xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันสิ่งทอฯ ดัน “เส้นใยธรรมชาติ” สู่ภาคอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้บริหารจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม  จับมือกับผู้บริหารหน่วยงานพันธมิตร
สถาบันสิ่งทอฯ จับมือภาครัฐและเอกชน พัฒนาวัสดุธรรมชาติเศษเหลือทิ้งจากการเกษตรเป็นเส้นใยธรรมชาติผลักดันสู่ภาคอุตสาหกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม และขยายรายได้ให้แก่เกษตรกรไทย ชี้ “สับปะรด” อนาคตสดใสเหมาะใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงมาก
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ทางสถาบันฯ ในฐานะหน่วยงานพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้ร่วมมือกับทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ประกอบด้วยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และบริษัท มาลี สามพราน จำกัด (มหาชน) นำร่องศึกษาวิจัยนำวัสดุธรรมชาติต่างๆ มาพัฒนาเป็นเส้นใยธรรมชาติ (Eco Fiber) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และยังสร้างรายได้ให้แก่ภาคเกษตรกรของประเทศไทยด้วย

ผอ.สถาบันพัฒนาฯ กล่าวต่อว่า วัสดุธรรมชาติเหลือใช้จากภาคเกษตรกรของไทย เช่น ใบสับปะรด เปลือกลูกตาล เปลือกหมาก ขุยมะพร้าว ฯลฯ แต่ละปีจะถูกทิ้งจำนวนมาก หรือนำไปใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า เช่น เศษสับปะรดจะถูกทิ้งประมาณ 4,000 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งที่จริงเป็นวัสดุที่มีศักยภาพสามารถไปทำเป็นเส้นใยทดแทนที่มีคุณสมบัติแข็งแรง แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นานาชนิดได้ ซึ่งจะสร้างรายได้มหาศาลแก่เกษตรกร

นางสุทธินีย์เผยด้วยว่า สำหรับผลิตผลทางการเกษตรที่มีอนาคตอย่างสูงที่จะนำไปพัฒนาเป็นเส้นใยและใช้ในภาคอุตสาหกรรม คือ “สับปะรด” เพราะประเทศไทยมีการปลูกจำนวนมากกว่า 600,000 ไร่ ทำให้มีเศษทิ้งในการเพาะปลูกสับปะรดจำนวนมาก โดยสามารถนำไปพัฒนาเป็นเส้นใยที่มีคุณภาพแข็งแรง เหนียวทนทาน โดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอยานยนต์ ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงมาก และจำเป็นต้องมีสิ่งทอเข้าไปเป็นส่วนประกอบแทบจะทุกอุปกรณ์ จากข้อมูลพบว่า ในรถยนต์ 1 คันจะมีส่วนประกอบเส้นใยอยู่ประมาณ 50 ตารางหลา เช่น เบาะนั่ง พรมปูพื้น ยางล้อรถ ท่อ ถุงลมนิรภัย ฯลฯ

นอกจากกลุ่มสิ่งทอยานยนต์แล้ว โครงการร่วมมือครั้งนี้จะเน้นพัฒนาเส้นใยธรรมชาติสู่ภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มสิ่งทอก่อสร้าง โดยการนำไปใช้ทั้งด้านสถาปัตยกรรม และงานก่อสร้างต่างๆ เช่น เป็นคอนกรีต เหล็ก ไม้ และกระดาษอัด ฉนวนอาคาร ฯลฯ และกลุ่มสิ่งทอแฟชั่น ซึ่งปัจจุบันสิ่งทอจากเส้นใยวัสดุธรรมชาติกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง

ด้านการดำเนินงานในโครงการนี้จะควบคู่กันไปทั้งด้านอบรมให้ความรู้ พัฒนาเครื่องจักร และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจและเกษตรสนใจการนำเส้นใยธรรมชาติไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงส่งเสริมโอกาสการขยายมูลค่าจากภาคเกษตรสู่เชิงพาณิชย์ และเพิ่มรูปแบบผลิตภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยี

นางสุทธินีย์ยอมรับว่า ในปัจจุบันการนำเส้นใยจากธรรมชาติไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมยังไม่เกิดความคุ้มค่าเชิงธุรกิจ อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่การใช้เส้นใยธรรมชาติจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดูได้จากอัตราเติบโตปี 56 เพิ่มจากปีก่อนกว่าร้อยละ 20 อีกทั้งความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อจะปูพื้นฐานเพื่ออนาคต เพราะต่อไปทรัพยากรต่างๆ ของโลกย่อมลดปริมาณลง อีกทั้งจะมีกฎหมายต่างๆ มาดูแลด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก ซึ่งถึงเวลานั้น การใช้วัสดุจากธรรมชาติจะเป็นคำตอบเพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนและจะเกิดความคุ้มค่าอย่างแท้จริง
ตัวอย่างอุปกรณ์ในรถยนต์ที่สามารถทำจากเส้นใยธรรมชาติได้
ด้านนายภัทร ตะนังสูงเนิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานซัปพลายเชน บริษัท มาลี สามพราน จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มแบรนด์ “มาลี” เผยว่า ในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบริษัทฯ จะมีวัตถุดิบการเกษตรเหลือจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกาบและเส้นใยมะพร้าวจำนวนกว่า 12,000 ต้นต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของวัตถุดิบที่นำมาใช้ ดังนั้น ทางบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ นำวัสดุเหลือทิ้งไปพัฒนาเป็นเส้นใยสิ่งทอสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าได้อีกมาก และยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมของประเทศไปพร้อมกันด้วย

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น