมื่องานสะดุดอิทธิพลมากมาย ผู้เกี่ยวข้องต่างคนต่างเดิน ไม่ประสานกัน ก็ยากที่จะทำงานให้สำเร็จ ชีวิตก็ล่อแหลม ตายได้ทุกนาที ไม่เฉพาะตัวเองเท่านั้นที่ถูกคุกคาม ครอบครัวญาติพี่น้อง นายทุนอัปรีย์ก็ไม่ละ
อีแบบนี้ เก่งแสนเก่ง เหนียวแสนเหนียวก็อยู่ยาก สุดท้าย “หัวหน้าต้อย” จำต้องถอย ขอย้ายตัวเองออกจากพื้นที่ ไปช่วยราชการที่กรมป่าไม้
กรณีนี้ “สมัคร ดอนนาปี” ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ที่เป็นผู้บังคับบัญชา ยืนยันว่า “หัวหน้าต้อย” ถูกแรงกดดันจากกลุ่มนายทุนเจ้าของโรงแรม ที่พัก รีสอร์ต บ้านพักตากอากาศหรู ที่มีอิทธิพลรอบด้านจริง ทั้งข่มขู่ ทั้งยัดเยียดเงินก้อนให้จำนวนมหาศาล
อีกคน “บุญชอบ สุทธมนัสวงษ์” อธิบดีกรมป่าไม้ เจ้านายใหม่ ก็บอกว่า “หัวหน้าต้อย” ได้มาพบหารือขอย้ายจากอุทยานแห่งชาติมาร่วมงานด้วย เนื่องจากเหนื่อย และถูกกดดันอย่างหนัก การทำงานไม่ลื่นไหล มีอุปสรรคมาก
นี่... เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของข้าราชการไทยที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ชนิดยอมหักไม่ยอมงอ และการทำงานต้องประสานผูกโยง ขอความร่วมมือกับอีกหลายหน่วยงาน บางหน่วยงานก็ให้ความร่วมมือดี แต่บางหน่วยงานก็ไม่ให้ความสะดวก โยกโย้ ขาดการร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียว สุดท้ายก็ไปไม่ถึงฝั่ง
และระบบราชการไทยก็ไม่ยอมให้สิทธิ และอำนาจหน่วยงานใดทำงานได้อย่างเด็ดขาด ต้องผ่านการตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน อ้างเพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย ช่องทางนี้จึงเป็นโอกาสให้อิทธิพลเข้าแทรกแซงได้ ล็อบบี้หน่วยงานนี้ไม่ได้ ก็ไปล็อบบี้อีกหน่วยงานหนึ่ง ทำให้งานต้องล่าช้า
จะอย่างไรก็ตาม ก่อนที่ “หัวหน้าต้อย” จะถอนตัวออกจากพื้นที่ ได้ทิ้งทวนด้วยการสนธิกำลังร่วมกับ “สมัคร ดอนนาปี”ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ใช้มาตรการ ม.22 เชือดอีก 8 ราย ที่ ต.สาคู และเชิงทะเล ให้รื้อถอนออกไป มีทั้งถนนที่ตัดเข้าไปในป่าสมบูรณ์ และสิ่งก่อสร้างที่เป็นภัตตาคาร รีสอร์ตที่พัก
นั่นเป็นผลงานครั้งสุดท้ายของ “หัวหน้าต้อย” หัวหน้าอุทยานฯ สิรินาถ ภูเก็ต ฝากไว้เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ก่อนเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋าโบกมือลา ไปรับตำแหน่งใหม่ที่กรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 22 เดือนเดียวกัน ไม่กี่วันที่ผ่านมา
แต่ก่อนโบกมือลา “หัวหน้าต้อย” ยืดอกบอกสื่อว่า การย้ายไปรับตำแหน่งในกรมป่าไม้ครั้งนี้ ไม่ได้ถูกกดดันจากนายทุนแต่อย่างใด และไม่กระทบต่อการตรวจสอบเอกสารสิทธิของอุทยานฯ สิรินาถ
“ฝากไปยังหัวหน้าอุทยานฯ สิรินาถคนใหม่ว่า ต้องกล้าที่จะดำเนินคดี และต้องเจอกับภาวะกดดันจากคนบางกลุ่ม ทั้งต้องซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ เพราะอาจมีการหยิบยื่นผลประโยชน์มาให้”
ประเด็นการย้ายของ “หัวหน้าต้อย” ชีวะภาพ ชีวะธรรม มือปราบระดับพระกาฬ ที่คัดเลือกให้มาให้เป็นแม่ทัพหน้า “ทวงคืนผืนป่าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ภูเก็ต” อะไรเป็นต้นเหตุ ก็ยังคงเป็นปริศนาต่อเพื่อนร่วมงาน และประชาชนทั่วไป แต่คนที่รู้ดีก็คือ ตัวของเขาเองนั่นแหละ.