ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม นำเสนองานวิจัยนวัตกรรมเครื่องปรับน้ำเสียระดับอะตอม เน้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดโลกร้อน
วันนี้ (22 เม.ย.) ที่ห้องประชุมสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดภูเก็ต ได้มีการนำเสนอเครื่องปรับสภาพน้ำเสียโดยใช้สนามแม่เหล็ก ซึ่งนำเสนอโดยนายกนก นาแก้ว หัวหน้าฝ่ายร่วมวิจัยและพัฒนา ศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม มีนายเกษม สุขวารี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดภูเก็ต ตัวแทนผู้ประกอบการจากเกาะราชาใหญ่ ต.ราไวย์ และตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เข้าร่วมรับทราบ และร่วมชมการทดสอบระบบของเครื่องปรับสภาพน้ำเสียดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจากทางกลุ่มผู้ประกอบการเกาะราชาใหญ่ ทราบมาว่า ทางศูนย์ฯ มีการทำวิจัยเครื่องปรับน้ำเสียโดยใช้สนามแม่เหล็ก และมีการนำไปทดลองในหลายพื้นที่ของประเทศไทยแล้วประสบความสำเร็จ สามารถแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย ทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดภูเก็ต จึงเป็นตัวกลางในการประสานผู้เชี่ยวชาญให้มานำเสนอข้อมูล วิธีการ และผลของการแก้ปัญหาน้ำเสีย เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจของกลุ่มผู้ประกอบการ และหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดภูเก็ต ในการลงทุนนำเครื่องมือตัวนี้มาใช้
นายกนก นาแก้ว หัวหน้าฝ่ายร่วมวิจัยและพัฒนา กล่าวว่า การวิจัยเครื่องปรับสภาพน้ำเสียเป็นการยกระดับการบำบัดน้ำเสียแนวใหม่ นำเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง โดยเน้นให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีหลักการทำงาน 3 ขั้นตอน คือ การควบคุม เหนี่ยวนำให้ตะกอน สารแขวนลอย สารปนเปื้อน รวมตัวกันแยกออกจากน้ำเสีย ขั้นถัดมาทำการแตกโมเลกุลของน้ำ ซึ่งประกอบด้วย ก๊าซไฮโดรเจน 2 อะตอม และออกซิเจน 1 อะตอม ซึ่งเป็นการเติมออกซิเจนในน้ำเสียอย่างรุนแรง เพื่อกำจัดกลิ่นเสีย สุดท้ายใช้ก๊าซโอโซนทำลาย และยับยั้งการเจริญเติบโตเซลล์โปรตีนของแบคทีเรียไวรัส
อย่างไรก็ตาม จุดเด่นของเครื่องปรับน้ำเสียคือ ใช้พื้นที่น้อยเพียง 10 ตารางเมตร ในการติดตั้ง ใช้เวลาดำเนินการเพียง 10-60 นาที ที่สำคัญจากการวิจัยและพัฒนาพบว่า ต้นทุนในการติดตั้ง และดำเนินการต่ำ ตะกอนที่ได้เป็นตะกอนอิ่มตัวไม่มีละลายน้ำ และสามารถติดตั้งแหล่งกำเนิดน้ำเสีย แหล่งน้ำเดิม หรือใช้ร่วมกับระบบบำบัดเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบให้ดีขึ้น