xs
xsm
sm
md
lg

ทน.ภูเก็ตจ้างที่ปรึกษาออกแบบอุทยานการเรียนรู้ด้านพลังงาน ใช้งบสร้าง 200 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เทศบาลนครภูเก็ต เปิดเวทีรับฟังความเห็นศึกษาและออกแบบอุทยานการเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาพื้นที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยและบำบัดน้ำเสีย ใช้งบประมาณก่อสร้าง และปรับปรุงไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท

น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวภายหลังการประชุมประชาพิจารณ์ “การพัฒนาพื้นที่เป็นอุทยานการเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม” ว่า เทศบาลนครภูเก็ต จัดการประชุมประชาพิจารณ์ “การพัฒนาพื้นที่เป็นอุทยานการเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเทศบาลนครภูเก็ต ร่วมกับบริษัท อีสเทิร์นไทยคอนซัลติ้ง 1992 จำกัด บริษัทที่ปรึกษา จัดขึ้น เพื่อนำเสนอรายละเอียดการพัฒนาพื้นที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยและบำบัดน้ำเสียเป็นอุทยานการเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมในการพัฒนาโครงการของเทศบาลนครภูเก็ต โดยมี คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาฯ พนักงาน และเจ้าหน้าที่เทศบาลนครภูเก็ต ตลอดจนส่วนราชการ และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เข้าร่วม

น.ส.สมใจ กล่าวว่า ตามที่เทศบาลนครภูเก็ต ได้จัดการประชุมการมีส่วนร่วมแนวทางการพัฒนาพื้นที่เป็นอุทยานการเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เมื่อกลางเดือนมกราคม 2557 ที่ผ่านมา และทางบริษัทที่ปรึกษาฯ ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาพื้นที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยและบำบัดน้ำเสียเป็นอุทยานการเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยใช้กรอบแนวคิดการมุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ มียุทธศาสตร์ของการเป็นเมืองแห่งต้นไม้ เมืองไร้มลพิษ เมืองพิชิตพลังงาน และเมืองที่มีการบริโภคอย่างยั่งยืน เป็นแนวคิดในการออกแบบพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว โดยจะเป็นการปรับปรุงอาคารที่มีอยู่เดิม อาคารสาธิตพลังงานทดแทนประเภทต่างๆ แบบจำลองโมเดล และวิดีทัศน์สื่อการสอน พร้อมแสดงนิทรรศการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ข้อมูล กระบวนการทำงานของเตาเผาขยะ การผลิตไฟฟ้าจากขยะ และระบบบำบัดน้ำเสีย และรับฟังความคิดเห็น
 
ข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมในการพัฒนาโครงการของเทศบาลนครภูเก็ต การออกแบบต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานทดแทนคงไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมเดิม เช่น ระบบนิเวศป่าชายเลน พื้นที่สีเขียว ชายทะเล วิถีชีวิต นำสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่มาปรับปรุง และใช้งาน เพื่อลดการก่อสร้างเพิ่มเติม การออกแบบต้องสอดคล้องกับลักษณะ และเอกลักษณ์ของพื้นที่ และการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งนี้ จะมีการคัดเลือกโครงการฯ จากแผนงานโครงการเพื่อนำไปดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการฯ สำหรับก่อสร้าง โดยใช้ค่าก่อสร้าง ปรับปรุง และพัฒนาทุกโครงการรวมกันไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท

น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การทำให้นครภูเก็ต เป็นเมืองอยู่ดี คนมีสุข โดยใช้ยุทธศาสตร์การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำนั้น ลำพังแค่การปรับเปลี่ยนจิตสำนึกของผู้คนย่อมไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้เป้าหมายดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จได้ จำเป็นจะต้องมีแบบอย่างในการเรียนรู้ที่ดี สร้างแรงจูงใจให้เกิดการเรียนรู้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงาน รวมทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถพัฒนาศักยภาพ และบูรณาการเข้ากับการพัฒนาเมืองได้อย่างยั่งยืน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น