ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รองผู้ว่าฯ ภูเก็ต เยี่ยมชมการสาธิตเครื่องผลิตโอโซน ใช้ทดสอบแก้ปัญหาน้ำเสีย ซ.พะเนียง ต.รัษฎา ผลทดสอบเป็นที่พอใจ แนะให้มีการติดตั้งจริงเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวอย่างเป็นระบบ
วันนี้ (12 พ.ค.) ที่บ่อบำบัดน้ำเสีย ซ.พะเนียง ต.รัษฎา น.ส.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายเกษม สุขวารี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต และคณะ เดินทางลงพื้นที่ซอยพะเนียง เยี่ยมชมการสาธิตโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำบริเวณคลองรัษฎา ด้วยเทคโนโลยีโอโซน โดยมี นายกนก นาแก้ว หัวหน้าฝ่ายร่วมวิจัยและพัฒนา ศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม และทีมงานร่วมให้ข้อมูล
นายกนก นาแก้ว หัวหน้าฝ่ายร่วมวิจัยและพัฒนา ศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้ร่วมกันพัฒนาเครื่องปรับสภาพน้ำเสีย ซึ่งหลักการทำงานจะมี 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1) การสร้างอุโมงค์สนามแม่เหล็ก เพื่อจัดเรียงโมเลกุลของตะกอนน้ำเสียให้เกาะตัวกันเร็วขึ้น ขั้นตอนที่ 2) การแยกโมเลกุลของน้ำ ซึ่งประกอบด้วย ไฮโดรเจนกับออกซิเจน เมื่อแยกโมเลกุลก็จะได้ออกซิเจนที่บริสุทธิ์แทนที่การเอาอากาศใส่ในน้ำ เพราะฉะนั้นการเติมออกซิเจนลงในน้ำ เป็นการเพิ่มดีโอ (DO = dissolved oxygen) ซึ่งเป็นหลักการของสิ่งแวดล้อม
ขั้นตอนที่ 3) การนำอากาศที่เราหายใจโดยทั่วๆ ไป มาผลิตเป็นโอโซนเพื่อฆ่าเชื้อโรค ปกติบ่อบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่ในประเทศไทยจะไม่มีการฆ่าเชื้อโรค ดังนั้น จังหวัดภูเก็ตได้เริ่มนำโอโซนเข้ามาใช้ในการบำบัดน้ำเสียเพียงอย่างเดียวจาก 1 ใน 3 ของทั้งหมดที่ใช้ ทั้งนี้ เชื้อโรคที่ฆ่าได้ก็คือ โคลิฟอร์ม (Coliform) เป็นสารที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย เมื่อฆ่าเชื้อโรคแล้ว สีของน้ำก็จะใสขึ้น ทั้ง 3 ขั้นตอนนี้ตรงตามมาตรฐานของสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ
“ปริมาณน้ำที่ใช้ในบำบัดทั้งหมดขึ้นอยู่กับกำลังผลิตของเครื่อง เนื่องจากเครื่องได้ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในการทดลอง ถ้าหากมีการเพิ่มจำนวนน้ำมากขึ้น ก็ต้องมีการเพิ่มกำลังเครื่องมือในการผลิตขึ้นด้วย โดยผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ และทางจังหวัดต้องการใช้ติดตั้งจริง ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้งหนึ่ง” นายกนก กล่าว
ด้าน น.ส.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัญหาน้ำเสียในบริเวณ ซ.พะเนียง ต.รัษฎา ขณะนี้ทางจังหวัดได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปแก้ไขโดยเฉพาะเจ้าของพื้นที่ คือ เทศบาลตำบลรัษฎา และเทศบาลนครภูเก็ต ร่วมกันตั้งงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น และระยะยาว อย่างไรก็ตาม การนำเครื่องโอโซนมาในการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นการทดลองรูปแบบหนึ่งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เป็นการใช้สนามแม่เหล็กขึ้นมาเป็นเครื่องมือใหม่ และยังเป็นการทดลองอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นอีกแนวทางที่น่าจะไปปรับใช้ในการบำบัดน้ำเสียได้