xs
xsm
sm
md
lg

“ม.ล.วัลย์วิภา” ผิดหวังศาลยกฟ้องคดีเพิกถอน EIA ท่อก๊าซไทย-มาเลย์ ติงหาก คชก.ไม่กล้าสังคมตกเป็นเหยื่อทุนต่อไป (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันที่ 20 มี.ค 57 เวลา 10.30 น. ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ยกฟ้อง ในคดีหมายเลขดำที่ 43/2547 ระหว่าง นายกิตติภพ สุทธิสว่าง ที่ 1 กับพวกรวม 17 คนเป็นผู้ฟ้องคดี ต่อกรมการขนส่งทางน้ำและพานิชยนาวี ที่ 1 คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ที่ 2 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดี
 
 


คดีนี้สืบเนื่องจากบริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย ผู้ดำเนินโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย โดยการวางท่อก๊าซจากในทะเลบริเวณอ่าวไทย เชื่อมต่อกับบนบก มีจุดขึ้นฝั่งบริเวณตำบลตลิ่งชัน และตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ได้ยื่นรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโครงสร้างพื้นฐาน และอื่นๆ (คชก.) และ คชก.(คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ) มีมติให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ในประเด็นเทคนิควิชาการ ยกเว้นประเด็นด้านสังคม

ซึ่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ฉบับดังกล่าว เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาเพื่อการออกใบอนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำของโครงการ ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่ เห็นว่าการที่กรมการขนส่งทางน้ำพาณิชยนาวี ออกใบอนุญาตให้แก่บริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อดำเนินโครงการ และมติให้ความเห็นชอบ EIAของ คชก.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า ในการออกใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ใช่การดำเนินกิจการใดๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในตำบล หรือการจัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งต้องแจ้งให้องค์การบริหารส่วนตำบลทราบ ดังนั้น จึงไม่ได้ถือว่าการออกใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน อีกทั้งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ได้นำรายงานผลการทำประชาพิจารณ์ ที่จัดทำโดยกระทรวงอุตสาหกรรม มาประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาต จึงเป็นดุลพินิจที่กระทำได้ และไม่เป็นเหตุที่ทำให้กระบวนการพิจารณาออกใบอนุญาตดังกล่าวบกพร่อง ในขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญแต่อย่างใด ดังนั้น อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้ง 17 จึงฟังไม่ขึ้น เป็นเหตุให้พิพากษายกฟ้อง
ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ บุรุษรัตนพันธ์
 
ขณะที่ ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ บุรุษรัตนพันธ์ คชก.โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้ที่เซ็นไม่ผ่านโครงการดังกล่าว ได้เดินทางมาติดตามฟังผลการตัดสิน และให้กำลังใจชาว อ.จะนะ เปิดเผยกับ “ASTVผู้จัดการออนไลน์” หลังจากฟังคำพิพากษาว่า

“คดีนี้จริงๆ แล้วมันควรจะเป็นคดีที่เป็นตัวอย่างอย่างยิ่ง เพราะว่า 10 กว่าปี 13 ปีมานี้ ที่ชาวบ้านต่อสู้เรื่องนี้ แต่มันน่าเสียใจ มันน่าเสียใจที่มันไม่ได้เป็นตัวอย่างของการต่อสู้ แล้วได้สิทธิที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญไม่มีเลย เพราะว่าถ้าหากจะได้ตามนั้นจริง มันจะต้องทำให้เห็นว่า ผู้ตัดสิน หรือผู้อยู่ในวงการทุกอย่าง ได้สนใจสังคม หรือคุณภาพชีวิต เพราะสิทธิทั้งหลายมันจะอยู่ในสังคม ถ้าคุณยอมรับสังคม คุณยอมให้น้ำหนักต่อสังคม นั่นแหละคือการยอมรับสิทธิที่อยู่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ”

แต่นี่ไม่ แต่มันเป็นตัวอย่างสำหรับโครงการขนาดใหญ่ทั่วไป โครงการที่จะดำเนินการต่อไป โครงการที่ไม่ต้องสนใจว่าหลักเกณฑ์มันจะเป็นอย่างไร อย่างวันที่ฟังศาลได้สรุปคำพิพากษาให้พวกเราฟัง เราจะเห็นสิ่งที่จับความได้ ก็คือ ศาลมีการอ้างบอกว่า หนังสือหรือรายงานครบถ้วน แล้วก็กระบวนการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับพานิชยนาวี ที่เป็นจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้มีการขัดขวางทางน้ำเลย นั่นเป็นประเด็นที่ 1 ประเด็นที่ 2 ศาลก็บอกว่าประชาพิจารณ์จะบอกอ้างว่าไม่ได้ทำไม่ได้ เพราะว่ามีการทำของหน่วยงานบางหน่วยงาน อันนั้นก็ทดแทนกันได้ รู้สึกว่าอันนี้จะเป็นเหตุผลหลัก ถ้าหากว่าศาลมาอ่านสรุปแบบนี้ มันก็เหมือนกับว่า เอ้ย! EIA มันต้องคู่กับประชาพิจารณ์ ไม่เห็นจะมีเรื่องสำคัญอะไรเลย

โครงการต่างๆ ที่ทำ EIA ขึ้นมา จะต้องดำเนินการต่อไป ชาวบ้านจะขัดก็ขัด ร้องขัดแต่ EIA เป็นของคู่กัน ที่กลายเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย เรื่องธรรมดา มันเป็นเหมือนแผ่นเสียงตกร่องอย่างนั้นจริงๆ สำหรับกรณีของ อ.จะนะ มันมีพิเศษมากกว่าเรื่องของประชาพิจารณ์ คือ ประชาพิจารณ์มันก็มีปัญหาอยู่แล้ว ทำประชาพิจารณ์มา 2 รอบก็ไม่ผ่าน มีการล้มประชาพิจารณ์ มีการใช้กำลัง แต่ว่าที่เป็นพิเศษ เพราะว่าคดีนี้ 1.เป็นตัวอย่างว่าความสมบูรณ์ของรายงานในแง่กฎหมายหมายความว่าอย่างไร

รายงานแบ่งออกเป็น 2 เรื่อง 1 เรื่องของเทคโนโลยี หรือวิศวกรรม อันนั้นผ่านไป ผ่านไปโดยบอกว่าปัญหาทุกอย่างเทคโนโลยีบอกว่าควบคุมได้ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของสังคมหรือคุณภาพชีวิต ซึ่งคนทำรายงานไม่ได้ลงพื้นที่เลย นั่งเทียนเขียนเอาแล้วก็ไปเขียนใน คณะ คชก. ไปเขียนที่ สผ. (สำนักนโยบายและแผน) ด้วยซ้ำ เขียนด้วยแรงกดดันด้วยซ้ำ เพราะว่า ขณะนั้น พูดเลยว่า ปี 44 นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นคือ “ทักษิณ ชินวัตร” กดดันมา กดดันมาทางกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ บอกว่าทูตของมาเลเซีย มาเร่งในเรื่องนี้ เห็นไหมว่ามันต้องผ่านโดยการเมือง

ทีนี้ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ว่า การผ่านกระบวนการให้ผ่าน เมื่อ คชก.ที่เชี่ยวชาญทางด้านสังคม เห็นพฤติกรรมแบบนั้นแล้วบอกว่า เราไม่ให้ผ่าน เพราะว่าคุณไม่ได้ลงพื้นที่เลย คุณไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งของชาวบ้านได้เลย ที่ชาวบ้านเขายกประเด็นขึ้นมา คุณตอบไม่ได้เลยอย่างนี้ แล้วจะไปให้ผ่านได้ไง เราถึงได้บอกว่าต้องมีวิธี ต้องมีวิธีทำใหม่ แต่ปรากฏว่า ณ วันที่ 16 ธันวา 2544 ตามที่ศาลได้อ้าง บอกว่ามีมติของคณะกรรมการให้ผ่าน แล้วก็ใช้มติอันนี้ไปออกใบอนุญาตต่างๆ ซึ่งในข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่า เราไม่ให้ผ่าน เพราะฉะนั้นรายงานทางสังคมไม่ให้ผ่าน แต่รายงานทางวิศวกรรมหรือเทคนิคให้ผ่าน 1.เป็นความสมบูรณ์หรือ ของรายงาน และ 2.กระบวนการให้ผ่าน ก็ปรากฏว่าได้มีการอุ้ม อุ้มเอารายงานนี้ไปส่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จะพิจารณาหรือให้ความเห็นชอบกับรายงานที่เป็นโครงการของรัฐ

แต่นี่รายงานท่อก๊าซอันนี้ ของทางไทย-มาเลเซีย เป็นโครงการร่วม และเป็นโครงการของเอกชน ใช่ไหม เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องให้ผ่านตามมาตรา 48 โดยคณะผู้ชำนาญการ ไม่ใช่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่นี่กลับดันไปให้ผ่านโดยให้สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แสตมป์ตรงนั้นไง นั่นมันคือข้อ 47 ของเรามันข้อ 48 ใช้ตัวบทกฎหมายผิดแล้ว แต่ถามว่านี่คือผิดกฎหมายหรือเปล่า นี่คือประเด็นปัญหา ที่บอกว่าของ อ.จะนะ พิเศษกว่าเรื่องอื่นๆ เรื่องที่มีประชาพิจารณ์อะไรต่ออะไร แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีการหยิบยกมาพูดถึงเลย เท่ากับว่าทางด้านสังคมถูกละเลย

“เพราะฉะนั้น พอออกมาเราเข้าใจในความรู้สึกของชาวบ้าน เพราะเราเห็นตั้งแต่วันแรกที่ชาวบ้านต่อสู้ในเรื่องนี้ เราไม่กล้าพูดเลยว่าชาวบ้านมีสิทธิ เราไม่กล้าปลอบใจชาวบ้านบอกว่าไม่เป็นไรนะ เรายังมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เดี๋ยวไปเรียกร้องกัน เราไม่กล้าพูดเลย เพราะว่าสิ่งนี้มันทำลายแล้วว่า ถ้าคุณไม่ยอมรับความสำคัญ หรือตราชั่งทางสังคม เท่ากับว่าสิทธิตามรัฐธรรมนูญไม่เหลือ ไม่เป็นจริงเลย”
ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ บุรุษรัตนพันธ์
 
ม.ล.วัลย์วิภา กล่าวต่ออีกว่า “คือชาวบ้านเองในเรื่องของประชาพิจารณ์ ทุกคนตอนนี้มันกลายเป็นปัญหาการไม่มีส่วนร่วมของประชาชน การมีส่วนร่วมคืออะไร คือการทำประชาพิจารณ์การให้ข้อมูลกัน ทุกคนก็จะจับแต่ตรงนี้มา แต่ว่าเรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินได้ เพราะว่าการประชาพิจารณ์ หรือการให้ข้อมูลมันตั้ง 108 วิธี ใช่ไหม ประกาศวิทยุก็ใช่ แถลงการณ์ก็ใช่ แถลงข่าวก็ใช่ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้น อันนี้เราก็เห็นอยู่ว่ามันไม่สมบูรณ์ แต่ว่าทุกโครงการก็จะหยิบยกเรื่องประชาพิจารณ์ขึ้นมา มันกลายเป็นแผ่นเสียงตกร่อง

ตรงนี้คือในความเป็นจริง มันเหมือนกับว่าชาวบ้านก็ไม่สามารถที่จะหยิบเอาเหตุผลมาอ้างได้ แล้วใครละจะพยุงชาวบ้าน พยุงให้เขาขึ้นมานั่งบนโต๊ะ เป็นผู้มีส่วนเสียเท่ากับผู้มีส่วนได้นั่งบนโต๊ะด้วยกัน ที่จะใช้เหตุผล หรือข้อโต้แย้งด้วยกันมันไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้นถึงเป็นห่วง เป็นห่วงต่อสังคมนี้ ว่าถ้าหากว่า คชก. หรือผู้มีส่วนในการชี้ต้นตายปลายเป็นทั้งหลาย ที่เกี่ยวกับโครงการของชาวบ้าน หรือคุณภาพชีวิตของชาวบ้านไม่มีความกล้าหาญ เราก็ตกเป็นเหยื่อของทุนต่อไป

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น