เชียงราย - กลุ่มพลังมวลชนคนลุ่มน้ำโขง เปิด “โฮงเฮียนแม่น้ำโขง” จัดเวที “2 ทศวรรษแม่น้ำโขงกับการพัฒนากลุ่มพลังมวลชน” ในวันหยุดเขื่อนโลก ตอกย้ำเขื่อนจีนกระทบคนท้ายน้ำ แถม สปป.ลาว จ่อผุดอีก 12 เขื่อน ทำระบบนิเวศน้ำโขงเสี่ยงขาดสมดุลเพิ่ม
นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และนางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมรับฟังปัญหาจากกลุ่มพลังมวลชนคนลุ่มน้ำโขงบนเวทีเรื่อง “2 ทศวรรษ แม่น้ำโขงกับการพัฒนากลุ่มพลังมวลชน” ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในวันหยุดเขื่อนโลกวานนี้ (14 มี.ค.) ที่ “โฮงเฮียนแม่น้ำของ” บ้านหัวเวียง ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยมีคนหาปลา คนขับเรือ เกษตรกรชาวไร่ชาวนาจากพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสานที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงเข้าร่วม
ซึ่งในเวทีนี้ได้จัดกิจกรรมทั้งขบวนแห่เรือ และการแสดงละครจากนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สะท้อนความคิดเห็นคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง โดยแสดงให้เห็นว่า เขือนที่ สป.จีน สร้างกั้นแม่น้ำโขงแล้ว 6 แห่ง กำลังสร้างผลกระทบต่อผู้คนในลุ่มน้ำโขง ทั้งยังมีแนวโน้มจะสร้างใหม่ขึ้นอีกเรื่อยๆ ด้วย จึงต้องออกมาเรียกร้องให้ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง คือ ไทย สปป.ลาว พม่า จีน กัมพูชา และเวียดนาม หามาตรการป้องกันและอนุรักษ์ระบบนิเวศ รวมทั้งวิถีชีวิตของคนลุ่มแม่น้ำให้มากขึ้นด้วย
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำโขงล้านนา กล่าวว่า ในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แม่น้ำโขงมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะคนที่อยู่ท้ายน้ำ สิ่งที่ชัดเจนที่สุด คือ ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง ปลาไม่สามารถขึ้นมาวางไข่ ขาดความสมดุลในชีวิต ขณะที่ภาครัฐมองแต่เพียงประโยชน์ของแม่น้ำโขงในเชิงพาณิชย์ และเศรษฐกิจ
นายกระสันต์ ปานมีศรี คณะกรรมการเครือข่ายลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน กล่าวว่า แม่น้ำโขงเกิดภาวะแห้งแล้งจนกระทบต่อคนท้ายน้ำ ซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีที่เป็นมาในอดีต และไม่เป็นไปตามฤดูกาลตามธรรมชาติ การสร้างเขื่อนจึงเป็นปัญหาระหว่างประเทศที่จะต้องร่วมกันแก้ เพราะนอกจากในจีนแล้ว ยังมีโครงการก่อสร้างเขื่อนใน สปป.ลาว อีก 12 แห่ง ซึ่งในอนาคตเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียทรัพยากรโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้อีก
ด้าน นายประสาร กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่สามารถบริหารจัดการแม่น้ำโขงได้มากนัก เพราะไม่มีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลอย่างชัดเจน ตนจะเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ และรัฐบาลได้รับทราบ จะได้มีช่องทางแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการเปิดช่องทางเจรจากับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง เพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันต่อไป