ผศ.ทพ.ประกาศ สว่างโชติ
ภาควิชาชีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เมื่อผมเป็นเด็กที่เริ่มจำความได้ อ่างทองบ้านเกิดของผมยังมีท้องไร่ท้องนากว้างสุดสายตา เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ใต้ถุนบ้าน (มีเสายกบ้านขึ้นสูงประมาณ 3-8 เมตร ตามสภาพพื้นที่ว่าลุ่มมาก หรือน้อย) จะถูกน้ำท่วมสูงห่างจากพื้นบ้านประมาณ 1-2 เมตร แล้วแต่ว่าน้ำมาก หรือน้อยในแต่ละปี เมื่อน้ำหลากมา ข้าวที่ชาวนาหว่านดำไว้ก็จะโตอย่างรวดเร็ว ทันท่วงทีกับน้ำที่ท่วมสูง และข้าวในตอนนั้นไม่ต้องการปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ยาฆ่าหญ้า และยาฆ่าแมลงใดๆ พืชน้ำ หรือพืชชอบน้ำ (อย่างหลังไม่จำเป็นต้องอยู่ในน้ำตลอดก็ได้ครับ) ที่ขึ้นตามธรรมชาติก็มีบัวสาย ผักบุ้ง กระจับ และโสน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เก็บกินเป็นอาหารได้
แม่ผมมักพาผมพายเรือไปเก็บดอกโสน และบางทีก็พายเลยไปเยี่ยมพี่ชายที่ทำงานอยู่อีกฟากของชุมชน ผักบุ้งหลังบ้านยายผมมักเก็บเอามามัดเป็นฟ่อนๆ แล้วก็ให้ผมหาบไปขายให้แม่ค้าในตลาด แล้วยายก็ยังปลูกพริก มะเขือ กะเพรา และโหระพาเอาไว้กิน โดยมีผมหาบน้ำจากใต้ถุนบ้านไปรด
บ้านผมนั้นทำด้วยไม้ทั้งบ้าน เท่าที่ผมจำได้ก็มีไม้แดง ไม้สัก และไม้มะม่วงป่า ซึ่งมะม่วงป่านี้มีเนื้อไม้สีเหลืองมีลายสีดำสลับสวยงามมากทีเดียว ผมจำไม้กระดานบ้านทุกแผ่น เพราะถูบ้านประจำจนไม้กระดานเป็นมันโดยไม่ต้องเคลือบแล็กเกอร์อย่างปัจจุบัน สำหรับหลังคาบ้านนั้นมุงกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบสีแบบบารณบางส่วน และมุงสังกะสี ซึ่งเป็นของสมัยใหม่ในเวลานั้นอีกบางส่วน ส่วนเรือที่เป็นยานพาหนะที่สำคัญนั้น (ไม่มีใครมีรถในหมู่บ้านเลย) ก็ทำจากไม้ เช่น ไม้สัก ไม้ประดู่ และไม้ตะเคียน ชันที่ใช้ยาเรือตอนฤดูแล้งก็มาจากไม้พวกยางนา ยางเหียง และพลวง
หน้าบ้านผมมีต้นลูกหว้าต้นใหญ่ ซึ่งลูกดก ต้นหว้านี้ปีหนึ่งก็ขายลูกได้หลายถัง ถัดจากต้นหว้าก็มีต้นทองหลาง ซึ่งมียอดอ่อนกินแกล้มกับไส้กรอก และปลาแนม (อาหารโบราณ) อร่อยมาก แล้วก็มีมะยมที่ลูกเอามาตำ เอามาเชื่อมขายได้ ส่วนของเล่นสำหรับเด็กๆ อย่างผมก็มีม้าก้านกล้วย ปืนก้านกล้วย รองเท้ากะลา อีโบ๊ะ (ทำจากไม้ไผ่ และลูกปอกระเจาเป็นกระสุน ภาคใต้เรียกฉับโผลง) นอกเหนือจากพืชสีเขียวๆ ที่ล้อมรอบชีวิตความเป็นอยู่ของผม และผู้คนสมัยนั้น ในน้ำที่สะอาดจนกินได้นั้น ก็อุดมด้วยกุ้ง หอย ปู และปลาน้ำจืดหลากหลายชนิด หากินกันได้ไม่อดไม่อยากเลยทีเดียว
ดังนั้น เศรษฐกิจครัวเรือน และความเป็นอยู่ของผู้คนจึงขึ้นอยู่กับผลหมากรากไม้ และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับอย่างแยกไม่ออก
เมื่อผมโตขึ้นก็รับรู้ว่าชีวิตที่ดำเนินอยู่ได้นั้น เริ่มต้นที่สีเขียว (หลายระดับสี) ของสิ่งมีชีวิตที่สังเคราะห์แสงได้ ไม่ว่าจะมีขนานเล็กจิ๋วจนตาเปล่ามองไม่เห็น จนถึงต้นไม้ขนาดใหญ่ พวกที่มีขนาดเล็กมากๆ อย่างพวกสาหร่ายเซลล์เดียว หรือหลายเซลล์ ซึ่งเป็นอาหารของสัตว์น้ำขนาดเล็กทั้งหลาย เช่น ลูกกุ้ง ลูกปลา ลูกปู ซึ่งสัตว์เหล่านี้ส่วนหนึ่งก็จะเติบโตเป็นอาหารของเรา และอีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นอาหารของสัตว์ที่ใหญ่กว่า เช่น ปลาหลากหลายชนิด ซึ่งสุดท้ายก็เป็นอาหารของเราอยู่ดี บนบกนั้นก็มีพืชหลากหลายที่เป็นอาหารของเรา และเป็นอาหารของสัตว์ที่เราเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารของเรา
หากใครจินตนาการไม่ออกว่าสิ่งมีชีวิตสีเขียวที่มีอยู่ในอาณาจักรของพืช (Kingdom Plantae) (และสิ่งมีชีวิตที่มีสีอื่นๆ ที่สังเคราะห์แสงได้) นั้นสำคัญอย่างไร ก็ลองไล่เรียงไปสิว่าอาหารที่คุณกินนั้น ถ้าไม่ใช่พืชมันก็ต้องไปจบที่จุดเริ่มต้นที่เป็นพืชสีเขียวหรือไม่ นี่เป็นความรู้พื้นฐานมากๆ เมื่อเราเริ่มต้นเรียนรู้เรื่องห่วงโซ่อาหารในวิชานิเวศวิทยา (Ecology) แล้วถ้าคุณดูสมการสังเคราะห์แสงของพืช และสมการการหายใจ คุณก็จะเห็นว่า ทั้ง 2 เป็นสมการที่ย้อนกลับของกันและกัน นั่นเป็นวัฏจักรที่สำคัญมากที่ทำให้ทุกชีวิตอยู่ได้ (เราควรจะขอบคุณสิ่งมีชีวิตสีเขียวและทุกชีวิต ทุกๆ วัน นอกเหนือจากขอบคุณพระเจ้าที่เราศรัทธา)
ขณะที่เรา และผู้คนรุ่นราวคราวเดียวกันอีกมากมายเข้าใจว่า ความเชื่อมโยงเหล่านี้สำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเรา โลกรอบตัวก็ได้เปลี่ยนไปแล้วโดยสิ้นเชิง ภาพอดีต ณ ที่ที่ผมกล่าวถึงหายไปหมดสิ้น ไม่มีอะไรที่ผมกล่าวถึงหลงเหลืออยู่เลย ภาพการพึ่งพาตนเองในเรื่องอาหาร และอื่นๆ เลือนหายไป เหลือแต่ภาพผู้คนเคลื่อนย้ายออกจากถิ่นตน เข้าเมืองใหญ่เพื่อรับราชการบ้าง เพื่อทำงานในภาคการผลิตบ้าง และใช้เงินเดือนนั้นเป็นสื่อแลกข้าวปลาอาหารที่เน้นผลิตเพื่อการค้า และส่งออกมามากกว่าเพื่อการพึ่งพาตนเอง
มีคำถามเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลกที่สำคัญคำถามหนึ่งคือ ทำไมโลกนี้เขียวขจีนัก (Why the world is so green?) ซึ่งประเด็นสำคัญก็คือว่า โลกนี้มีพืช และสาหร่ายสีเขียว ซึ่งเป็นสีของรงควัตถุที่เรียกว่าคลอโรฟีลล์ (Chlorophyll) ที่รวมกันอยู่ในเม็ดสีที่เรียกว่า Chloroplast ที่มีความสามารถสร้างอาหารเองได้จากกระบวนการสังเคราะห์แสง (การเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังเคมี) โดยใช้วัตถุดิบที่มาจากดิน จากอากาศ และน้ำที่มีอยู่อยู่เหลือเฟือ และใช้แสงอาทิตย์ที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือเช่นกันเป็นพลังงานช่วยปรุงแต่งผลิตภัณฑ์ คือน้ำตาล แป้ง และออกซิเจน ออกซิเจนนี่เองที่พืช และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ สามารถเพื่อการเผาผลาญพลังงานจากอาหารที่ได้นั้นอีกด้วย วัตถุธาตุต่างๆ เหล่านี้มีการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างไม่รู้จบหากวัฏจักรอยู่ในสมดุล เมื่อเป็นดังนี้ พืชจึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถแพร่กระจายไปได้เกือบทุกที่บนโลกใบนี้ อย่างไรก็ตาม พืชมิได้เกิดมาเพื่ออยู่อย่างไร้ประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดยเฉพาะพวกสัตว์ต่างๆ ที่ต้องอาศัยพืช และก็มิได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวโดยมิต้องพึ่งพาสัตว์อื่นๆ
เมื่อเรามองระบบนิเวศธรรมชาติ (Earth’s (Natural) life support ecosystems) ที่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายมีวิวัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างกันและระหว่างสิ่งแวดล้อม ทั้งหิน ดิน น้ำ และอากาศ ซึ่งทั้งนี้เชื่อมโยงกันมาอย่างยาวนาน (ดูแผนผังประกอบ)
ในระบบนี้เราจะเห็นความจริงข้อหนึ่งที่ว่า สิ่งมีชีวิตเหว่านั้นมีการผลิตสินค้า และการบริการแก่กัน โดยมีค่าตอบแทนสำหรับสินค้า และบริการนั้น เช่นเดียวกับมนุษย์ นอกจากนี้ เรายังเห็นความแม่นยำ และลงตัวในเรื่องความคุ้มค่า (benefit-cost ratio) เสมอในระบบนี้ (Ecology และ Economy จึงมีรากฐานความคิดแบบเดียวกัน)
เพื่อให้เห็นภาพผมจะยกตัวอย่างของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่พบทุกภาคของประเทศไทยที่ชื่อว่า คอแลน (ภาคใต้) หรือบักแงว (อีสาน) ต้นไม้ชนิดนี้เป็นญาติใกล้ชิดกับ ลิ้นจี่ ที่เราคุ้นเคย หากใครไปเดินป่าก็อาจเห็นผลร่วงหล่นอยู่ตามพื้น แวบแรกที่เห็นเปลือกผล เราก็จะรับรู้ได้ทันทีว่าเหมือนลิ้นจี่ คอแลนนั้นมีเนื้อบางๆ รสไม่หวานจัด แต่อมเปรี้ยว และมีเมล็ดใหญ่ เหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากต้นคอแลนนั้นไม่สามารถจะลงทุนผลิตเนื้อหนา หวานฉ่ำได้ เพราะต้องการต้นทุนมากเกินไป และไม่คุ้มค่าต่อประโยชน์ที่จะได้รับ และไม่สามารถผลิตเมล็ดลีบได้ อย่างที่เราจะเห็นในลิ้นจี่ที่ปลูกโดยมนุษย์ เนื่องจากเมล็ดเป็นที่เก็บสารอาหารไว้เลี้ยงต้นอ่อนเพื่อแพร่กระจายพันธุ์ จึงต้องใหญ่เข้าไว้ (แบบใหญ่กำลังดี)
ต้นคอแลนนั้นไม่ได้ผลิตเนื้อมาเพื่อแจกจ่ายให้แก่เหล่ากระรอก ลิง ค่าง หรือนกฟรีๆ แต่เนื้อนั้นเป็นสินค้า และบริการที่มีค่าตอนแทนเช่นกัน การตอบแทนนั้นก็มิได้ขูดรีดขูดเนื้ออย่างที่มนุษย์ทำกัน แต่มาเป็นรูปของการแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์เพื่อสัตว์ทั้งหลายก็ได้รับบริการที่คุ้มค่า เพราะการกลืนเมล็ด และเนื้อลงท้องไปก็มิได้เรื่องหนักหนาเกินกำลังแต่อย่างใด และเราก็จะเห็นว่าทั้งต้นคอแลน และสัตว์ทั้งหลายที่บริโภคลูกคอแลนไม่มีใครได้ประโยชน์มากจนเกินเสียสมดุลของความสัมพันธ์ของระบบ
ที่นี้ลองมาดูต้นอาคาเชีย ซึ่งเป็นต้นไม้ในตระกูลถั่วในแอฟริกากันบ้าง (ที่อีสานมีต้นไม้จำพวกนี้อยู่เยอะมากครับ เช่น แฉลบขาว กระถินพิมาน แต่ที่เรารู้จักกันดีก็คือ ชะอม (Acacia pennata) ต้นไม้ชนิดนี้มีต่อมผลิตน้ำหวานที่โคนก้านใบ และมีหนามพองออกจนมีขนาดใหญ่ แถมยังกลวงเป็นโพรงอยู่ข้างใน อาคาเชียเขาวัว (bullhorn acacia) มีมดชนิดหนึ่งมากินน้ำหวานจากต้นไม้นี้ ไม่ใช่แค่กินน้ำหวานเป็นอาหารนะครับ มดยังทำโพรงที่ฐานของหนามที่ขยายออกเพื่อเป็นที่หลับที่นอนเสร็จสรรพ นี่เป็นบริการที่ดีกว่า B&B (Bed & Breakfast) เสียอีกครับ
แล้วต้นไม้นี้ได้อะไรเป็นการตอบแทนบริการอันน่าประทับใจนี้บ้าง? ปกติต้นไม้นี้จะโดนเล็มใบโดยพวกแมลง และสัตว์แทะเล็ม เช่น กวาง และช้าง โดยเฉพาะช้างเป็นอันตรายต่อต้นไม้นี้ยิ่งกว่าสัตว์ใดๆ ซึ่งโดยความสัมพันธ์แล้วช้างดูเหมือนจะไม่จ่ายค่าตอบแทนใดๆ ในบริการนั้นแก่ต้นไม่เลย ด้วยกลไกของวิวัฒนาการ มดที่กินน้ำหวาน และอาศัยที่ต้นไม้นี้จึงปกป้องต้นไม้นี้ด้วยชีวิตจนช้างก็ต้องล่าถอยทีเดียวครับ
แต่กฎธรรมชาติก็เที่ยงธรรมเสมอครับ ขืนให้ต้นไม้อาคาเชีย และมดสมคบคิดกันได้ตลอด ต้นไม้และมดก็จะแพร่กระจายอย่างกว้างขวางจนทำให้ระบบเกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น จึงยังมีโอกาสอยู่บ้างที่ช้างจะล้มต้นไม้อาคาเชียได้ (รวมทั้งประชากรมดที่ได้รับผลกระทบ) ทำให้ต้นไม้นี้ไม่มีมากเกินไปจนทุ่งหญ้าสาวันนาต้องกลายเป็นป่าอาคาเชีย ซึ่งจะทำให้สัตว์ที่ต้องอาศัยทุ่งหญ้าเดือดร้อน ดังนั้น จะเห็นว่าช้างเองแม้จะร้ายกับต้นไม่อาคาเชียในสายตาเรา แต่การกระทำดังนั้นก็เป็นสิ่งดีๆ หรือบริการที่ช้างให้แก่สัตว์อื่นๆ ครับ
แล้วความสัมพันธ์เหล่านี้มันเกี่ยวอะไรกับหมู่มนุษย์กันล่ะ...ผมก็ไม่อธิบาย 2 ตัวอย่างข้างต้นดีกว่า (มนุษย์ต้องเข้าใจ แต่ไม่ต้องมีส่วนไปทุกเรื่อง) แต่ขอพูดเรื่องชันที่ใช้ยาเรือในหน้าแล้ง ชันนั้นมาจากต้นเต็ง รัง เหียง พลวง และยางนาง เป็นต้น เมื่อต้นไม้เหล่านี้บาดเจ็บจากการเจาะเปลือกของแมลงปีกแข็งจำพวกด้วงต่างๆ ในธรรมชาติ ต้นไม้มักหลั่งสารเคมีเพื่อป้องกันตนเองจากแมลง และสารเคมีหลายชนิดนี้เองที่มนุษย์ได้เก็บเกี่ยวมาใช้ประโยชน์ ทั้งเป็นยา และประโยชน์อื่นๆ ชันนั้นก็เป็นสารเคมีที่ต้นไม้ใช้รักษาและป้องกันตนเอง เยี่ยงนี้เราจึงได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ตามธรรมชาติของพืช และสัตว์อย่างชัดเจน
มีข้อมูลว่า ประเทศไทยส่งชัน (Gumdammar) ไปขายยังต่างประเทศในปี 2544 มากถึง 2,700 ตัน มีมูลค่ามากกว่า 46 ล้านบาท (ข้อมูลจาก http://royal.rid.go./phuphan/parmai/HardResins.htm)
นี่เป็นเพียงตัวอย่างประโยชน์ที่เราคำนวณออกเป็นมูลค่าได้เพียงเศษเสี้ยวที่ธรรมชาติให้แก่เรา ยังมีประโยชน์จากธรรมชาติอีกมากมายที่ระบบเศรษฐศาสตร์ที่เรามีอยู่ไม่เคยนำมาคิด
จนกระทั่งเกิดแนวคิดในการคำนวณค่าสินค้า และบริการที่ธรรมชาติให้แก่เราเมื่อไม่นานมานี้ เช่น การศึกษาของ Costanza และคณะ (1997) ชี้ให้เห็นบริการทางนิเวศวิทยา 17 บริการที่ระบบนิเวศต่างๆ 16 ระบบนิเวศทั่วโลก (เช่น ป่าเขตร้อน ป่าเขตอุ่นพื้นที่ชุ่มน้ำ และมหาสมุทร เป็นต้น) ให้แก่เรา เช่น การผสมเกสรดอกไม้ที่นำไปสู่ผลไม้ต่างๆ ที่เรากินได้ น้ำผึ้งที่เราได้จากรังผึ้งที่เอาน้ำตาลไปจากดอกไม้ การปรับสภาพอากาศ การลดภัยธรรมชาติจากลมพายุโดยแนวต้นไม้ การกรองสารพิษที่เราก่อโดยเห็ดราในป่า การเกิดดินที่ใช้เพาะปลูก และความงามธรรมชาติที่เราชื่นชม
มูลค่าของบริการเหล่านี้คำนวณออกมาได้ประมาณ 33 ล้านล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจของเราสร้างสินทรัพย์ได้ 18 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งหมายความว่า เงินที่เราได้จากระบบเศรษฐกิจของโลกไม่สามารถซื้อบริการเหล่านั้นได้ทั้งหมด และยังหมายความว่าเราได้มูลค่าทางเศรษฐกิจจากธรรมชาติอีกถึง 15 ล้านล้านเหรียญ เราจึงควรรักษาระบบนิเวศเหล่านี้ไว้เพื่อบริการที่เทคโนโลยีมนุษย์ขั้นสุดยอดก็ทำไม่ได้
บริการทางนิเวศวิทยา 17 บริการนี้เกี่ยวข้องกันต้นไม้ พืชพรรณ และสิ่งมีชีวิตสีเขียวที่สังเคราะห์แสงได้ ทั้งโดยทางตรง และทางอ้อมทั้งสิ้น เช่น ทรัพยากรอาหารทางทะเล การปรับสภาพอากาศโดยต้นไม้ลดอุณหภูมิในพื้นที่ และลดก๊าซเรือนกระจกที่ก่อปัญหาโลกร้อนได้ เป็นต้น
เรื่องการลดอุณหภูมิอากาศก็เป็นเรื่องเงินทองที่ต้องจ่ายเหมือนกัน เช่น ในเมืองหาดใหญ่อุณหภูมิของวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นวันที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าเป็นวันที่ร้อนที่สุด ในป่าบนเขาคอหงส์ ผมและเพื่อนๆ วัดอุณหภูมิได้ 31 องศาเซลเซียส ในขณะที่อุณหภูมิของพื้นป่าที่ถูกตัดออกไปวัดได้ 41 องศาเซลเซียส ซึ่งในเมืองหาดใหญ่อาจพุ่งสูงไปกว่านั้น หากคำนวณศักยภาพของเขาคอหงส์ในการลดอุณหภูมิเมืองหาดใหญ่ได้ ก็จะทราบมูลค่าบริการนี้ได้ เพราะทุกๆ 1 องศาเซลเซียสที่ลดลง หมายถึงการลดลงร้อยละ 10 ของค่าไฟที่เราต้องจ่าย
ผมและเพื่อนๆ เคยลองบริการผลิตออกซิเจนที่เราใช้หายใจโดยเขาคอหงส์ โดยใช้พื้นที่ขนาด 25 ตารางวา (หรือ 1 ห้องที่ชาวปักษ์ใต้เข้าใจ) แล้ววัดขนาดต้นไม้ในพื้นที่รวมกัน หารด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของต้นไม้ที่คน 1 คนต้องใช้ ก็ได้ว่าพื้นที่ 1 ห้องนั้นผลิตออกซิเจนให้คนได้ 1.5-2 คน หากเราคิดคร่าวๆ ว่า 2 คน ก็จะได้ว่าทุกคนต้องการพื้นที่ป่าประมาณ 12.5 ตารางวา หรือครึ่งห้องในการหายใจ และเขาคอหงส์ที่มีพื้นที่ประมาณ 7,600 ไร่ จะสามารถผลิตออกซิเจนให้ผู้คนได้ประมาณ 240,000 คน นี่ยังไม่นับน้ำที่เราใช้อีกนะครับ
หากใครต้องการเรียนรู้เรื่องระบบนิเวศมากกว่านี้ ขอให้อ่านบทที่เกิดจากการศึกษา 4 ปี โดยนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 1,000 คนทั่วโลกที่ชื่อว่า การประเมินระบบนิเวศแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Ecosystem Assessment (MEA, 2005) สิ่งที่น่าเป็นห่วงในบทความนี้ก็คือว่า ประมาณ 50 ปีที่ผ่านมานี้ 4 ระบบเท่านั้นที่ดีขึ้น ที่เหลือ 15 ระบบกำลังเสื่อมโทรมอยางหนัก อีก 5 ระบบ โดยภาพรวมยังทรงอยู่ แต่บางแห่งอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม
เมื่อหันกลับมาที่ระบบนิเวศของเราที่เรียกว่าวัฒนธรรมมณฑล (Human Culturesphere หรือ Urban Industrial Techno-Ecosystem) ที่ก่อรางสร้างตัว และค่อยๆ แยกตัวออกมาจากระบบนิเวศธรรมชาติ ตั้งแต่การปฏิวัติการเกษตรในยุคหินใหม่ ถึงการปฏิวัติเขียว และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็จะเห็นว่าระบบเศรษฐศาสตร์ที่เราใช้ขับเคลื่อนโลกแห่งมวลมนุษย์ ได้ขัดขืนต่อหลักความคุ้มค่าของธรรมชาติ หลักความสมดุลแห่งธรรมชาติเรื่อยมา (ผมเรียกว่าเป็นหลักธรรมาภิบาล หรือหลักความโปร่งใส่ และเที่ยงธรรมแห่งธรรมชาติ)
Odum และ Barrett (2005) เรียกระบบ Earth’s Life Support System ว่าเจ้าบ้าน (host) และระบบวัฒนธรรมมณฑลว่า ปรสิต หรือพยาธิ ซึ่งความสัมพันธ์นี้ระบบนิเวศมนุษย์เป็นฝ่ายได้อย่างเดียว ในขณะที่ระบบชีวการุญเสียประโยชน์ในธรรมชาติ มีพยาธิที่อยู่ในเจ้าบ้านมากมาย เช่น พยาธิในคน ในสัตว์ แต่การคัดสรรตามธรรมชาตินั้นพยาธิที่สามารถอยู่กับเจ้าบ้านได้นาน ได้เปรียบ และอยู่ได้นานกว่าพวกที่ก้าวร้าวจนเจ้าบ้านตาย เพราะถ้าเจ้าบ้านตาย พยาธิก็ตายเหมือนกัน และเราควรดูความสัมพันธ์นี้เป็นบทเรียน (ในรูปที่ 1 ถ้าถามว่าลูกศรที่ชี้จากระบบวัฒนธรรมมณฑล ไปยังระบบชีวการุณย์ ที่หมายถึงสิ่งที่เราให้แก่ระบบนั้น คุณนึกออกหรือไม่ครับว่า เราให้อะไร?)
เศรษฐศาสตร์ และเศรษฐกิจเป็นอารยธรรม และวัฒนธรรมหนึ่งของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ที่ขับเคลื่อนด้วยการเก็บเกี่ยวทรัพยากรธรรมชาติรูปแบบต่างๆ มาใช้บริโภค (รูปที่ 1) ตั้งแต่อารยธรรมยุคหินผ่านเข้าสู่อารยธรรมยุคเหล็ก ยุคสัมฤทธิ์ จนถึงวันที่อารยธรรมของเราเคลื่อนเข้าสู่การปฏิวัติเขียว และท้ายที่สุดคือ การปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ระบบเศรษฐกิจของชุมชน ของประเทศ และของโลก ได้ตักตวงทรัพยากรธรรมชาติทุกอย่าง และมันได้ถูกกำหนดเป้าหมายการเจริญเติบโตไว้แบบไม่มีสิ้นสุด เราจึงล่วงล้ำเข้าไปในระบบนิเวศธรรมชาติอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ความผิดปกติของระบบเศรษฐกิจของเราไม่เป็นไปตามกฎธรรมชาติตรงที่มันเป็นระบบเส้นตรง หรือเศรษฐกิจวัตถุ (Linear or Material Economy) ขณะที่ระบบธรรมชาติต้องเป็นวัฏจักรทุกอย่าง ระบบที่ว่าของเราเริ่มจากการสกัด (ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศธรรมชาติรุนแรง) การผลิต การขนส่ง การบริโภค และจบลงที่ขยะจำนวนมหาศาล นอกจากนั้น เรายังใช้ระบบนี้เพื่อการแสวงหาความมั่งคั่งอย่างไร้ขอบเขต โดยการกระตุ้นการบริโภคด้วยกระบวนการต่างๆ เช่น การโฆษณา จนทำให้เกิดการบริโภคอย่างไร้ขอบเขตเช่นเดียวกัน ซึ่งปรากฏการณ์ทางพฤติกรรมเหล่านี้เราจะไม่มีทางพบได้ในระบบนิเวศธรรมชาติ
มาถึงวันนี้ สังคมโลกตระหนักแล้วว่า การพัฒนาเศรษฐกิจในทิศทางที่เป็นอยู่นี้ได้สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวง เริ่มต้นจากการสูญเสียระบบนิเวศต่างๆ ที่เห็นชัดคือ การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้บนบก และแนวปะการังในทะเล และตามมาด้วยปัญหาโลกร้อน การขาดแคลนอาหาร ปัญหาทางสุขภาพ และปัญหาอื่นอีกมากมายที่กระทบความเป็นอยู่ของเราอย่างมาก
ด้วยความตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหา และเพื่อแสวงหามาตรการรับมือกับปัญหา โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP: United Nations Environment Programme) จึงได้กำหนดคำขวัญวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2012 ว่า Green Economy, Does it include you? (แปลเป็นไทยว่า “คุณคือพลังสร้างสรรค์เศรษฐกิจ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”)
ความหมายของคำว่า Green Economy คือ ระบบเศรษฐกิจที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ และเสริมสร้างความเสมอภาคทางสังคม ลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนทรัพยากร เช่น ปลดปล่อยคาร์บอน และมลพิษต่ำ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและทรัพยากร ลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศ
ผมคงจะไม่พูดถึงว่าเศรษฐกิจเขียวควรต้องมียุทธศาสตร์อะไรที่ต้องนำไปปฏิบัติ เพราะผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ และมีหนังสือที่พูดเรื่องเหล่านี้มากมาย แต่ผมจะขอกล่าวว่า เศรษฐกิจสีเขียวคงไม่ใช่อะไรใหม่ถอดด้ามที่เราไม่เคยรู้จัก และไม่เคยทำมาก่อน แต่มันเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยและถือปฏิบัติมาเนิ่นนาน ทั้งในฐานะปัจเจกชนและสังคมระดับต่างๆ จนวันหนึ่งที่กระแสการพัฒนากระแสหลักได้เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง ไม่มีใครต่อต้านมันได้ และเราไม่คาดคิดว่ามันส่งผลเช่นไรในอนาคต แต่ขณะนี้มันได้นำพาเรามาไกลจากจุดสมดุลดั้งเดิมอย่างที่อาจจะหาทางกลับมาไม่ได้ หรือถ้าได้ก็จะปฏิวัติวัฒนธรรมกันใหม่เลยทีเดียว
เศรษฐกิจสีเขียวจะไม่สามารถประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้เลย หากเราไม่สามารถกำจัดระบบทุนข้ามชาติขนาดมหึมาลงได้ หากเราไม่สามารถทำให้ปัจเจกชน และชุมชนกลับไปพึ่งพาตนเองได้ในหลายๆ เรื่องอย่างแต่ก่อน หากเราไม่สามารถส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ระบบเศรษฐกิจตามธรรมชาติทำงานอย่างไร (ดังที่ผมยกตัวอย่างมา เช่นทำ linear ให้เป็น circular economy ซึ่งมีหลักการพื้นฐานมาจากแนวคิดอย่าง Biomimicry, Industriai Ecology และ Cradle to cradle design เป็นต้น) หากเราไม่ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบนิเวศธรรมชาติอย่างเพียงพอ และสมบูรณ์พอที่จะให้ระบบนิเวศมนุษย์ได้พึ่งพา โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตสีเขียวที่สังเคราะห์แสงได้
และที่สำคัญที่สุด (สำหรับผม) ก็คือ มันจะไม่มีทางสำเร็จได้เลย หากเราทุกคนไม่สามารถตีความคำว่าสีเขียวด้วยจิตที่จะพยายามเข้าใจว่า ทุกชีวิตบนโลกใบนี้มิไม่สินทรัพย์ของเราตามความเป็นจริงของธรรมชาติ แต่ทุกชีวิตมีความปรารถนา และสิทธิที่จะอยู่บนโลกใบนี้อย่างเสรี และมีความสุข และทุกชีวิตพึ่งพากันและกันโดยที่อาจไม่มีเราเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือไม่มีเราอยู่บนโลกใบนี้
โลกมีขีดจำกัดแน่นอนกับความต้องการของเรา ภัยพิบัติที่ทั้งถี่มากขึ้นรุนแรงมากขึ้น และต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลกอบกู้ขึ้นมาใหม่นั้น ชัดเจน และอยู่ต่อหน้าเราทุกคน จึงเป็นวาระที่เราต้องเลือกว่าจะไปทางที่แข่งขันกันสร้างเศรษฐกิจให้เติบโต สร้างความมั่งคั่งแล้ว ค่อยเอาเงินนั้นมาซ่อมสร้างความเสียหายกัน ภายใต้ความสูญเสีย และความโศกเศร้า หรือจะสร้างเศรษฐกิจขนาดย่อยๆ ที่ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเอง บริโภคแบบพอดีคู่กับการรักษาระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่เราสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขเอาไว้
เมื่อผมมองไปรอบๆ ตัว ขณะที่ปี 2012 ได้ผ่านพ้นไปหมาดๆ ผมก็พบว่าความเป็นไปที่เกิดขึ้นโดยพวกเราเหล่ามนุษย์ ยังอยู่ห่างไกลกับคำว่าเศรษฐกิจสีเขียว (ตามที่ผมเข้าใจ) อยู่มากเหลือเกินเมื่อผมถามตนเองว่าแล้วเราควรจะเริ่มกับตรงไหนดี ก็ได้คำตอบว่า green economy, it starts with you เพราะคุณรอและวางใจใครไม่ได้อีกแล้ว