ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผย 5 ความเชื่อ และความจริงเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต เพื่อเป็นการเปิดอีกหนึ่งมุมมองในประเด็นคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น
แม้หลายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนพยายามรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิต ด้วยเหตุผลที่ว่าโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิต ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ อีกทั้งยังเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ ต่อการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม แต่ยังมีอีกหลายคำถามเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต วันนี้จึงขอนำเสนอ 5 ความเชื่อ และความจริงเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตที่คุณอาจยังไม่รู้ เพื่อเป็นการเปิดอีกหนึ่งมุมมองในประเด็นนี้
1.ความเชื่อ - โทษประหารชีวิตสามารถป้องกันอาชญากรรม และทำให้สังคมมีความปลอดภัยขึ้น
ความจริง - ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าโทษประหารชีวิตจะสามารถป้องกันอาชญากรรมได้
อย่างเช่นที่ประเทศแคนาดา ปัจจุบันหลังจากที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตมากว่า 30 ปี สถิติการก่ออาชญากรรมลดลงมากเมื่อเทียบกับปี 2519 ที่ยังมีโทษประหารชีวิตอยู่ และจากการศึกษาในระยะเวลา 35 ปี เพื่อเปรียบเทียบสถิติการฆาตกรรมระหว่างฮ่องกงซึ่งไม่มีโทษประหารชีวิตกับสิงคโปร์ที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน แต่ยังมีโทษประหารชีวิต พบว่าโทษประหารชีวิตนั้นมีผลกระทบที่น้อยมากต่อสถิติการก่ออาชญากรรม
2.ความเชื่อ - การประหารชีวิตเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการโจมตีจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย
ความจริง - การประหารชีวิตไม่สามารถป้องกันไม่ให้คนใดคนหนึ่งวางแผนเพื่อที่จะฆ่า หรือทำร้ายคนอื่นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรืออุดมการณ์ได้
เจ้าหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในการต่อต้านการก่อการร้ายได้เปิดเผยหลายครั้งว่า ผู้ก่อการร้ายที่ถูกประหารชีวิตนั้นเปรียบได้กับการพลีชีพเพื่อศาสนา หรืออุดมการณ์ และกลุ่มต่อต้านติดอาวุธได้ออกมาเปิดเผยด้วยว่า โทษประหารชีวิตนั้นเป็นเหมือนข้ออ้างที่จะใช้ในการแก้แค้น และมันก็จะนำมาซึ่งการใช้ความรุนแรงไม่จบไม่สิ้น
3.ความเชื่อ - โทษประหารชีวิตนั้นเป็นสิ่งดีตราบใดที่ยังมีคนส่วนใหญ่สนับสนุนอยู่
ความจริง - ในอดีตนั้นมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายจากการสนับสนุนของคนหมู่มาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปการกระทำเหล่านั้นกลับถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าหวาดกลัว
การตกเป็นทาส การแบ่งแยกเชื้อชาติ และการลงประชาทัณฑ์ ได้รับการสนับสนุนจากคนหมู่มากทั้งนั้น ซึ่งมันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุด และรัฐบาลก็ควรมีหน้าที่ที่จะปกป้องสิทธิของประชาชนทุกคน ถึงแม้ว่าบางครั้งมันจะขัดต่อความต้องการของคนส่วนใหญ่ก็ตาม นอกจากนี้ ความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่นั้นจะเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับผู้นำทางการเมือง และการให้ข้อมูลที่เป็นความจริงเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต
4.ความเชื่อ - คนที่ถูกประหารชีวิตทุกคนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าผิดจริงในการก่อคดีอาชญากรรม
ความจริง - มีนักโทษเป็นร้อยจากทั่วโลกที่ถูกประหารชีวิตจากการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการเค้นเอาคำสารภาพจากนักโทษโดยการทรมาน และการปฏิเสธให้นักโทษได้ใช้ทนายความ
ประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุดนั้นเป็นประเทศที่มีความจริงจังอย่างมากด้านกระบวนการยุติธรรม อย่างเช่น จีน อิหร่าน อิรัก และจากการที่อเมริกาละเว้นโทษประหารชีวิตให้แก่นักโทษ 144 คน ในปี 2516 แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีมาตรการคุ้มครองทางกฎหมายมากมายแค่ไหน กระบวนการยุติธรรมก็มีการผิดพลาดได้อยู่ดี และตราบเท่าที่คนเรามีการผิดพลาดกันได้ ความเสี่ยงในการที่จะประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ
5.ความเชื่อ - ญาติของผู้ถูกฆาตกรรมต้องการการลงโทษที่สาสม
ความจริง - การเคลื่อนไหวคัดค้านโทษประหารชีวิตทั่วโลกมีผู้เข้าร่วมหลายคนที่สูญเสียคนที่ตนเองรัก หรือแม้กระทั่งเป็นเหยื่อของความรุนแรง และอาชญากรรมเองแต่เพราะเหตุผลทางจริยธรรม และความเชื่อทางศาสนาจึงไม่อยากให้มีโทษประหารชีวิตในนามของพวกเขา และในสหรัฐอเมริกา องค์กร “Murder Victims’ Families for Human Rights” ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนเพื่อญาติของเหยื่อที่ถูกฆาตกรรม ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อล้มเลิกโทษประหารชีวิต อย่างเช่นในรัฐนิวแฮมป์เชียร์