xs
xsm
sm
md
lg

ได้เจอแล้ว! “แมลงนักล่า” แฝงตัวเป็นดอกไม้ล่อเหยื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ตั๊กแจนตำข้าวกล้วยไม้เลียนแบบดอกไม้เพื่อล่อลวงเหยื่อ (*แก้ไข)
เรื่องการพรางตัวเพื่อหลบนักล่าหรือศัตรูเป็นเรื่องปกติในธรรมชาติ แต่การพรางตัวของตั๊กแตนตำข้าวชนิดหนึ่งเป็นมากกว่านั้น เพราะไม่ใช่แค่ซ่อนตัวไม่ให้เหยื่อเห็น แต่ยังล่อเหยื่อมาติดกับรูปร่างที่เลียนแบบกล้วยไม้ได้ไร้ที่ติ และเป็นการยืนยันแนวคิดนักวิทยาศาสตร์ที่เสนอความเห็นเรื่องนี้มาร่วม 200 ปี

นักวิทยาศาสตร์เผยว่าตั๊กแตนตำข้าวกล้วยไม้ (orchid mantis) สามารถเลียนแบบดอกไม้ได้เหมือนมาก และใช้ภาพลักษณ์ดังกล่าวเพื่อนลวงเหยื่อ มากกว่านั้นยังดึงดูดแมลงได้มากกว่าดอกไม้บางชนิด นอกจากนี้ยังสามารถจู่โจมผีเสื้อที่เข้ามาติดกับด้วย โดยรายงานจากไลฟ์ไซน์ระบุว่า ตั๊กแตนตำข้าวกล้วยไม้จำแลงเป็นดอกไม้ได้ทั้งดอก มีรูปร่างขาที่ดูคล้ายกลีบดอกไม้ ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์มั่นใจมากพอที่จะบอกได้ว่า แมลงนักล่าชนิดนี้ไม่ได้ใช้การพรางตัวเพื่อซ่อนตัวจากเหยื่อเท่านั้น แต่ยังใช้ล่อผู้เคราะห์ร้ายด้วย

ตัวอย่างของการเลียนแบบเชิงดุร้าย (aggressive mimicry) นี้มีให้พบเห็นในธรรมชาติมาก่อน ตัวอย่างเช่นแมงมุมลูกตุ้ม (bolas spider) ซึ่งล่อผีเสื้อกลางคืนตัวผู้ด้วยการปล่อยฟีโรโมนเพศของผีเสื้อกลางคืนตัวเมีย ส่วนแนวคิดว่าตั๊กแตนตำข้าวกล้วยไม้เป็นนักเลียนแบบเชิงดุร้ายนี้ได้รับการสนับสนุนจากนักวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ยุคปี 1800 โดยมีการเสนอแนวคิดดังกล่าวครั้งแรกโดย อัลเฟร็ด รัสเซล วอลเลซ (Alfred Russel Wallace) นักธรรมชาติวิทยา ซึ่งไม่ได้รับอิทธิพลจาก ชาร์ลส ดาร์วิน (Charles Darwin) แต่สนับสนุนทฤษฎีวิวัฒนาการผ่านการคัดสรรโดยธรรมชาติเช่นเดียวกัน  

ทว่า แนวคิดเรื่องตั๊กแตนตำข้าวว่ามีพฤติกรรมดังกล่าวก็ยังไม่เคยได้รับการยืนยัน โดยอุปสรรคส่วนใหญ่คือความว่องไวในการหลบหลีกของตั๊กแตนชนิดนี้ ทำให้แม้แต่ในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติที่ป่าฝนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังหาตั๊กแตนชนิดนี้ได้ยาก  

“แนวคิดว่าตั๊กแตนกล้วยไม้ที่เลียนแบบดอกไม้ ถูกนำเสนอออกมาครั้งแรกเมื่อกว่าศตวรรษมาแล้ว แต่ก็เป็นเพียงแค่แนวคิด ไม่มีใครทำการทดลองจริงเพื่อทดสอบว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ตอนนี้ผ่านมากว่าร้อยปี เรามีตำราเรียนและบทความทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่า ตั๊กแตนตำข้าวเลียนแบบดอกไม้ ราวกับได้พิสูจน์ความจริงแล้ว ผมรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของผมที่ต้องการบันทึกข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา และพิสูจน์ด้วยตาว่าปรากฏการณ์นี้เป็นไปได้” เจมส์ โอ'อันลอน (James O'Hanlon) นักชีววิทยาวิวัฒนาการ จากมหาวทิยาลัยแมคควอรี (Macquarie University) ในซิดนีย์ ออสเตรเลีย กล่าว

เพื่อพิสูจน์แนวคิดว่าตั๊กแตนตำข้าวเป็นสิ่งมีชีวิตเลียนแบบในเชิงดุร้าย ทีมนักวิทยาศาสตร์จึงเดินทางไปที่มาเลเซีย โดยโอ'อันลอนกล่าวว่า สิ่งที่ยากที่สุดของงานวิจัยเช่นนี้คือการเตรียมการวิจัยกับสัตว์ที่ไม่เคยมีใครทำวิจัยด้วยมาก่อน พวกเขาแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับตั๊กแตนชนิดนี้ และต้องเริ่มจากร่องรอยเพียงเล็กน้อย  

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ยืนยันครั้งแรกว่าสีสันของตั๊กแตนตำข้าวกล้วยไม้นั้นแตกต่างอย่างชัดเจนจากดอกไม้ป่า 13 สปีชีส์ ในพื้นที่ที่แมลงนักล่าอาศัยอยู่ โดยนักวิจัยได้ทดสอบสีสันภายใต้คลื่นแสงที่มองเห็นโดยแมลงบินผสมเกสร อย่างผึ้งและผีเสื้อที่ชอบเข้ามาใกล้ดอกไม้จำแลงนี้ พวกเขายังจับตาดูด้วยว่า แมลงผสมเกสรในป่านั้นมีพฤติกรรมอย่างไรเมื่ออยู่รอบๆ ตั๊กแตนตำข้าวกล้วยไม้ และเห็นตัวอย่างหลายสิบครั้งที่แมลงบินวนไปใกล้ตั๊กแตนตำข้าวในระยะใกล้จนแมลงนักล่าฉกเหยื่อที่ไร้เดียงจากกลางอากาศได้

“ตอนนี้เรารู้ว่าไม่ใช่แค่ตั๊กแตนตำข้าวจะซ่อนตัวจากแมลงผสมเกสรเท่านั้น แต่เรายังรู้ด้วยว่าพวกมันเก่งมาก สามารถดึงดูดแมลงผสมเกสรได้มากกว่าดอกไม้บางชนิดด้วยซ้ำ นี่คือสัตว์ชนิดเดียวในโลกที่เรารู้ว่าสามารถเลียนแบบดอกไม้ เพื่อล่อเหยื่อได้ ยังมีสัตว์ชนิดอื่นที่เรารู้ว่าสามารถพราวตัวท่ามกลางดอกไม้และซุ่มโจมตีเหยื่อ แต่พวกมันไม่ใช้ตัวเองล่อลวงเหยื่อ แต่ให้ดอกไม้ที่พวกมันซ่อนตัวอยู่ทำหน้าที่ดังกล่าว ตั๊กแตนตำข้าวกล้วยไม้มีความจำเพาะที่ล่อลวงได้ด้วยตัวเอง หมายความว่าตั๊กแตนชนิดนี้สามารถอยู่ห่างจากดอกไม้ ปลีกไปอยู่ที่ใบหรือกิ่งไม้ แต่ยังคงล่อลวงแมลงผสมเกสรได้” โอ'อันลอนกล่าว   
 
โอ'อันลอน กับ เกรกอรี ฮอลเวลล์ (Gregory Holwell) และ มารี เฮอร์เบอร์สไตน์ (Marie Herberstein) ผู้ร่วมวิจัยจะเผยรายละเอียดการค้นพบนี้ลงวารสารอเมริกันเนเจอราลิสต์ (American Naturalist) ส่วนงานวิจัยต่อไปทีมนักวิทยาศาสตร์จะวิเคราะห์ว่า นักล่าอื่นมองตั๊กแตนตำข้าวเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นไปได้ว่าตั๊กแจนตำข้าวกล้วยไม้อาจจะเลี่ยงการถูกกินโดยนักล่าอย่างนกหรือกิ้งก่าที่เข้าใจผิดว่า ตั๊กแตนตำข้าวกล้วยไม้เป็นดอกไม้ไม่ใช่อาหาร 
เหยื่อที่ถูกล่อลวงจากการเลียนแบบ ถูกจับกินเป็นอาหาร






กำลังโหลดความคิดเห็น