ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยางและไม้ยางพาราในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การแข่งขันหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 58
วันนี้(18มี.ค.) เวลา 10.00 น. ที่ โรงแรมบุรีศรีภูฯ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง และไม้ยางพาราในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่าง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี , ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จังหวัดสงขลา และกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมยาง และไม้ยางพารา จำนวน 95 กิจการ ท่ามกลางสักขีพยานเป็นจำนวนมาก
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง จังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส ได้รับการพัฒนาศักยภาพ และพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนลดต้นทุนการผลิตเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ในตัวสินค้า โดยกิจการที่ร่วมโครงการฯ จะต้องปฏิบัติงานตามคำแนะนำของที่ปรึกษา และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาแนะนำกิจการที่เข้าร่วม ด้วยความรู้ความชำนาญ ความระมัดระวัง และความรับผิดชอบในการบริหารงาน โดยไม่ละเมิดสิทธิ ข้อมูล หรือลิขสิทธิ์ของกิจการที่เข้าร่วมโครงการหรือนำไปใช้ในกิจการอื่น
ด้าน รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ม.อ.ปัตตานี) กล่าวว่า ทางคณะฯได้ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับยางพารา ทั้งในด้านการเรียนการสอน การทำวิจัยและการบริการทางวิชาการ พร้อมส่งเสริมและพัฒนาการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมยางเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมยางให้สูงขึ้น จึงได้จัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยางและไม้ยางพารา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปยางพารา ส่งเสริมให้วิสาหกิจอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดย่อมของอุตสาหกรรมยางพาราในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการรวมกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจยางพารา และไม้ยางพารา เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง รวมทั้งการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ
ด้านนายประสาทสุข นิยมราษฎร์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การที่อุตสาหกรรมยางไทยจะสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก จำเป็นจะต้องส่งเสริมให้มีการใช้ยาง และผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศ พร้อมเร่งรัดการผลิตทั้งที่ใช้เอง และเพื่อการส่งออกให้มากขึ้น ซึ่งการต่อยอดงานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง นับเป็นหัวใจสำคัญต่อการขยายผลการใช้ยางในเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาวัตถุดิบ และการเพิ่มมูลค่าสินค้า จะส่งผลให้การพัฒนาอุตสาหกรรมยางเกิดขึ้นได้จริงและต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การเพิ่มปริมาณการใช้ยางเพื่อเป็นวัตถุดิบ นอกจากจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มแล้ว การมุ่งเน้นการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางแทนการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้น ยังเป็นการสร้างรายได้ส่งออกให้กับประเทศ ประกอบกับในปัจจุบันมีการแข่งขันด้านธุรกิจสูง และการเปิดเขตการค้าเสรี ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การบริการ การค้า การเงิน และการลงทุนด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สามารถรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในด้านการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 และสภาวะเศรษฐกิจโลกต่อไป