xs
xsm
sm
md
lg

พะเยา-เชียงรายตั้ง “สภาประชาชนลุ่มน้ำอิง” เน้นระดมสมองจัดการน้ำคู่ขนานภาครัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พะเยา - ผู้นำ-ปราชญ์ชาวบ้านต้นน้ำอิง “กว๊านพะเยา-โขง” ลุยตั้ง “สภาประชาชนลุ่มน้ำอิง” ย้ำสร้างกลไกประชาชนร่วมจัดการน้ำชงความต้องการ-แผนจัดการน้ำจากระดับล่างสู่นโยบายรัฐ

รายงานข่าวจากจังหวัดพะเยาแจ้งว่า ขณะนี้กลุ่มผู้นำชุมชนในลุ่มน้ำอิงทั้งผู้ชายและผู้หญิงในพื้นที่ อ.เมือง อ.ภูกายาว อ.เชียงคำ จ.พะเยา และ อ.เทิง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ประมาณ 50 คน ได้ร่วมประชุมแนวทางการจัดตั้งสภาประชาชนลุ่มน้ำอิง ณ วัดปางมดแดง ต.อ่างทอง อ.เชียงคำ จ.พะเยา เพื่อเป็นองค์กรภาคประชาชนที่จะเข้าไปมีบทบาทส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำชุมชน และทำแผนเสนอถึงระดับนโยบาย

นายเตชะพัฒน์ มะโนวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำอิง กล่าวว่า ตัวแทนประชาชนลุ่มน้ำอิงตลอดลำน้ำตั้งแต่ต้นน้ำกว๊านพะเยาจนถึงปากอิงสบกับแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ที่มาประชุมร่วมกันครั้งนี้เพื่อการจัดตั้งสภาประชาชนลุ่มน้ำอิง ทำงานภายใต้ปรัชญาและแนวคิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการคิด จัดการ วางแผน และได้รับผลประโยชน์จากการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำอิงอย่างเป็นธรรมและมีความยั่งยืน

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันแม่น้ำอิงตั้งแต่หนองเล็งทรายเป็นต้นมาถึงกว๊านพะเยา และตลอดลำน้ำอิงกำลังประสบปัญหาถูกบุกรุกทำลาย โดยเฉพาะการบุกรุกทำลายด้วยนโยบายของรัฐ และฝีมือของมนุษย์ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ทำให้ลุ่มน้ำอิงตอนต้น ตอนกลาง และตอนปลายถูกทำลายสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศเปลี่ยนไป กระทบต่อภาวะน้ำท่วม ภัยแล้งตามมาอย่างมากมาย

“ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างกลไกของภาคประชาชนด้านการจัดการน้ำเพื่อชุมชนด้วยชุมชน และสามารถส่งต่อความต้องการถึงระดับนโยบายรัฐบาล ให้มีการตอบสนองภาคประชาชนเพื่อการมีส่วนร่วมจัดการน้ำอิงอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำทุกพื้นที่” นายเตชะพัฒน์กล่าวย้ำ

นายนิวัติ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จังหวัดเชียงราย การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นของการเป็นองค์กรภาคประชาชนลุ่มน้ำอิงที่เป็นรูปธรรม หลังจากที่ได้มีการหารือกันมายาวนานถึง 6 ปีในเรื่องนี้ ซึ่งการรวมตัวของคนลุ่มน้ำอิงจะมีบทบาทสำคัญในการร่างความต้องการในการพัฒนาลุ่มน้ำอิงที่เกิดจากคนพื้นที่ลุ่มน้ำอิงแต่ละช่วงตอนจะได้หารือและนำเสนอความต้องการเป็นแผนงานสู่สภาประชาชนฯ และจะถูกขับเคลื่อนผลักดันแผนการจัดการน้ำของภาคประชาชนสู่ระดับนโยบายของรัฐบาล และรัฐบาลก็จะต้องนำนโยบายจากภาคประชาชนมาปฏิบัติจริง จึงถือเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่นโยบายจัดการน้ำที่เป็นการสั่งการจากบนลงล่างเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาอีกต่อไป

“วันนี้ลุ่มน้ำอิงกำลังประสบปัญหา กว๊านพะเยาถูกบุกรุก ทำให้การพัฒนาหลายโครงการเดินหน้าต่อไปอย่างยากลำบาก การขุดลอกแม่น้ำอิงที่ไม่มีการศึกษาความเหมาะสม หรือแผนการพัฒนาของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำอิง ฯลฯ สารพัดเรื่องที่จะต้องนำเข้ามาหารือและช่วยเหลือกันผ่านสภาประชาชนลุ่มน้ำอิงอย่างมีพลังต่อไป” นายนิวัติกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น