xs
xsm
sm
md
lg

หอฯ นครศรีฯ นำร่อง “1 ไร่ 1 แสน” ฉุด GPP หลังการลงทุนขนาดใหญ่หดหาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วาริน ชินวงศ์ ประธานหอการค้านครศรีธรรมราช
หอการค้านครศรีธรรมราช เร่งพัฒนาภาคการเกษตรลุ่มน้ำปากพนัง ทำโครงการ “1 ไร่ 1 แสน” ดินคุณภาพดีเพิ่มมูลค่าการผลิตหลากหลาย ขยายผลทำเกษตรกรรมในกลุ่มพืชที่มีราคาดี เช่น เมลลอน แคนตาลูป มะเขือเทศราชินี เพิ่มขีดความสามารถเกษตรกรฉุด GPP จังหวัด หลังการลงทุนขนาดใหญ่หดหาย

หลายคนคงไม่ทราบว่าภาคเศรษฐกิจของนครศรีธรรมราช ฐานใหญ่ของการจับจ่ายใช้สอยในจังหวัดที่ส่งผลให้ GPP ขยายตัวเป็นบวก หรือหดตัวเป็นลบ ขึ้นอยู่กับภาคเกษตรกรรมเป็นสำคัญ แม้ว่าก่อนหน้านี้ นครศรีธรรมราช จะมีความหวังครั้งสำคัญในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ แต่เป็นอันต้องจบลงไป ดังนั้น ภาคการเกษตรจึงเป็นที่พึ่งของภาคธุรกิจการค้าของนครศรีธรรมราช อย่างมีนัยสำคัญ หอการค้านครศรีธรรมราช จึงหันมาส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรในลุ่มน้ำปากพนัง เพื่อเพิ่มมูลค่า และผลผลิตที่มีอย่างหลากหลายมากขึ้น จะเป็นทางเลือกที่สามารถส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจสามารถอยู่รอดได้

“ลุ่มน้ำปากพนัง มีพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมาก และครอบคลุมอยู่ในอำเภอเมือง ปากพนัง หัวไทร เชียรใหญ่ เฉลิมพระเกียรติ ชะอวด และร่อนพิบูลย์ มีการทำเกษตรกรรมหลักๆ คือนาข้าว ปาล์ม และพืชไร่จำนวนมาก แต่สิ่งที่สำคัญคือ ในพื้นที่นี้มีคุณภาพดินดีสามารถขยายผลทำเกษตรกรรมในกลุ่มพืชที่มีราคาดี เช่น เมลลอน แคนตาลูป มะเขือเทศราชินี ที่ยังมีพื้นที่ปลูกน้อย ราคาดี ความต้องการของตลาดสูง ซึ่งหอการค้านครศรีธรรมราช กำลังทำโครงการนำร่องเรียกว่า “1 ไร่ 1 แสน” วาริน ชินวงศ์ ประธานหอการค้านครศรีธรรมราช อธิบาย

วาริน บอกด้วยว่า การใช้พื้นที่การเกษตรที่ว่างในพื้นที่ปลูกสวนปาล์ม ปลูกฟักทอง ผลผลิตออกมาดีมาก มีผลสวยเนื้อแน่น 1 ผลมีน้ำหนักกว่า 15 กิโลกรัม พื้นที่ลุ่มน้ำยังมีพื้นที่จำนวนมากที่เป็นพื้นที่ว่างเปล่า โครงการ 1 ไร่ 1 แสน จะเป็นทางเลือก กำลังดำเนินการหาแปลงตัวอย่าง เพื่อทดลองดำเนินการโครงการแรก โดยจะสนับสนุนในเรื่องนักวิชาการมาช่วยในการวางแผน ในการทำการเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่ สำหรับลักษณะการปลูกเป็นการปลูกแบบไร่นาสวนผสม มีทั้งการทำนาข้าว พืชไร่ พืชยืนต้น ที่สำคัญจะต้องเลือกพืชที่มีน้อย ตรงกับความต้องการของตลาดมาหมุนเวียน โดยเฉพาะพืชระยะสั้น เวลานี้มีการทดลองปลูกเมลลอน แคนตาลูปแล้วพบว่า ได้ผลดีมาก เรากำลังนำดินไปวิจัยให้ชัดเจนว่า พร้อมที่จะปลูกพืชที่เราคาดหวังได้หรือไม่

สุพจน์ ปานดำ เกษตรกรเจ้าของไร่ฟักทองที่เขาใช้เวลาแค่ 80 วัน ด้วยพันธุ์ฟักทองจำนวน 1,600 เมล็ด สามารถผลิตฟักทองได้ถึง 20 ตันเศษ อธิบายว่า พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังสามารถผลิตฟักทอง และพืชอายุสั้นอื่นๆ ได้ดีมาก โดยเฉพาะฟักทองนั้น มีคุณภาพดีเนื้อแน่น มีความหวานมันสูง หลายคนไม่รู้ว่าในวงการตลาดฟักทอง คุณภาพของฟักทองในลุ่มน้ำปากพนัง จะมีความโดดเด่น และมีราคาดี เนื้อแน่น มีราคาสูงถึงตันละ 9,000-12,000 บาททีเดียว และยังมีความหลากหลายในพื้นที่อีกมากนอกเหนือจากข้าว และปาล์มน้ำมัน

การลงทุนที่หลายฝ่ายหมายมั่นปั้นมือถึงความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญของพื้นที่ของนักลงทุนทั้งในจังหวัด และนอกจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ในอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีทั้งฝ่ายที่ต่อต้านเห็นดีด้วยกับการยกเลิก และอีกไม่น้อยที่สนับสนุนให้โครงการนี้เกิดขึ้น เพราะนั่นหมายถึงการก้าวกระโดดของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ และเต็มไปด้วยความคาดหวังจะมลายไปพร้อมกับราคาที่ดิน ย่านที่ตั้งโครงการจะลดวูบลงทันทีที่โครงการยุติ และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมาเป็นลูกโซ่

การคาดหวังในการขยายตัวครั้งสำคัญของ GPP นครศรีธรรมราช ที่จากเดิมพึ่งพาจากภาคการเกษตรเป็นหลัก ต้องยืนอยู่ในที่เดิม และดูเหมือนว่ากำลังดิ่งลงทุกวัน ราคายางพาราดิ่งลงๆ ส่งผลกระทบไปถึงภาคการท่องเที่ยว ภาคการค้าการลงทุนที่ชะลอตัวลง หรือภาคการค้าปลีกค้าส่ง สินค้าอุปโภคบริโภค มีการหดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ การลงทุนอีกหลายอย่างจะได้รับอานิสงส์ต้องจบลง ความหวังในภาคเกษตรกรรมของลุ่มน้ำปากพนังจึงเจิดจรัสขึ้น อีกไม่นานผลไม้ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในพื้นที่นี้ เช่น เมลลอนญี่ปุ่น แคนตาลูป มะเขือเทศราชินี กำลังจะถูกปลูกที่นี่เพื่อให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดหมุนเวียนไปได้ทั้งปี ที่สำคัญ มีราคาแพงที่จะสามารถสร้างฐานะและคุณภาพชีวิตของชาวลุ่มน้ำปากพนังได้เป็นอย่างดี และอานิสงส์กับเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น