รอยเตอร์ – คนไข้โรคประสาท 18 รายที่เข้ารับการผ่าตัดที่ศูนย์การแพทย์ “โนแวนต์เฮลท์ฟอร์ซิท” ในมลรัฐนอร์ทแคโรไลนา อาจสัมผัสกับโรคที่ไร้หนทางรักษาและอันตรายถึงชีวิต ซึ่งคล้ายกับโรค “วัวบ้า” เนื่องจากเครื่องมือผ่าตัดไม่ได้ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้ออย่างเพียงพอ โรงพยาบาลดังกล่าวระบุวานนี้ (10 ก.พ.)
บรรดาแพทย์ได้ผ่าตัดคนไข้ทั้ง 18 คน เมื่อวันที่ 18 มกราคม ด้วยเครื่องมือที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างเพียงพอ ภายหลังนำไปใช้ผ่าตัดชายคนหนึ่งซึ่งต้องสงสัยว่าจะเป็นโรค “ครอยตส์เฟลดต์-จาคอบ” (ซีเจดี) โรงพยาบาลซึ่งตั้งอยู่ในเมืองวินสตัน-ซาเล็มแห่งนี้เปิดเผย
“ในนามของคณะแพทย์ผ่าตัดทุกคนของโนแวนต์เฮลท์ ผมต้องขอโทษคนไข้และครอบครัวของพวกเขาที่ทำให้ต้องวิตกกังวล” เจฟฟ์ ลินด์เซย์ ประธานของศูนย์การแพทย์แห่งนี้กล่าวในการแถลงข่าว
สถาบันโรคประสาทและโรคเส้นโลหิตในสมองแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า โรคซีดีเจทำให้ผู้ป่วยความจำเสื่อม ตาบอด เคลื่อนไหวร่างกายเองโดยควบคุมไม่ได้ และในที่สุดก็เข้าสู่อาการโคมา โดย 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เป็นโรคนี้จะจบชีวิตลงภายในหนึ่งปี แม้ว่าโรคนี้มีอาการคล้ายโรควัวบ้า แต่ไม่ได้เป็นผลมาจากการบริโภคเนื้อ
เชื้อโรคชนิดนี้ใช้ระยะฟักตัวเป็นปีๆ ก่อนจะปรากฏอาการในระยะแรก คำแถลงระบุ และภายหลังที่โรคส่งสัญญาณของอาการในระยะแรกออกมาแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตภายใน 4 เดือน
อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลระบุว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะมีผู้ติดโรคนี้จากการผ่าตัด
จูลี เฮนรี โฆษกของกระทรวงสาธารณสุขและงานบริการสังคม นอร์ทแคโรไลนา กล่าวว่า ทางกระทรวงรับทราบแล้วว่ามีความเป็นไปได้ที่คนไข้ทั้ง 18 รายจะติดโรคชนิดนี้ และกำลังเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
เมื่อปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกล่าวว่า เป็นไปได้ว่ามีคนไข้อย่างน้อย 15 รายในรัฐคอนเนกติกัต แมสซาชูเซตส์ และนิวแฮมป์เชียร์ได้รับเชื้อซีเจดี โดยเป็นผลมาจากที่เครื่องมือผ่าตัดที่ไม่สะอาด
ที่นอร์ทแคโรไลนา อุปกรณ์ผ่าตัดจะต้องผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อตามมาตรฐานของโรงพยาบาล แต่ไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนฆ่าเชื้อในระดับสูงเทียบเท่าเครื่องมือที่ผ่านการใช้ผ่าตัดผู้ป่วย หรือผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นโรคซีเจดี โรงพยาบาลระบุในคำแถลง
ทั้งนี้ แพทย์ยังไม่สามารถหาหนทางในการรักษาโรคที่ทำให้ชาวสหรัฐฯ ล้มป่วยราว 300 คนต่อปีชนิดนี้
ในแต่ละปี แพทย์จะตรวจพบผู้ป่วยเป็นโรคนี้หนึ่งในล้านคน โดยโรคนี้สามารถติดต่อผ่านการปลูกถ่ายอวัยวะหรือการผ่าตัด ฟลอเรนซ์ ครานิตซ์ ประธานมูลนิธิโรคครอยตส์เฟลดต์-จาคอบ ระบุ