xs
xsm
sm
md
lg

10 ปีผ่านไปร่วมค้นหาความจริง และความยุติธรรม “ครอบครัวทนายสมชาย นีละไพจิต”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทนายสมชาย นีละไพจิตร
ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของการบังคับบุคคลให้สูญหายกรณี นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนของไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ทางการไทยค้นหาว่าเขาอยู่ที่ใด และมีชะตากรรมอย่างไร และให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ทางหน่วยงานยังเรียกร้องให้ทางการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) โดยทันที ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 และให้นำมาบังคับใช้เป็นกฎหมายในประเทศ

สมชาย นีละไพจิตร หายตัวไปจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 แม้จะมีความพยายามร่วมกันทั้งครอบครัวของเขา และภาคประชาสังคมในไทยเพื่อค้นหาความจริง แต่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับชะตากรรม และที่อยู่ของเขา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เห็นว่าการหายตัวไปของสมชาย นีละไพจิตร ถือได้ว่าเป็น “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” ซึ่งเกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลที่กระทำตามคำสั่ง หรือได้รับความสนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจจากรัฐ

จนถึงปัจจุบัน ทางการไทยยังไม่ได้นำตัวผู้ที่ทำให้บุคคลสูญหายมาลงโทษ นอกจากนั้น ศาลอุทธรณ์ยังปฏิเสธการร้องขอเป็นโจทก์ร่วมของครอบครัวของสมชาย นีละไพจิตร ในคดีที่มีการยกฟ้องนายตำรวจที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องอีกครั้งหนึ่งให้ทางการไทยนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยผ่านกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม รวมทั้งตัวผู้ที่มีพยานหลักฐานที่รับฟังได้มากเพียงพอ และยืนยันว่าเกี่ยวข้องในการสั่งการ การปฏิบัติ หรือการปกปิดกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายที่มีต่อสมชาย นีละไพจิตร และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่กระทำต่อเขา โดยไม่คำนึงว่าบุคคลดังกล่าวจะมีตำแหน่ง หรือยศใด

อีกครั้งเรียกร้องให้ทางการไทยรับประกันว่า ครอบครัวของสมชาย นีละไพจิตร สามารถเข้าถึงการเยียวยาจากการบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมทั้งการชดเชยค่าเยียวยา การบำบัดฟื้นฟู ความพึงพอใจ และการรับประกันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำอีก

การแก้ปัญหากรณีการสูญหายของสมชาย นีละไพจิตร เป็น “บททดสอบสำคัญ” ในแง่การเคารพต่อสิทธิมนุษยชนในไทย รวมทั้งการให้การเยียวยา และการชดเชยเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความจริงใจ หรือความสามารถของทางการไทยในการแก้ปัญหา การลอยนวลพ้นผิดของผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และกระทำความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาความจริง และความยุติธรรมอย่างต่อเนื่องในกรณีของสมชาย นีละไพจิตร และการสูญหายในกรณีอื่น การคุกคามที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของเขาและอดีตลูกความของเขาที่พยายามแสวงหาการเยียวยา เน้นให้เห็นความจำเป็นที่ทางการต้องประกันให้มีความรับผิดเมื่อเกิดการละเมิด และการปฏิบัติมิชอบทางสิทธิมนุษยชน และต้องประกันให้เกิดบรรยากาศที่ประชาชนสามารถเข้าแจ้งความเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน และกล้าที่จะแสวงหาการเยียวยาโดยไม่กลัวการตอบโต้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ขอเรียกร้องอีกครั้งให้ทางการยุติการลอยนวลพ้นผิด และประกันให้มีการสืบสวนสอบสวนโดยพลัน อย่างถี่ถ้วน อย่างเป็นอิสระ และอย่างไม่ลำเอียงต่อการแจ้งความกรณีผู้สูญหายทุกกรณี ทั้งนี้ เพื่อให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และเพื่อให้การคุ้มครองอย่างเป็นผลต่อผู้เสียหาย ผู้แจ้งความ พยาน และครอบครัวของพวกเขาในระหว่างที่มีการดำเนินคดี

ประวัติข้อมูลพื้นฐาน นายสมชาย นีละไพจิตร อายุ 53 ปี ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และรองประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ได้ถูกบังคับให้สูญหายในช่วงค่ำวันที่ 12 มีนาคม 2547 ที่กรุงเทพฯ โดยมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าผู้ลงมือกระทำเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ 5 นาย ก่อนหายตัวไปอย่างลึกลับเพียง 1 วัน นายสมชายได้ยื่นหนังสือร้องเรียนในนามของลูกความ 5 คน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีปล้นปืนที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อเดือนมกราคม 2547 และได้ร้องเรียนต่อ นายสมชาย ว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกายเพื่อบังคับให้รับสารภาพระหว่างถูกควบคุมตัว

เดือนเมษายน 2547 เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 5 นายได้ถูกจับกุมในข้อหาเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายสมชาย แต่เนื่องจากกฎหมายไทยไม่มีข้อบัญญัติโดยตรงในกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหาย จึงไม่มีการตั้งข้อหาการทำให้บุคคลสูญหายต่อตำรวจ และเนื่องจากไม่สามารถค้นพบศพของนายสมชาย และเป็นผลสืบเนื่องมาจากหลักเกณฑ์ด้านพยานหลักฐานของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทำให้ไม่สามารถตั้งข้อหาฆาตกรรมต่อตำรวจได้ เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนข้อหาเป็นการปล้นทรัพย์ และการใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย

เดือนมกราคม 2549 เจ้าหน้าที่ตำรวจหนึ่งใน 5 นาย ได้ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 3 ปี ส่วนตำรวจอีก 4 นาย สามารถกลับไปทำงานโดยไม่ถูกลงโทษ ขณะนี้คดีดังกล่าวยังอยู่ในศาลฎีกา

ปี 2554 ศาลอุทธรณ์ ได้อ่านคำพิพากษายกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจจากความผิดฐานกักขังหน่วงเหนี่ยว และความผิดต่อเสรีภาพ และเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นจำเลยเพียงคนเดียวได้หายตัวไปอย่างปริศนา อีกทั้งยังตัดสิทธิของครอบครัวในการเข้าเป็นโจทก์ร่วม เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าทนายสมชาย บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต

หลังการหายตัวของทนายสมชาย ครอบครัวนีละไพจิตร ต้องอยู่อย่างหวาดระแวง มีโทรศัพท์ข่มขู่เป็นระยะให้ระมัดระวังอาจมีอันตราย

เดือนธันวาคม 2555 เจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม แจ้งแก่ผู้สื่อข่าวว่า เอกสารสำนวนคดีของทนายสมชาย นีละไพจิตร หายไปบางส่วนระหว่างที่ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเข้ายึดพื้นที่สำนักงาน แต่หลังจากครอบครัวนีละไพจิตร ยื่นหนังสือสอบถามข้อเท็จจริง และขอให้เร่งรัดการดำเนินคดี เจ้าหน้าที่ให้สัมภาษณ์ต่อมาว่า พบเอกสารสำนวนคดีของทนายสมชายแล้ว

ข้อร้องเรียนเรื่องการถูกทรมานจากลูกความทั้ง 5 คนของทนายสมชาย ได้รับการสอบสวน เมื่อธันวาคม 2553 ข้อร้องเรียนดังกล่าวถูกยกฟ้องเนื่องจากไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมพิสูจน์ได้ว่ามีการทรมาน ต่อมา ลูกความคนหนึ่งได้ถูกตำรวจแจ้งความกลับในข้อหาแจ้งความเท็จ ในปี 2554 ศาลอาญากรุงเทพ ตัดสินว่า จำเลยมีความผิดจากการให้หลักฐานปรักปรำเจ้าหน้าที่รัฐ และลงโทษจำเลยด้วยโทษจำคุก 2 ปี ส่วนลูกความอีกหนึ่งคนที่เป็นพยานให้การถึงการหายตัวไปของทนายสมชาย ได้หายตัวไปในปี 2552
นางอังคณา ภรรยาของทหนายสมชาย นีละไพจิตร
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น