ยะลา - คณะผู้สังเกตการณ์ชายแดนภาคใต้ สถานทูตญี่ปุ่น เยือน ศอ.บต.หารือความร่วมมือ พร้อมให้สนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และด้านการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
วันนี้ (19 มี.ค.) ที่ห้องประชุมปฏิบัติการ (OR) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.เมือง จ.ยะลา คณะผู้สังเกตการณ์ชายแดนภาคใต้ ของสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย นำโดย Mr.Mitsugu Saito รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตฯ และผู้แทนถาวรประจำองค์การเอสแคปแห่งสหประชาชาติ Mr.Taishi Akimoto เลขานุการเอกและผู้ช่วยทูตตำรวจ นายเอกราช เชาว์มัย ที่ปรึกษาและล่ามฝ่ายการเมือง เข้าพบ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับทราบเกี่ยวกับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
จากนั้นคณะผู้สังเกตการณ์ชายแดนภาคใต้ ของสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ได้ร่วมประชุมหารือกับคณะผู้บริหารของ ศอ.บต.โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธาน และผู้อำนวยการ /กอง ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า จากการร่วมหารือกับคณะผู้สังเกตการณ์ชายแดนภาคใต้ ของสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ที่ได้เดินทางมาเยือน ศอ.บต.ได้มีความเห็นร่วมกันว่า มีเรื่องที่ความสำคัญที่จะได้ร่วมมือกันต่อไปคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษา ซึ่งทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มุ่งหวังที่จะให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาด้านการศึกษา การพัฒนาเด็กและเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรามีความเชื่อมั่นว่าการสร้างอนาคต การสร้างสันติสุขของพื้นที่คือต้องให้ความสำคัญสูงสุดกับการศึกษา
ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เองนั้น มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เปิดการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นซึ่งได้จัดตั้งขึ้นมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ถือว่าเป็นศักยภาพอันหนึ่งที่ร่วมกันพัฒนาได้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีความร่วมมือในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งในแง่ของการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของภาษาเรื่องของการร่วมมือที่จะให้มีการพัฒนาห้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่มีศักยภาพสูงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ หรือมีการจัดกิจกรรมเข้าค่ายภาษาญี่ปุ่นภาคฤดูร้อน เราอยากเรียนรู้ในแง่ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในแง่ของการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการรับผิดชอบและความมีระเบียบวินัย ซึ่งประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดีมาก
ด้าน Mr.Mitsugu Saito รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต และผู้แทนถาวรประจำองค์การเอสแคปแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้รู้สึกชื่นชมระบบการจัดการทรัพยากรมนุษย์ของประเทศญี่ปุ่น ในเรื่องของการศึกษาที่มีประสิทธิภาพในการสร้างเยาวชนให้มีความสามารถ ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ประเทศที่อยู่ในระดับชนชั้นกลาง จึงทำให้บทบาท องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) ในไทยมีลดน้อยลง สิ่งที่ JICA กำลังดำเนินการอยู่ตอนนี้คือความร่วมมือทางวิชาการ ซึ่งลักษณะของการดำเนินงานขององค์กร JICA ในไทยนั้น ไม่ได้มีผลประโยชน์แค่เฉพาะในไทยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงระดับภูมิภาคด้วย
สำหรับในเรื่องของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมหรือการส่งเสริมในเรื่องของภาษาญี่ปุ่นทางสถานทูตมีหน่วยงานที่เรียกว่า มูลนิธิญี่ปุ่น (The Japan Foundation) ซึ่งดูแลรับผิดชอบในส่วนของการส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรมของญี่ปุ่นในประเทศไทย ถ้าหากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการสนับสนุนในส่วนนี้ น่าจะไม่มีอุปสรรคใดๆ