xs
xsm
sm
md
lg

“ภัยแทรกซ้อน” ยังแก้ไม่ได้ แล้วจะดับ “ไฟใต้” ได้อย่างไร / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
ในขณะที่สถานการณ์ความรุนแรงจาก “ความเห็นต่าง” ทางการเมืองที่กรุงเทพฯ ส่งผลให้ลูกกระสุน เอ็ม 79 ปลิวว่อน โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารยังจับมือใครดมไม่ได้ และไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นการกระทำของ “มือที่สาม” หรือเป็นของ “มือที่หนึ่ง” และ “มือที่สอง” ที่ต้องการสร้างสถานการณ์เพื่อให้บรรลุสู่ชัยชนะ แต่วิธีการที่ “คนในเงามืด” นำมาใช้ในเมืองหลวง ยังไม่มีการตายจริง เพราะจุดประสงค์เป็นเพียงแค่ “ขู่” ให้กลัวเท่านั้น
 
ผิดกับสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งที่นี่ไม่มี “คำขู่” แต่ระเบิดแสวงเครื่องทุกลูก กระสุนทุกนัด และเครื่องยิงระเบิดที่หลุดจากปากกระบอกต้องการเห็นความสูญเสีย เห็นความตายของเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชน
 
ดังนั้น สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงยังไม่ได้ลดความรุนแรงลงอย่างที่หลายฝ่ายต้องการที่จะเห็น ความสูญเสียยังเกิดขึ้นทุกวัน และโจทย์ก็ยังเป็นโจทย์เดิมๆ ผู้สูญเสียก็ยังเป็นเหยื่อเดิมๆ เช่น ครูที่ตายเพิ่มขึ้นจาก 170 คน เมื่อเดือนมกราคม 2557 เป็น 171 คนเมื่อเดือนมีนาคม 2527 พระภิกษุเสียชีวิตเป็น 10 รูป ในรอบ 10 ปี ของการเกิดขึ้นของไฟใต้ระลอกใหม่
 
และที่กลายเป็นเหยื่อรายวันคือ เจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร อาสาสมัครรักษาดินแดน ผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนา และประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่เป็นทั้งพุทธ และมุสลิม
 
ล่าสุด ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.เดินทางมาตรวจสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้เน้นย้ำให้หน่วยงานความมั่นคงอันมี “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” เป็นผู้รับผิดชอบเร่งรัดดำเนินการในเรื่องสำคัญๆ เช่น การปิดล้อมและตรวจค้นกำลังของ “แนวร่วม” กลุ่มติดอาวุธที่เคลื่อนไหวในบริเวณเทือกเขาบูโด เทือกเขาตะเว และเทือกเขาเมาะแต
 
รวมทั้งให้ใส่ใจในการแก้ปัญหาของ “ภัยแทรกซ้อน” คือการค้ายาเสพติด การค้าน้ำมันเถื่อน ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น และให้แยกแยะคดีที่เกิดขึ้น ซึ่งพบว่าเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งที่เหลือเป็นความขัดแย้งในเรื่องต่างๆ เช่น การเมืองท้องถิ่น หรือความขัดแย้งจากการทำธุรกิจที่เป็นภัยแทรกซ้อน
 
ในส่วนของการให้กำลังเข้ากดดันแนวร่วมกลุ่มติดอาวุธที่เคลื่อนไหวอยู่ในเทือกเขาทั้ง 3 แห่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น อาจจะได้ผลในส่วนหนึ่งที่อาจจะทำให้แนวร่วมกลุ่มติดอาวุธขาดความคล่องตัวในการรวมกำลังเข้าทำการก่อการร้ายแบบ “รวมดารา” เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
 
แต่โดยข้อเท็จจริงแนวร่วมที่น่ากลัว และเป็นภัยต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ครู และพระคือ แนวร่วมที่แฝงตัวอยู่ในหมู่บ้าน หรือในชุมชน ซึ่งใช้วิธีการเกาะติดการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ และฉกฉวยช่องว่าง และความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ทำการโจมตีด้วยระเบิดแสวงเครื่องและอาวุธสงคราม
 
รวมทั้งฉวยโอกาสที่เจ้าหน้าที่เผลอ หรือประมาทฆ่ากลุ่มเป้าหมายที่อ่อนแอ เช่น ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ครู และพระ ซึ่งเป็นเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์ของรัฐไทย เพื่อทำลายความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และสร้างความคับแค้นให้เกิดขึ้นแก่กลุ่มไทยพุทธที่เป็น “คนส่วนน้อย” ในพื้นที่
 
แน่นอนว่าการที่เจ้าหน้าที่จะหยุดการปฏิบัติการของแนวร่วมที่มีเป้าหมายต่อประชาชน พระ และครู รวมทั้งเป้าหมายที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ยังขาดจิตวิญญาณ และขาดทักษะของการทำ “สงครามนอกระบบ” และสุดท้ายขาดขวัญ และกำลังใจ
 
แต่ปัญหาหนึ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ประกาศให้ความสำคัญมาโดยตลอดคือ เรื่องของ “ภัยแทรกซ้อน” 3 เรื่องที่เห็นกันชัดเจน 1.เรื่องของยาเสพติด 2.เรื่องขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน 3.เรื่องผู้มีอิทธิพล ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้นำท้องที่และผู้นำท้องถิ่น ซึ่งทั้ง 3 เรื่องดังกล่าวต่างเป็นการส่งเสริม และเป็นกลุ่มก้อนเดียวกับแนวร่วมที่ก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่
 
จะเห็นว่านับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา หลังไฟใต้ระลอกใหม่ปะทุคุโชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แผ่นดินปลายด้ามขวานได้กลายเป็น “ตลาด” การค้ายาเสพติดที่ใหม่มาก เนื่องจากมีชายแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซียทั้งทางบก และทางทะเล
 
แต่ในขณะที่เจ้าหน้าที่ในภาคอื่นๆ มีการจับกุมขบวนการค้ายาเสพติดกันอย่างอึกกระทึก แต่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้รับผิดชอบไม่มีการจับกุมยาเสพติดรายใหญ่ๆ หรือขนาดย่อมๆ ให้เห็นแต่อย่างใด
 
ล่าสุด แม้แต่ “อิหม่ามมัสยิดบ้านกูยิ” อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาที่นำประชาชนต่อต้านยาเสพติดตามโครงการมัสยิดสานใจต้านภัยยาเสพติดยังถูกฆ่าตาย โดยมีสาเหตุมาจากการต้านขบวนการยาเสพติด เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ได้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่
 
มีเพียงข้อมูลจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ระบุว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีตระกูลใหญ่ จำนวน 4 ตระกูล ที่เป็นผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ ส่วนกลุ่มการเมืองท้องที่ และท้องถิ่นที่มีผลประโยชน์กับธุรกิจผิดกฎหมาย และมีอิทธิผลมีอยู่ 40 กลุ่มด้วยกัน
 
เช่นเดียวกับเรื่องการปราบปรามขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะนราธิวาส สงขลา และสตูล ซึ่งเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันเถื่อนทางรถยนต์ ซึ่งกำลังของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สามารถปฏิบัติการได้ด้วยการตั้งด่าน จุดตรวจ จุดสกัด รวมทั้งปฏิบัติการต่อเป้าหมายคือ ที่เก็บน้ำมันเถื่อนในพื้นที่แนวชายแดน และโรงงานต่างๆ ได้โดยทันที
 
แต่สิ่งที่ประชาชนพบเห็นตลอดเวลากว่า 3 ปีที่มีการประกาศจาก “แม่ทัพ” แต่ละท่านว่า “น้ำมันเถื่อน” ถือเป็น “ภัยแทรกซ้อน” สำคัญเช่นเดียวกับ “ยาเสพติด” ที่ส่งเม็ดเงินให้แน่วร่วมใช้ในการวางระเบิด และฆ่าคนคือ ตลอด 2 ฝั่งถนนทุกสายในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับเต็มไปด้วยการวางขายน้ำมันเถื่อน และบนถนนสายหลักที่เป็นเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ก็เต็มไปด้วยรถบรรทุกน้ำมันเถื่อนวิ่งกันขวักไขว่ แถมผ่านจุดตรวจจุดสกัดใน 5 จังหวัดชายแดนใต้อย่างง่ายดายเพื่อไปส่งน้ำมันเถื่อนให้ลูกค้าได้ถึงกรุงเทพฯ ก็มี
 
ความล่าช้าในการสร้างสันติสุข อันเกิดจากขบวนการก่อการร้าย “บีอาร์เอ็นฯ” นั้นเป็นที่รู้กันว่าเป็นเรื่องไม่ง่าย และต้องใช้เวลา อาจต้องมีการใช้เวทีของการ “พูดคุย” เป็นเครื่องมือหลัก
 
แต่กับขบวนการค่ายาเสพติด ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนข้ามชาติ และขบวนการผู้มีอิทธิพล 40 กลุ่มเหล่านี้ น่าจะเป็นเรื่องที่ “ไม่ยาก” เพราะแม้เป็นอาชญากรที่อาจจะไม่ธรรมดา แต่ก็ไม่ได้ซับซ้อน และซ่อนเงื่อน เนื่องจากแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงก็สามารถแก้ปัญหาได้หาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพกับปัญหาภัยแทรกซ้อนเหล่านี้
 
อะไรคือ “ปัจจัย” แห่งความ “ล้มเหลว” ของการที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่สามารถขจัดภัยแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น นี่คือโจทย์ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องเร่งทบทวน และทำลายภัยแทรกซ้อนเหล่านั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภัยความมั่นคงนั่นเอง
 
หากแม้แต่ “ภัยแทรกซ้อน” ที่เป็นเพียงขบวนการน้ำมันเถื่อน ยาเสพติด และผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ยังล้มเหลวในการแก้ไข แล้วจะให้คนในพื้นที่เชื่อได้อย่างไรว่าหน่วยงานอันเป็นแก่นกลางของการดับไฟใต้หน่วยงานนี้จะเอาชนะขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งมีศักยภาพมากกว่ากลุ่มอาชญากรที่เป็นภัยแทรกซ้อนเหล่านี้ได้อย่างไร
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น