ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้ว่าฯ ภูเก็ต ประชุมติดตามความคืบหน้าปัญหาการขุดลอกร่องน้ำคลองเกาะแก้ว เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมบริเวณอ่าวสะปำ เสนอทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน
วันนี้ (28 พ.ค.) ที่ห้องประชุมโครงการ รอยัล ภูเก็ต มารีน่า อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหากรณีการขุดลอกร่องน้ำคลองเกาะแก้ว อ.เมืองภูเก็ต ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์พัฒนา และบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 กรมเจ้าท่า ภายหลังจากที่มีประชาชนยื่นหนังสือร้องเรียน ขอให้มีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้ในการขุดลอกร่องน้ำ เนื่องจากมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณอ่าวสะปำ และพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ชาวประมง สภาเกษตรกรจังหวัดภูเก็ต และองค์กรเอกชนอันดามันเข้าร่วมประชุม
สำหรับโครงการขุดลอกร่องน้ำคลองเกาะแก้ว ศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 ได้จัดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเส้นทางในการที่จะขุดลอก ได้เลือกแนวร่องน้ำเดิม ซึ่งมีระยะทางที่คดเคี้ยวมีความยาวของระยะทางประมาณ 3.6 กิโลเมตร ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ 12 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 6 เดือน เริ่มดำเนินการประมาณเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยในการใช้เครื่องจักรในการขุดลอก แบ่งเป็น 2 ส่วน ระยะที่อยู่ในคลองประมาณ 1.5 เมตร เนื้อดินประมาณ 86,371 ลูกบาศก์เมตร ใช้รถแบ็กโฮลงโป๊ะ กับส่วนที่อยู่ในชายฝั่งทะเล ระยะทางประมาณ 3,400 เมตร เนื้อดินประมาณ 202,654 ลูกบาศก์เมตร ใช้เรือขุดแบบหัวสว่าน
ทั้งนี้ ในการร้องเรียนของประชาชนที่เป็นเกษตรกรนั้น ระบุว่า เห็นด้วยต่อการขุดลอกร่องน้ำ แต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้เรือขุดแบบหัวสว่าน เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป สัตว์น้ำพื้นถิ่นถูกทำลาย เกิดเนินทราย ทำลายอาชีพเกษตรกร และสร้างความขัดแย้งในชุมชน จึงอยากให้มีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้ในการขุด หรือหาแนวทางในการลดผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการนำเสนอความคิดเห็นของส่วนราชการที่รับผิดชอบ ประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และทางตัวแทนจากสภาเกษตรกรแล้วนั้น นายไมตรี ได้กล่าวสรุปว่า เนื่องจากยังมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ขอให้ประมงจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาจุดอ่อนจุดแข็งบริเวณอ่าวสะปำ และเกาะแก้ว ให้ทางหน่วยงานที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมไปทำการศึกษาข้อมูลทางวิชาการตามที่ทางสภาเกษตรฯ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ ให้นำความคิดเห็นที่ได้จากการทำประชาพิจารณ์มาประกอบการพิจารณา รวมทั้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ และที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสภาเกษตรกรฯ ลงพื้นที่ และร่วมกันหาทางออกที่เหมาะสม