ตรัง - กศน.นาโยง สนับสนุนเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังริมคลอง ซึ่งมีน้ำไหลมาจากเทือกเขาบรรทัด จนสำเร็จอย่างยั่งยืนเป็นแห่งแรกของตรัง ได้ปลามีน้ำหนักตัวดี และไม่คาว จึงเป็นที่ต้องการของตลาด
วันนี้ (11 ก.พ.) นางนภา จิโรภาส ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง กล่าวว่า ตามที่สำนักงาน กศน. มีนโยบายจัดศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน และแก้ปัญหาความยากจน ทาง กศน.อำเภอนาโยง จึงได้ดำเนินการจัดทำเวทีชาวบ้านในพื้นที่ตำบลนาโยงเหนือ เพื่อสอบถามความต้องการที่จะประกอบอาชีพ นอกเหนือจากการทำสวนยางพารา หรืออื่นๆ ที่ทำมาอยู่แล้ว
หลังจากนั้น จึงได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเกษตร สำนักงานประมง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มาสนับสนุน และให้ความรู้ในการเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชัง ซึ่งเป็นอาชีพที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความสนใจ และเคยดำเนินการมาแล้ว โดยเฉพาะในชุมชนบ้านตีนนา หมู่ที่ 6 ตำบลนาโยงเหนือ ซึ่งเดิมได้รับการส่งเสริมให้เลี้ยงปลาน้ำจืดในบ่อพลาสติกมานานหลายปี แต่กลับประสบปัญหาปลาไม่โต และมีกลิ่นเหม็นคาว จึงขายไม่ได้ราคา และไม่เป็นที่ต้องการของตลาด
นางณัฐยมน พุฒนวล ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ตำบลนาโยงเหนือ กล่าวว่า ตนเองและชาวบ้านมีความภาคภูมิใจที่สามารถเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังเป็นผลสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นปลาดุก ปลานิล ปลาหมอ ปลาทับทิม ปลาจะละเม็ด และปลาแรด จนสามารถสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว และผู้คนในชุมชนก็ได้บริโภคปลาที่มีคุณภาพ หลังจากได้ร่วมกับชาวบ้านประมาณ 30 คน ที่อาศัยอยู่ริมคลองใน ซึ่งไหลจากเทือกเขาบรรทัด รอยต่อระหว่างจังหวัดตรัง กับจังหวัดพัทลุง ผ่านอำเภอนาโยง ลงสู่อำเภอเมืองตรัง เพื่อสร้างกระชัง ขนาด 2x3 และ 2x4 เมตร จำนวน 10 กระชัง แล้วปล่อยปลาลงไปกระชังละ 400-500 ตัว เมื่อผ่านไป 3 เดือน
ปรากฏว่า ปลาน้ำจืดที่เลี้ยงในกระชังริมคลองกินอาหารได้ดี มีน้ำหนักตัวมาก และไม่มีกลิ่นคาว ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด และจำหน่ายได้ราคาสูง เนื่องจากคลองที่ไหลผ่านในพื้นที่มีน้ำระบายออกอย่างต่อเนื่อง ส่วนในหน้าฝนก็มีน้ำไม่สูงมากจนเกินระดับคัน ขณะที่ในหน้าแล้งน้ำก็ไม่แห้ง จึงสามารถเลี้ยงปลาได้ตลอดทั้งปี
ทั้งนี้ เนื่องจากปลาน้ำจืดที่กลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ตำบลนาโยงเหนือ ผลิตขึ้นมาทุกรุ่นในช่วงที่ผ่านมา สามารถจำหน่ายได้ดีจนเลี้ยงไม่ทัน ทั้งๆ ที่มีราคาแพงกว่าในท้องตลาดทั่วไป อันเนื่องมาจากการที่ปลามีคุณภาพสูง เช่น ปลาดุก ขนาด 3-4 ตัว/กก. มีราคา กก.ละ 80 บาท หรือปลานิล และปลาทับทิม ขนาด 2-3 ตัว/กก. มีราคา กก.ละ 100 บาท ทางกลุ่มจึงได้ขยายกระชังเพิ่มเป็น 54 กระชัง และมีสมาชิกเพิ่มเป็น 40 คนแล้ว
อีกทั้งยังทำให้ชาวบ้านในตำบลใกล้เคียงที่อยู่ติดกับริมคลองให้ความสนใจทดลองเลี้ยง รวมทั้งมีหน่วยงาน องค์กร และกลุ่มต่างๆ มาศึกษาดูงาน ตลอดจนให้การสนับสนุนกันมากขึ้น เช่น สำนักงานประมง ช่วยในเรื่องพันธุ์ปลา หรือศูนย์สามวัย อบต.นาโยงเหนือ ช่วยในเรื่องอาหารปลา ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตปลาน้ำจืดลดต่ำลงมาก และมีผลตอบแทนสูง จนถือเป็นกลุ่มเลี้ยงปลาในกระชังที่ประสบความผลสำเร็จอย่างยั่งยืนเป็นแห่งแรก ทั้งในระดับอำเภอนาโยง และในระดับจังหวัดตรัง